นับตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเข้านอนในเวลากลางคืน เราใช้น้ำเฉลี่ยคนละ 200 ลิตรต่อวัน ไล่เรียงตั้งแต่การดื่มน้ำแก้กระหาย การนำมาประกอบอาหาร การใช้น้ำชำระล้างร่างกายหรือทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ
ดังนั้น ถังเก็บน้ำจึงกลายเป็นของสำคัญประจำบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ระบบจ่ายน้ำหรือประปาขัดข้อง เราจำเป็นต้องมีถังเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำให้เพียงพอในกรณีฉุกเฉิน ลองมาดูหลักในการเลือกถังเก็บน้ำให้เหมาะกับบ้าน ดังนี้
ถังเก็บน้ำใต้ดินกับบนดินแบบไหนเหมาะกับคุณ
ทางเลือกในการติดตั้งถังเก็บน้ำเริ่มจากการตัดสินใจระหว่างถังเก็บน้ำใต้ดิน และถังเก็บน้ำบนดิน ซึ่งบ้านที่มีพื้นที่จำกัดหรือต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยมักเลือกถังเก็บน้ำใต้ดินที่สามารถประหยัดพื้นที่ และทำให้บ้านดูสวยงามกว่า
อย่างไรก็ตาม ถังเก็บน้ำใต้ดินมีขั้นตอนการติดตั้งยุ่งยาก เนื่องจากต้องฝังฐานรากเพื่อลงเข็มให้แข็งแรง เช่นเดียวกับการบำรุงรักษาและค่าซ่อมแซมที่เสียค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงสังเกตความผิดปกติได้ยาก
ขณะที่ถังเก็บน้ำบนดินสามารถดูแลรักษาง่าย เพราะมองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน โดยสามารถซ่อมแซมและทำความสะอาดได้ง่าย แต่ต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง การจัดวางไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเหมือนถังเก็บน้ำใต้ดิน
ถังเก็บน้ำความจุเท่าไหร่ดี
การเลือกซื้อถังเก็บน้ำควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยอิงจากปริมาณการใช้น้ำของสมาชิกในบ้าน ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 200ลิตรต่อวันต่อคน นำไปคูณกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว และจำนวนวันที่ต้องการสำรองน้ำให้เพียงพอก็จะได้ปริมาณการใช้น้ำของแต่ละครอบครัว เช่น
ครอบครัวของเรามีจำนวนสมาชิก 4 คน จึงต้องซื้อถังเก็บน้ำที่มีปริมาณความจุคิดเป็น
200 x 4 = 800 ลิตร
หากต้องการสำรองน้ำประมาณ 2 วัน ควรซื้อถังเก็บน้ำ
800 x 2 = 1,600 ลิตร
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำของแต่ละคนไม่เท่ากันตามกิจกรรมที่แตกต่างกัน โดยอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 200 ลิตรต่อวันได้ การเลือกขนาดความจุของถังเก็บน้ำตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว สามารถเริ่มต้นสำรองให้เพียงพอใช้ได้ใน 1 วัน ดังนี้
1. จำนวนผู้ใช้น้ำ 4 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 800 ลิตร
2. จำนวนผู้ใช้น้ำ 5 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,000 ลิตร
3. จำนวนผู้ใช้น้ำ 6 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,200 ลิตร
4. จำนวนผู้ใช้น้ำ 7-8 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,600 ลิตร
5. จำนวนผู้ใช้น้ำ 9-10 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 2,000 ลิตร
ถังเก็บน้ำที่ดีต้องมีความคงทนแข็งแรง
คุณสมบัติที่สำคัญของถังเก็บน้ำที่จำเป็นต้องพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ คือ ความแข็งแรงของตัวถัง เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยควรตรวจสอบน้ำหนักถังเปล่าให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น ถังเก็บน้ำขนาด 1,000 ลิตร ควรมีน้ำหนักถังก่อนใส่น้ำประมาณ 30 กิโลกรัม รวมถึงตรวจสอบความคงทนหลังจากบรรจุน้ำในถังต้องไม่เสียรูปทรง
นอกจากนั้น ในปัจจุบันถังเก็บน้ำมักมีการรับประกันอายุการใช้งานของสินค้าทั้งตัวถังและฝาถัง ซึ่งเราควรให้ความสำคัญกับระยะเวลาการรับประกันและสิ่งที่รับประกัน เช่น การแตกกรอบ บวม และการซีดของถังเก็บน้ำ โดยสามารถเรียกร้องขอเปลี่ยนถังเก็บน้ำใหม่หรือซ่อมแซมภายในระยะเวลาประกันได้
ถังเก็บน้ำที่ดีต้องมีคุณภาพของน้ำที่ดี
นอกเหนือจากความคงทนแข็งแรง ยังต้องพิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบันถังเก็บน้ำได้พัฒนาคุณสมบัติที่แตกต่างหลากหลาย เช่น การผสมสาร Nano Silver ในถังเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และทำลายจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนกับน้ำ หรือการใช้ส่วนผสม UV Protection ป้องกันการเสื่อมสภาพจากการโดนแสงแดดช่วยยืดอายุถังเก็บน้ำที่อยู่กลางแจ้งได้
สำหรับหลักการเลือกถังเก็บน้ำเบื้องต้น ได้แก่
1. ควรเลือกถังเก็บน้ำที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ปราศจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ปรอทและโลหะหนัก
2. ควรเลือกถังเก็บน้ำที่ผลิตจากวัสดุไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หรือ Food Grade
3. ควรเลือกถังเก็บน้ำที่ใช้เทคโนโลยี Compounding หรือการใช้ความร้อน แรงดันบีบอัดสีให้เป็นเนื้อเดียวกันกับเม็ดพลาสติก ทำให้สีไม่หลุดร่อนปนเปื้อนกับน้ำ
4. ควรเลือกถังเก็บน้ำแบบทึบแสงที่สามารถป้องกันตะไคร่น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและโรคผิวหนัง
กลัวน้ำไม่สะอาดอยากได้เครื่องกรองน้ำลองมาดู 5 ข้อคิดก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องกรองน้ำได้ที่นี่
ท้ายที่สุด อย่าลืมทำความสะอาดถังเก็บน้ำทุก 6 เดือน และหมั่นตรวจสอบถังเก็บน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอุปกรณ์และรอยรั่วซึมต่าง ๆ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ