รถไฟฟ้าสายสีเทา หรือรถไฟ้ฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา รถไฟฟ้าสายใหม่ที่ล่าสุดกำลังจะเริ่มโครงการนำร่องในช่วงแรก ลองมาทำความรู้จักรถไฟฟ้าสายสีเทาว่ามีกี่สถานี ระยะทางเท่าไหร่ ผ่านทำเลไหนบ้าง และจะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างไร
รายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีเทา
รถไฟฟ้าสายสีเทา เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือรถไฟฟ้าโมโนเรลเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ขนาดคานรองรับทางวิ่ง 0.80 เมตร ใช้ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control: ATC) และมีระบบการเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection System)
ความเร็วเฉลี่ยในการเดินรถ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ จะใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 62 นาที คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8,000-30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา
รถไฟฟ้าสายสีเทามีเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 3 ระยะ รวมระยะทาง 40 กิโลเมตร ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เส้นทางระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ
แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณทางเชื่อมระหว่างถนนรามอินทรากับถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามแนวเขตทางของถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก โดยวางโครงสร้างบนพื้นที่ด้านข้างทางเท้าและทางจักรยาน ผ่านถนนอยู่เย็น ถนนสุคนธสวัสดิ์ ข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สถานีคลองลำเจียก โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) อยู่ที่บริเวณสถานีคลองลำเจียก
แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ผ่านถนนสังคมสงเคราะห์ ข้ามถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีฉลองรัช ผ่านแยกประชาธรรม จุดตัดถนนประชาอุทิศ ลอดใต้ทางพิเศษศรีรัช ที่แยกพระราม 9-ประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีพระราม 9
จากนั้นแนวเส้นทางข้ามจะยกข้ามรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน และเลี้ยวที่แยกเอกมัยเหนือมาทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวเกาะกลางของถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และเลี้ยวลงมาทางทิศใต้เข้าสู่ถนนทองหล่อ จนกระทั่งมาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 55 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว สถานี BTS ทองหล่อ รวมระยะทางทั้งสิ้น 16.25 กิโลเมตร จำนวนสถานีทั้งหมด 15 สถานี
รายชื่อสถานีเบื้องต้น
- สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีวัชรพล
- สถานีนวลจันทร์
- สถานีเกษตรนวมินทร์
- สถานีคลองลำเจียง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สถานีต่างระดับฉลองรัช
- สถานีโยธินพัฒนา
- สถานีลาดพร้าว 87
- สถานีสังคมสงเคราะห์
- สถานีฉลองรัช เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีลาดพร้าว 71
- สถานีศรีวรา
- สถานีประชาอุทิศ
- สถานีพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีวัดพระราม 9
- สถานีเพชรบุรี-ทองหล่อ
- สถานีแจ่มจันทร์
- สถานีทองหล่อ 10
- สถานีทองหล่อ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานี BTS ทองหล่อ
สรุปสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา
สถานี
|
เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า
|
วัชรพล
|
สายสีชมพู สถานีวัชรพล
|
คลองลำเจียก
|
สายสีน้ำตาล สถานีต่างระดับฉลองรัช
|
ฉลองรัช
|
สายสีเหลือง สถานีลาดพร้าว 71
|
พระราม 9
|
สายสีส้ม สถานีวัดพระราม 9
|
ทองหล่อ
|
BTS สายสีเขียว สถานีทองหล่อ
|

2. เส้นทางระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3
จากการศึกษาเบื้องต้น เส้นทางระยะที่ 2 จะเริ่มต้นจากสถานีพระโขนง มุ่งหน้าสู่ถนนพระราม 4 ผ่านตลาดคลองเตย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาทร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานี MRT ลุมพินี จากนั้นวิ่งสู่แยกสาทร-นราธิวาสราชนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานี BTS ช่องนนทรี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มุ่งหน้าสู่ถนนพระราม 3 ไปสิ้นสุดที่สถานีพระราม 3
3. เส้นทางระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ
จากการศึกษาเบื้องต้น เส้นทางระยะที่ 3 จะเริ่มต้นที่สถานีพระราม 3 วิ่งตามแนวเส้นทางถนนพระราม 3 ผ่านสะพานพระราม 9 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 3 ผ่านนแยกมไหศวรรย์ เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานี BTS ตลาดพลู ไปสิ้นสุดที่แยกท่าพระ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานี MRT ท่าพระ
ความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายสีเทา
ความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา หรือรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเทา ล่าสุด ได้ข้อสรุปการดำเนินโครงการในช่วงแรกแล้ว โดยจะใช้ช่วงสถานี วัชรพล-ทองหล่อ เป็นเส้นทางนำร่องในช่วงแรก วงเงินการก่อสร้าง 27,500 ล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาจะเป็นการดำเนินงานตามแผนพัฒนาโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ (PPP) สอดคล้องตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะร่วมกันทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับภาครัฐได้อย่างยั่งยืนและครอบคลุมในระยะยาว
โดยจะดำเนินการจัดกิจกรรมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) และการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Interview) ในช่วงประมาณเดือนมกราคม 2565 และจะจัดสัมมนาสรุปผลโครงการ ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อนำเสนอรายละเอียดผลการศึกษาข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง คาดว่าทั้งหมด 3 ระยะนี้จะเปิดให้บริการได้ในปี 2573
โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.greyline-ppp.com
รถไฟฟ้าสายสีเทาจะเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเส้นทางคมนาคมให้สอดคล้องกับโครงการขนส่งสาธารณะในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกันนอกจากจะส่งผลต่อการพัฒนาเมือง และพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางสถานี
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า