สร้างภูมิคุ้มกันให้บ้าน ด้วยประกันภัย 3 ประเภท

DDproperty Editorial Team
สร้างภูมิคุ้มกันให้บ้าน ด้วยประกันภัย 3 ประเภท

“เพราะบ้านเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมายกับครอบครัว ดังนั้น จึงควรดูแลรักษาบ้านให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องอัคคีภัย โจรกรรม หรือการคุ้มครองภาระหนี้สินบ้าน” – K-Expert

ที่อยู่อาศัยเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีการซื้อขายกันบ่อยๆ การตัดสินใจซื้อบ้านสักหลังหนึ่งของใครหลายคนจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต ด้วยความที่ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยกว่าจะได้บ้านหนึ่งหลังมาครอบครอง บางคนจึงต้องเก็บหอมรอมริบเป็นเวลาหลายปี
และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นของรักของหวงของตนอย่างแน่นอน แต่เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เมื่อใดจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยที่มีอยู่รอบตัว ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบ้านเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงนับเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านไม่ควรละเลย
วิธีหนึ่งที่สามารถเลือกใช้เพื่อบรรเทาความเสียหายให้กับบ้านของเราได้ คือ การทำประกันภัย เพราะไม่เพียงแต่เป็นการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านของเราและสิ่งที่อยู่ภายในบ้าน ยังสามารถชดเชยค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นๆ ได้อีกด้วย โดย K-Expert มีรายละเอียดมาฝาก

อันดับแรก คือ “ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้าน”

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งระยะเวลาผ่อนบ้านก็มักยาวนานเป็นสิบๆ ปี แล้วหากวันหนึ่งเราในฐานะที่เป็นผู้ขอสินเชื่อบ้านต้องจากไปก่อนวัยอันควร ครอบครัวหรือคนที่รักจะแบกรับภาระหนี้สินเชื่อบ้านก้อนใหญ่ไหวหรือไม่
ดังนั้น สถาบันการเงินจึงมักให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้านควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านอุ่นใจได้ว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับผู้ขอสินเชื่อบ้าน บ้านหลังนั้นจะยังคงเป็นทรัพย์สินของคนที่เรารักเช่นเดิม
โดยประกันประเภทนี้มักให้ชำระเบี้ยเพียงครั้งเดียว โดยระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์สามารถเลือกได้สูงสุดเท่ากับจำนวนปีที่ต้องผ่อนชำระสินเชื่อ ทั้งนี้ ความคุ้มครองจะลดลงไปตามทุนประกันหรือมูลค่าหนี้สินที่ลดลง และหากประกันชีวิตมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้

อันดับที่สอง “ประกันอัคคีภัย”

ประกันอีกประเภทหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปให้ความคุ้มครองภัยจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิด การถูกเฉี่ยวชนโดยยานพาหนะของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในบ้าน ภัยจากอากาศยานหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว สึนามิ ลูกเห็บ
สำหรับเบี้ยประกันอัคคีภัยจะมีอัตราไม่สูงมาก และมักให้ชำระเป็นรายปีหรือชำระครั้งเดียวคุ้มครองได้ถึง 3 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกันและลักษณะความคุ้มครอง (อ่านเพิ่มเติม : ทำประกันอัคคีภัยแบบไหนถึงจะคุ้ม)
อย่างไรก็ตาม มีทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่รับประกัน เช่น บ้านที่มีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ หรือบ้านไม้ แม้ว่าภัยจากไฟไหม้จะไม่ได้มีโอกาสเกิดขึ้นมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายนี้โดยไม่ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้ หลายคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว เหมือนคำกล่าวที่ว่า “โจรขึ้นบ้านสิบครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านเพียงครั้งเดียว”

อันดับสุดท้าย “ประกันภัยโจรกรรม

นอกจากประกันประเภทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีประกันอีกประเภทที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินและค่าซ่อมแซมอาคาร เรียกว่า “ประกันภัยโจรกรรม” ซึ่งให้ความคุ้มครองบ้านจากการลักทรัพย์ที่มีร่องรอยงัดแงะ การชิงทรัพย์ หรือการปล้นทรัพย์
บางครอบครัวอาจปกป้องความเสี่ยงด้วยตนเอง โดยการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหรือสัญญาณกันขโมย หรือจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่เพื่อบรรเทาความเสียหายหรือภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ การทำประกันภัยโจรกรรมก็นับเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ซึ่งบางบริษัทมีประกันอัคคีภัยที่ให้ความคุ้มครองทั้งอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ และการโจรกรรม รวมอยู่ในกรมธรรม์ฉบับเดียว ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้รอบด้านที่อาจเกิดขึ้นกับบ้านอันเป็นที่รัก
ถึงแม้ว่าประกันจัดเป็นรายจ่ายคงที่ประเภทหนึ่ง ที่หลายต่อหลายคนมองว่าเป็นภาระทางการเงินและไม่ค่อยให้ความสำคัญมากเท่าไรนัก แต่ควรพิจารณาให้ดี เพราะในอีกแง่หนึ่ง ประกันภัยจัดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยปกป้องความเสี่ยง รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับตัวเราและคนที่อยู่ข้างหลังได้เป็นอย่างดี ลองถามตัวเองดูว่าวันนี้บ้านที่คุณรักมีภูมิคุ้มกันหรือยัง?
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย บุษยพรรณ วัชรนาคา CFP K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ