ลืมไปหรือยัง ซื้ออสังหาก็ลดหย่อนภาษีได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

กิตติคม พจนี
ลืมไปหรือยัง ซื้ออสังหาก็ลดหย่อนภาษีได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ยังจำกันได้ไหม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ทางกระทรวงการคลังได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ที่ระบุรายละเอียดของการลดหย่อนภาษีตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ สำหรับผู้ที่ซื้อบ้าน-คอนโดฯ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทระหว่างวันที่ 13 ต.ค.58-31 ธ.ค. 59 และสามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 5 ปีภาษี โดยทาง DDproperty จะแบ่งรายละเอียดออกเป็นหัวข้อย่อยเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ดังนี้
  • เงินได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง
  • อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จ ในระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
  • ผู้ซื้อมีสิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยหักลดหย่อนตั้งแต่ปีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และให้หักลดหย่อนต่อเนื่องกัน 5 ปี ๆ ละเท่า ๆ กัน

ผู้ที่จะมีสิทธิในการลดหย่อนภาษีจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้

1. ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีชื่อเป็นคู่สัญญากับสถาบันการเงินที่ให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย หรือกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย
2. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน และต้องไม่เคยเป็น
  • ผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย (ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท)
  • ผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยเดิมและซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ (ได้รับยกเว้นเท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่)
  • ผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย (ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 300,000 บาท)
  • ผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด (มาตรการบ้านหลังแรกที่ยกเว้นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท ใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี ให้เป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี)
จากเงื่อนไขที่กล่าวมา หากซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท สิ่งที่ผู้ใช้สิทธิจะได้รับหลัก ๆ ในบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ข้อ ง่าย ๆ ก็คือ
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากการซื้อบ้าน มาใช้เป็นค่าลดหย่อนสูงสุดเป็นจำนวน 100,000 บาท
  • นำมูลค่า 20% ของราคาบ้าน ที่เพดานสูงสุด 600,000 บาท มาใช้สิทธิยกเว้นภาษี เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะเท่ากับว่าสามารถลดหย่อนได้ปีละ 120,000 บาท

ตัวอย่างการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท

นายดีดี ทำการโอนกรรมสิทธิ์บ้านหลังแรกของตัวเองในช่วงเวลาที่มาตรการกำหนด ภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2558-31 ธันวาคม 2559 โดยบ้านของนาย ดีดี มีมูลค่า 3 ล้านบาท นาย ดีดี จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี
โดยการนำ 20% ของมูลค่าบ้าน = 3,000,000 x 20% = 600,000 บาท มาใช้ในการยกเว้นภาษี จำนวนเงินที่ออกมาตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าลดหย่อนปีละ 600,000 แต่นำภาษี 20% ตรงนี้มาลดหย่อนเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปีก็เท่ากับลดหย่อนได้ปีละ 120,000 บาทนั่นเอง นอกจากนั้น นายดีดียังสามารถลดหย่อนดอกเบี้ยการกู้ยืมในการซื้อบ้านหลังแรกสูงสุดอีก 100,000 บาท
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ