สร้างบ้านให้ดีไม่มีปัญหา ถึงเวลาต้องเลือกผู้รับเหมา

DDproperty Editorial Team
สร้างบ้านให้ดีไม่มีปัญหา ถึงเวลาต้องเลือกผู้รับเหมา
พอได้ยินคำว่า “ผู้รับเหมา” น่าแปลกใจที่สิ่งแรกที่นึกขึ้นได้ต่อจากคำนี้ก็คือการละทิ้งงาน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ค้างคาใจสำหรับผู้ที่คิดจะสร้างบ้านมาก เพราะการทิ้งงานมักจะมากับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการต้องติดต่อหาผู้รับเหมาใหม่ การเปลี่ยนแก้สเปคบ้านต่างๆ ที่ผู้รับเหมาทำค้างคาไว้(อันที่จริงคอนโดฯ ก็สามารถผิดสเปคได้ แก้ยังไงดี) การเลือกผู้รับเหมาที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์สร้างบ้านในฝันให้เรานั้นจึงมีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้นมีวิธีการเลือกผู้รับเหมาอย่างไร จะต้องพิจารณาอะไรบ้าง ให้บ้านในฝันของเราสำรวจลุล่วงไปในคราวเดียว
ก่อนจะเลือกผู้รับเหมา ต้องทำตัวให้เก๋ากว่าสถาปนิก
ความรู้ถือเป็นจุดสูงสุดของชีวิต ตายไปเอาไปไม่ได้แต่ก็ยังทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าให้ลูกหลานต่อไป ก่อนการเลือกผู้รับเหมาจึงต้องเรียนรู้วิธีการ ขั้นตอนการสร้างบ้านชนิดที่เรียกว่าเอาไปเถียงกับผู้รับเหมาได้ ทำความรู้จักกับวัสดุในการสร้างบ้าน ยิ่งถ้าสามารถแจ้งกับผู้รับเหมาเรื่องการซื้อวัสดุเองได้ยิ่งดี สิ่งนี้จะเป็นการป้องกันผู้รับเหมาโกง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย อันเป็นผลให้ผู้รับเหมาทิ้งงาน เมื่อทราบข้อมูลเชิงลึกตรงนี้แล้ว ไม่ใช่ว่ามองหาผู้รับเหมาที่สามารถสร้างบ้านได้อยู่ในงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเลือกผู้รับเหมาที่คิดว่าสามารถสร้างบ้านให้เราเสร็จในคราวเดียวได้ไว้ 2-3 รายเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน
วิธีการเลือกผู้รับเหมาที่ดี สร้างบ้านกี่ปีก็ไม่ทิ้งงาน
การเลือกผู้รับเหมาที่ดีนั้น ไม่แตกต่างจากการสัมภาษณ์งาน ผู้รับเหมาคือผู้มาสมัครงาน ส่วนเราคือคนสัมภาษณ์ สิ่งที่จะต้องรู้ในตัวผู้รับเหมาอันดับแรกก็คือ สถานที่ประกอบการ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งไหม สำนักงานตั้งอยู่ที่ใด จดทะเบียนถูกต้องสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ หากข้อมูลตรงนี้ผ่านก็เปิดหน้าสองไปดู พอร์ท หรือ ผลงานในอดีตที่ผ่านๆ มาต่อไปได้ โดยส่วนนี้เราจะสามารถตรวจสอบประวัติผู้รับเหมาได้จากลูกค้าเก่า
อย่าเขินอายที่จะติดต่อกับเจ้าของบ้านที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกันกับผู้รับเหมาที่เราจะเอามาสร้างบ้าน หากผู้รับเหมามีความมั่นใจในเนื้องานและไม่คิดที่จะโกงเรา เขาต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าเก่าเพื่อเป็นการการันตีผลงาน จุดนี้เราอาจจะทราบถึงราคาเบื้องต้นจนสามารถเอามาเปรียบเทียบราคากับสเปคบ้านของเราได้
ดูเงื่อนไขของผู้รับเหมา จะได้ไม่ต้องเหงากรณีผู้รับเหมาทิ้งงาน
หลังจากทราบประวัติของผู้รับเหมาแล้ว ทีนี้ก็มาถึงการดูระบบการทำงานของผู้รับเหมา คำถามแรกที่จะต้องถามผู้รับเหมาหลังจากการซักประวัติก็คือ ผู้รับเหมามีการรับงานซ้อนอยู่กี่งาน มีการจัดการอย่างไร ซึ่งหากเจอผู้รับเหมาที่มีประวัติที่ดี แต่ในช่วงนี้มีการรับเหมาสร้างบ้านเยอะมาก งานโครงสร้างบ้านของเราก็อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เนื้องานจะออกมาไม่ดีจากการรับงานหลายๆ โปรเจคก็เป็นได้ จากนั้นสิ่งที่เราจะต้องรู้คร่าวๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจ้างผู้รับเหมาต่อไปคือ
1) ผู้รับเหมามีพาร์ทเนอร์ที่ดี มีวิศกร สถาปนิค ปฏิงานร่วมกัน มีเจ้าที่สำหรับการจัดซื้อ มีทีมงานที่เน้นความถนัดในจุดต่างๆ ไม่ใช่ว่าให้ผู้รับเหมาเป็นคนจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ๆ
2) ผู้รับเหมาสามารถรับเหมาช่วงการก่อสร้างทั้งหมดได้หรือไม่ มีการติดต่อพาร์ทเนอร์อื่นๆ เข้ามารับช่วงต่อในเรื่องของ งานไม้ งานเหล็ก งานฉาบ งานแลนด์สเคปอื่นๆ หรือเปล่า เนื่องจากผู้รับเหมาแต่ละรายมีความถนัดแตกต่างกันจึงต้องมีพาร์ทเนอร์ผู้รับเหมาอื่นๆ มารับช่วงต่องานที่ถนัด ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบการเงินจากผู้รับเหมาหลักยากขึ้น เสมือนผู้รับเหมาหลักเป็นนายหน้า
3) ผู้รับเหมามีการรับประกันผลงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร อาทิ การประกันตัวโครงสร้าง ประกันวัสดุก่อสร้าง ระยะเวลาในการก่อสร้าง เป็นต้น หรือไม่ สิ่งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของบ้านว่าผู้รับเหมาจะไม่ทิ้งงาน หรือ เกิดเหตุอะไรขึ้นเราสามารถฟ้องร้องได้
พิจารณาสัญญาให้ดี ต้องมีการแบ่งจ่ายชำระเป็นงวดๆ
เมื่อเรามั่นใจแล้วว่าจะจองผู้รับเหมานั้นๆ ในการสร้างบ้านในฝันของเราให้สำเร็จลุล่วง ก็มาถึงขั้นตอนการทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่มีการกำหนดเงื่อนไขต่อผู้ว่าจ้าง และผู้รับเหมาอย่างชัดเจน โดยในสัญญาผู้ว่าจ้างอาจจะกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาออกเป็นงวดๆ ก็ได้ เพื่อป้องกันผู้รับเหมาทิ้งงาน จะได้ไม่ต้องเสียดายเงินก้อนที่เสียไป แถมยังมีเงินผ่อนชำระงวดหลังๆ ไปต่อยอดกับผู้รับเหมาอื่นให้มารับช่วงต่อได้

ในสัญญาอาจจะระบุเพิ่มเติมว่ามีการจ่ายเงินมัดจำเพียง 10% เท่านั้นในช่วงแรก เพื่อเป็นการดูเนื้องานและสร้างความมั่นใจว่าผู้รับเหมาจะไม่ไปไหนเนื่องจากยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งโอกาสจะทิ้งงานก็เป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงการทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ B.O.Q. (Bill of Quantities) ที่จะแจ้งราคาวัสดุต่างๆ ที่ชัดเจนให้กับเราตลอด เพื่อเป็นการป้องกันผู้รับเหมาโก่งราคา ยิ่งจะให้ดีผู้ว่าจ้างควรจะตกลงกับผู้รับเหมาและจัดซื้อวัสดุเองก็จะปลอดภัยกว่า โดยสิ่งสุดท้ายในสัญญาควรมีแผนการจ่ายเงินที่ชัดเจนว่างานผ่านไปกี่เปอร์เซ็นต์จะจ่ายเพิ่มอย่างไรเพื่อไม่ให้ถกเถียงกันตอนหลัง และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้รับทราบทั้งสองฝ่ายด้วยเพื่อความสบายใจ
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้านคอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน