ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน ซื้อคอนโดไม่ยอมสร้าง ผ่อนดาวน์จนหมดแล้วโครงการล่าช้าไม่สามารถเข้าอยู่สักที การก่อสร้างผิดแบบ วัสดุผิดสเปค พอเข้าอยู่ไม่ทันไรบ้านทรุด บ้านร้าว ส่วนกลางเสื่อมโทรมอันตราย และยังมีปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ผู้ซื้อมองหาความรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการ หรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทวงถามไปยังโครงการแล้วไม่มีความคืบหน้า มักจะจบลงที่การประกาศเรื่องราวลงทางอินเตอร์เนต ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วผู้บริโภคสามารถฟ้องโครงการในฐานะผู้บริโภคหรือผู้เสียหาย ไม่ใช่เรื่องยากและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค
คดีผู้บริโภคคืออะไร และมีจุดประสงค์อย่างไร
คดีผู้บริโภคก็คือคดีแพ่งประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคหรือผู้ที่มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคสินค้าหรือบริการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้าหรือบริการ เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้ประกอบการและป้องกันการถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการจากการขาดความรู้ความเข้าใจในสินค้า บริการและเทคโนโลยีต่าง ๆ และในอีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและการให้บริการที่ดี จึงมีการออกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ปี พ.ศ. 2551 ขึ้น
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นคดีผู้บริโภค
ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 จำแนกประเภทคดีผู้บริโภคออกเป็น 21 ประเภท และมี 4 ประเภทคดีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
1. คดีผู้บริโภคเกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้าน อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ที่ดินเปล่า
2. คดีผู้บริโภคเกี่ยวกับการเช่าทรัพย์ ได้แก่ บ้าน อาคารชุด หอพัก สำนักงาน
3. คดีผู้บริโภคเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลอาคารชุด
4. คดีผู้บริโภคเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
ผู้มีสิทธิฟ้องร้องคดีผู้บริโภคคือใคร
1. ผู้บริโภค คือผู้ซื้อหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมไปถึงผู้เช่าซื้อหรือได้มาโดยเสียค่าตอบแทน และมีความหมายรวมไปถึงผู้เสียหาย ผู้ใช้สินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ใช่ผู้เสียค่าตอบแทน
2. ผู้ประกอบธุรกิจ คือผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้า ผู้ซื้อเพื่อขายต่อสินค้า ผู้ให้บริการ และผู้ประกอบกิจการโฆษณา
3. ผู้มีอำนาจฟ้องร้องแทนผู้บริโภค ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคฯ
ฟ้องร้องคดีผู้บริโภคได้อย่างไร
ผู้ฟ้องหรือโจทย์สามารถยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคได้โดยการทำเป็นหนังสือ หรือจะยื่นฟ้องโดยวาจาด้วยตนเองก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีทนาย สำหรับการฟ้องโดยวาจานั้นจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้องแล้วให้โจทย์ลงลายมือชื่อรับรอง พร้อมกันนี้ให้โจทย์เสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง เช่น หนังสือรับรองบริษัท เอกสารเกี่ยวกับสัญญา ใบเสร็จ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การฟ้องคดีผู้บริโภคต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ในการยื่นฟ้องนั้นเอกสารที่โจทย์ต้องเตรียมมาให้เจ้าพนักงานงานคดี นอกจากคำฟ้องและหลักฐานแล้วคือ เอกสารประกอบคำฟ้อง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล (หากมีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล)
การฟ้องร้องคดีผู้บริโภคมีค่าธรรมเนียมเท่าไร
ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจแทนผู้บริโภคที่เป็นโจทย์ฟ้องผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้น ยกเว้นการนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร หรือการเรียกค่าเสียหายมากเกินควร หรือมีพฤติการณ์ที่ศาลเห็นควรเรียกเก็บค่าฤชาธรรมเนียมทั้งที่เป็นการเรียกเก็บทั้งหมด หรือเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
ฟ้องร้องคดีผู้บริโภคได้ที่ไหน
ผู้บริโภคหรือผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องต่อแผนกคดีผู้บริโภค ณ ศาลที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือศาลอื่น ๆ นอกเขตก็ได้ หากความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง และหากความเสียหายเกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด หรือศาลแพ่งในกรุงเทพฯ
การฟ้องร้องคดีผู้บริโภคมีอายุความนานแค่ไหน
สำหรับคดีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 3 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่รับรู้ความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่กรณีที่เป็นค่าเสียหายทั่วไปเนื่องมาจากสินค้าไม่ปลอดภัยจะต้องดำเนินการภายใน 3 ปีตั้งแต่ที่รับรู้ความเสียหาย หรือภายใน 10 ปีตั้งแต่วันที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
การพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นอย่างไร
คดีผู้บริโภคนั้นมีการดำเนินการที่ค่อนข้างเร็วและกระชับ หลังจากที่ศาลรับคำฟ้องแล้วก็จะนัดวันพิจารณาคดี ออกหมายเรียกให้จำเลยมาให้การต่อศาล เพื่อสืบพยานและไกล่เกลี่ยในวันเดียวกัน โดยมีระบบการพิจารณาคดีที่อำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ฟ้องโดยให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา
นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินคดีจะมีการให้ความคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา และหากต้องการยื่นอุทธรณ์ก็สามารถทำได้ภายใน 1 เดือนนับแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และหากมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 200,000 บาทก็สามารถยื่นฎีกาต่อไปได้
เมื่อฟ้องร้องคดีผู้บริโภคแล้วศาลสามารถบังคับให้ผู้ประกอบการดำเนินอย่างไรได้บ้าง
สำหรับประเด็นข้อพิพาทด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น ศาลแผนกคดีผู้บริโภคสามารถสั่งให้ผู้ประกอบการ เปลี่ยนสินค้าใหม่ แทนการซ่อมแซมแก้ไข การเรียกคืนสินค้าจากผู้ซื้อ รวมไปถึงการหยุดขายสินค้า รวมไปถึงการจ่ายค่าเสียหายเพิ่มมากกว่าที่ผู้บริโภคเรียกร้องไป ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ทำตามคำสั่งศาลอาจต้องโทษจับกุมและกักขังได้
จากเนื้อหาที่เรานำมาเสนอในครั้งนี้จะเห็นถึงความพยายามของหน่วยงานยุติธรรมที่พยายามเสริมสร้างอำนาจต่อรองให้แก่ผู้บริโภค ป้องกันการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพต่อไป
รายการอ้างอิง:
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
คู่มือฟ้องคดีผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ Online Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ