พื้นฐานที่ทุกคนทราบดีเมื่อจะกู้ซื้อบ้านคือ แบงก์จะตรวจสอบประวัติการกู้ยืมเงินของผู้ขอกู้สินเชื่อกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เครดิตบูโร”
โดยข้อสำคัญที่สุดในการตรวจสอบเครดิตบูโรของบุคคลหนึ่ง เพื่อจะรู้ว่าคนๆ นั้นติดหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงินใดๆ เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนอยู่หรือไม่ และถ้าหากมีการค้างหนี้นานกว่า 3 เดือน คนๆ นั้นจะถูกเรียกว่า “ติดแบล็กลิสต์” ส่งผลให้ธนาคารมีแนวโน้มสูงมากที่จะไม่อนุมัติเงินกู้บ้าน
เครดิตบูโร เป็นสถาบันจัดตั้งตามกฎหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและการชำระหนี้ของคนไทยที่มีอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ โดยจะรวบรวมเก็บไว้เป็นเวลา 3 ปีย้อนหลัง ดังนั้นถ้าหากเคยติดแบล็กลิสต์แล้วละก็ ประวัตินั้นจะคงอยู่ต่อไปอีกนาน 3 ปี
นอกจากจะตรวจสอบแบล็กลิสต์ได้แล้ว ข้อมูลในเครดิตบูโรยังแสดงประวัติการชำระหนี้ทั้งหมดด้วย การแสดงผลจะเห็นทุกรายการกู้ยืมเงินที่เคยมีมาในช่วง 3 ปี และระบุสถานการณ์ชำระหนี้ครบทุกเดือน เช่น ชำระหนี้ตรงเวลา, ล่าช้าไม่เกิน 1 เดือน, ล่าช้า 1-2 เดือน, ล่าช้า 2-3 เดือน
ซึ่งการล่าช้าที่ไม่เกิน 3 เดือนนี้ทำให้ไม่ถึงกับติดแบล็กลิสต์ แต่ถ้าหากว่ามีในบันทึกประวัติบ่อยๆ ก็จะทำให้คะแนนด้านพฤติกรรมลูกหนี้ลดลง มีผลต่อการพิจารณาไม่ผ่านการอนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าประวัติเครดิตบูโรของเราสวยงาม ชำระหนี้ตรงเวลามาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นคะแนนบวกทำให้แบงก์ต้องการปล่อยกู้ให้เรามากขึ้น
วิธีการคิดคะแนนพฤติกรรมการชำระหนี้กู้ยืมเงินของแต่ละธนาคารจะพิจารณาต่างกัน ซึ่งสะท้อนออกมาเป็น “ความเข้มงวดการให้สินเชื่อ” บางแบงก์อาจจะรับได้ถ้าผู้ยื่นขอกู้สินเชื่อชำระหนี้ล่าช้าไม่เกิน 1 เดือนบ่อยครั้ง แต่บางแบงก์ก็อาจจะตัดสินใจไม่อนุมัติเงินกู้ได้
ไม่เคยใช้บัตรเครดิต ทำให้กู้ยากจริงรึป่าว?
ส่วนกรณีที่เป็นผู้ยื่นกู้แบบใหม่สดซิงๆ คือไม่เคยมีประวัติกู้ยืมเงินที่ไหนเลย แม้แต่บัตรเครดิตก็ไม่มี ก็จะไม่ปรากฏข้อมูลใดที่เครดิตบูโร ทำให้ไม่มีทั้งคะแนนบวกและลบ แต่ไม่ได้มีปัญหาต่อการยื่นกู้สินเชื่อบ้านแต่อย่างใด
ประวัติกู้ยืมเงินและชำระหนี้ใดบ้างที่ถูกบันทึกไว้?
สิ่งที่ถูกบันทึกในประวัติเครดิตบูโรที่ทำให้ธนาคารนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้นั้น จะเป็นข้อมูลการกู้ยืมเงินจาก “สถาบันการเงิน” ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน นิติบุคคลที่ให้บริการบัตรเครดิต นิติบุคคลที่ให้บริการสินเชื่อ เป็นต้น นั่นหมายถึงถ้าเรามีประวัติการกู้ยืมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ฯลฯ ก็จะถูกบันทึกข้อมูลไว้กับเครดิตบูโร
เห็นได้ว่าสิ่งที่บันทึกเป็น “การกู้ยืมเงิน” ทั้งสิ้น ดังนั้นประวัติการชำระค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ไม่ใช่การกู้ยืม (และเรามักจะลืมไปจ่ายให้ตรงเวลากันบ่อยๆ) เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ก็จะไม่อยู่ในประวัติเหล่านี้ ธนาคารจึงไม่มีข้อมูลในการนำมาคิดคะแนน
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ให้กู้ยืมเงินแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโรทำให้ไม่ได้ส่งประวัติไปแสดง และข้อมูลไม่ถึงมือธนาคาร คือ สหกรณ์ต่างๆ (ยกเว้นสหกรณ์ขนาดใหญ่บางแห่งเป็นสมาชิกแล้ว) และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ประวัติการกู้ยืมเงินจะไม่กระทบต่อการพิจารณาให้สินเชื่อบ้าน
อย่างไรก็ตาม เครดิตบูโรกำลังพยายามนำหน่วยงานทั้ง 2 ประเภท เข้าระบบข้อมูลเพื่อการประมวลผลที่ดียิ่งขึ้น และทำให้คนไทยมีวินัยทางการเงินมากขึ้น จึงต้องคอยติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อระมัดระวังเครดิตของตนเองที่จะปรากฏต่อธนาคาร
ส่วนใครที่ต้องการตรวจสอบประวัติข้อมูลเครดิตของตัวเองก็สามารถทำได้เช่นกัน หากไม่มั่นใจว่าตนเองมีประวัติติดเครดิตบูโรหรือป่าวก็สามารถทำการตรวจสอบได้ โดยเครดิตบูโรมีศูนย์ขอรับข้อมูล 4 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่, สถานีบีทีเอส ศาลาแดง, อาคารกลาสเฮาส์ สุขุมวิท 25 และห้างเจเวนิว นวนคร ปทุมธานี ส่วนท่านที่ไม่สะดวกเดินทางสามารถขอรับข้อมูลทางไปรษณีย์ โดยติดต่อผ่านธนาคารพาณิชย์ที่รับบริการ ที่ทำการไปรษณีย์ และระบบตู้ ATM, mobile banking, internet banking ของบางธนาคารได้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ncb.co.th
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้านคอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ