โครงสร้างบ้าน ถือเป็นส่วนที่ผู้ซื้อบ้านหรือสร้างบ้านควรให้ความสำคัญ เพราะการซื้อหรือสร้างบ้านสักหลัง นอกจากความสวยงามที่ปรากฏต่อสายตาแล้ว โครงสร้างบ้านต้องมีความแข็งแรง และปลอดภัย ลองมาดูคำแนะนำจากกูรูในการตรวจบ้านที่จะมาแชร์ความรู้ในการตรวจสอบโครงสร้างบ้านง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพียง 4 ขั้นตอน เพื่อป้องกันปัญหาบ้านทรุดที่อาจเกิดขึ้นได้

ขั้นตอนที่ 1 หลักฐานการทดสอบเสาเข็ม
หากทางโครงการได้มีการทดสอบเสาเข็มตามมาตรฐานวิศวกรรมแล้วจะต้องมีเอกสารรับรอง โดยระบุวันและเวลาที่ทดสอบอย่างชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แนวราบ (บ้านเดี่ยว/บ้านแฝด/ทาวน์เฮ้าส์) จะทดสอบอยู่ 2 ประการ
1. Blow Count เป็นวิธีการประเมินกำลังการรับน้ำหนักของเสาเข็ม
2. Seismic Test หรือการทดสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มซึ่งการทดสอบดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นเข็มประเภทใดจะต้องทำการตรวจสอบทุกต้น 100%
ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบ
ขั้นตอนแรกที่ผู้อยู่อาศัยเข้าเยี่ยมชมบ้านที่ซื้อไว้ครั้งแรกจะอยู่ในช่วงโครงการนัดหมายเพื่อเข้าตรวจรับบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปให้สังเกตุประเภทรอยร้าวการทรุดตัวของโครงสร้างบ้าน โดยทั่วไปประเภทรอยร้าวที่อันตรายจะมีอยู่ดังนี้
1. รอยร้าวที่คาน

2. รอยร้าวผนัง (ที่เกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกำลัง)

3. รอยร้าวที่พื้น

4. รอยร้าวในเสา (ที่เกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกำลัง)

5. รอยร้าวเนื่องจากฐานรากทรุดตัว
โดยสังเกตุรอยร้าวลักษณะนี้ได้จากรอยร้าวด้านบนจะกว้างกว่าด้านล่าง หรือเกิดรอยร้าวลักษณะเฉียง 45 องศา หากพบรอยร้าวลักษณะดังกล่าวควรสันนิษฐานได้ว่าเกิดการทรุดตัวของฐานรากหรือเสา
ขั้นตอนที่ 3 สังเกตการณ์พฤติกรรมโครงสร้างบ้าน
ให้สังเกตพฤติกรรมโครงสร้างบ้านจากรอยร้าวที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีรอยร้าวขนาดร่องความกว้างมากกว่า 1 มิลลิเมตรขึ้นไป (หรือเทียบแล้วคือเอาหัวปากกาจิ้มลงไปได้) ให้ทำการสังเกตพฤติกรรมของรอยร้าวว่ามีการขยายตัวมากน้อยเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไปจะมีหลักการง่าย ๆ คือ นำเทปมาติดรอยร้าว (หรือดินสอขีดไว้) และสังเกตพฤติกรรมในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป (ตามภาพด้านล่าง)

ขั้นตอนที่ 4 (ขั้นตอนเพิ่มเติม) กรณีต่อเติมบ้าน
หลายคนทำการต่อเติมบ้านเนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติมจากบริเวณรอบบ้าน ส่วนมากจะการต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน ซึ่งเสาเข็มที่ใช้นั้นจะมีขนาดไม่เท่ากับตัวบ้าน นั่นหมายความว่าอัตราการทรุดตัวจะไม่เท่ากัน ดังนั้นห้ามมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใตของพื้นที่ต่อเติมเชื่อมกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน มิเช่นนั้นจะทำให้ดึงบ้านทรุดตัวตามไปด้วย

หมายเหตุ: หากเกิดกรณีโครงสร้างบ้านทรุดเกิดขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายกรณีนี้หรือไม่ ให้ผู้อยู่อาศัยทำการติดต่อไปยังหน่วยงานกลางอย่างสภาวิศวกรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ
บทความนี้เขียนโดย คุณฤทธิชัย บรรลือลาภ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Checkhome บริการตรวจรับบ้าน-คอนโดก่อนโอน หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ homescan4u@hotmail.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า