ต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้าน 3 รูปแบบ และข้อควรรู้ก่อนต่อเติม

DDproperty Editorial Team
ต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้าน 3 รูปแบบ และข้อควรรู้ก่อนต่อเติม
การต่อเติมโรงจอดรถนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างของบ้าน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีรถยนต์ส่วนตัว และเนื่องจากบ้านจัดสรรบางโครงการไม่ได้ทำโรงจอดรถให้ หรือบ้านบางหลังอาจมีรถเพิ่มจนต้องขยับขยายพื้นที่ เจ้าของบ้านจึงต้องต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้านเอง
โดยโรงจอดรถหน้าบ้านก็มีหลายแบบแตกต่างกันไป ส่วนจะวางแผนต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้านแบบไหนนั้น ติดตามข้อมูลด้านล่างเพื่อพิจารณาเลือกให้เหมาะสมที่สุดกับตนเองเลย
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจได้เร็วขึ้น

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะทำโรงจอดรถหน้าบ้าน

เจ้าของบ้านต้องรู้จำนวนและขนาดของรถที่จะจอดเสียก่อน สำหรับบ้านที่มีรถ 1-2 คัน มักจะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีมากกว่านั้น ก็อาจต้องต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้านให้มีเสากลาง เพื่อรับน้ำหนักหลังคาที่ยาวขึ้น โดยโรงจอดรถหน้าบ้านควรมีขนาดอย่างน้อย 2.5 x 5.0 เมตรต่อคัน แต่ในกรณีที่ใช้รถกระบะหรือรถตู้ขนาดใหญ่ ก็ควรเพิ่มขนาดโรงจอดรถหน้าบ้านเป็น 3.0 x 6.0 เมตรต่อคัน
ส่วนความแข็งแรงของพื้นที่ที่ใช้ต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ หากพื้นดินมีโอกาสทรุดตัว ก็ควรต้องตั้งเสาเข็มก่อนก่อสร้าง หากพื้นที่เทปูนอยู่แล้ว ก็อาจตั้งเสาเหล็กอย่างเดียวก็ได้ รวมถึงต้องมีการเดินปลั๊กไฟและก๊อกน้ำ เพื่อความสะดวกในการล้างรถ นอกจากนี้ เจ้าของบ้านควรศึกษาข้อกฎหมายในการต่อเติม ก่อนออกแบบและจ้างผู้รับเหมาด้วย
แต่ยังมีกรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อเติม ดังนี้
รายละเอียดแบบต่อเติมบ้านกรณีที่ไม่ต้องขออนุญาต
การ “เพิ่ม” หรือ “ลด” เนื้อที่ของพื้นชั้นใดชั้นหนึ่งไม่เกิน 5 ตร.ม.
การ “เพิ่ม” หรือ “ลด” เนื้อที่ของหลังคาไม่เกิน 5 ตร.ม.
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม
การเปลี่ยนแปลงส่วนใด ๆ ภายในบ้าน (ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร)ใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุอื่นไม่ได้เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมเกิน 10% ของน้ำหนักเดิม
การเปลี่ยน ต่อเติม เพิ่ม ลด เนื้อที่ส่วนใด ๆ ในบ้านไม่เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างเกิน 10% ของน้ำหนักเดิม

เลือกรูปแบบโรงจอดรถหน้าบ้าน

1. โรงจอดรถแบบตั้งเสาใหม่ทั้งหมด

เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมที่สุด แต่ก็มีราคาแพงที่สุด เพราะจะต้องตั้งเสารับน้ำหนักหลังคาโรงจอดรถใหม่ทั้งหมด โดยไม่ยุ่งกับตัวบ้าน หากพื้นที่มีโอกาสทรุดตัว ก็ต้องตอกเสาเข็มรับน้ำหนักด้วย โรงจอดรถแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่ไม่อยากยุ่งกับโครงสร้างบ้าน หรือต้องการทำโรงจอดรถแบบแยกต่างหาก และอาจมีประตูและผนังปิดทึบ เพื่อใช้เก็บรถราคาแพง

2. โรงจอดรถแบบยึดกับโครงสร้างบ้าน

โรงจอดรถแบบนี้จะต้องตั้งเสารับน้ำหนักด้านหน้า และยึดด้านหลังเข้ากับโครงสร้างบ้าน ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตั้งเสาใหม่ทั้งหมด แต่ปัญหาของโรงจอดรถแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อโครงสร้างบ้านและพื้นที่จอดรถทรุดตัวไม่เท่ากัน จนฉุดรั้งให้โครงสร้างบ้านโครงสร้างบ้านและโรงจอดรถเสียหาย แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้ตัวยึดแบบแกว่งตัวได้

3. โรงจอดรถแบบหลังคากันสาด

หากบ้านมีช่องสำหรับจอดรถอยู่แล้ว แต่ยังได้ร่มเงาไม่เต็มทั้งพื้นที่จอด เจ้าของบ้านก็สามารถต่อเติมหลังคาโรงจอดรถแบบกันสาดยื่นออกมาได้อีกเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ การทำกันสาดยื่นยาวเกินไป น้ำหนักของกันสาดก็อาจสร้างความเสียหายให้กับผนังและโครงสร้างบ้าน หรือเมื่อถูกพายุพัดกระชาก กันสาดก็อาจหลุดไปสร้างความเสียหายกับรถและพื้นที่ใกล้เคียงได้
เมทัลชีท วัสดุยอดนิยมสำหรับมุงหลังคาโรงจอดรถ

เลือกหลังคาโรงจอดรถ

1. หลังคากระเบื้อง

กระเบื้องมุงหลังคานั้นมีความสวยงามและเข้ากันกับตัวบ้าน แต่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกระเบื้องคอนกรีตที่ควรใช้กับหลังคาโรงจอดรถแบบเสาปูนเท่านั้น หากโครงสร้างโรงจอดรถรับน้ำหนักได้น้อย ก็ควรใช้กระเบื้องลอนคู่หรือวัสดุอื่นที่น้ำหนักเบา

2. หลังคาเมทัลชีท

เมทัลชีทเป็นวัสดุมุงหลังคาโรงจอดรถยอดนิยม เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและมีราคาไม่แพง เหมาะกับโรงจอดรถโครงสร้างเหล็กกล่องและการทำกันสาด แต่เมทัลชีทจะมีเสียงดังเวลาฝนตกใส่ และไม่ป้องกันความร้อน จึงควรติดฉนวนเสริมด้วย

3. หลังคาไวนิล

ไวนิลเป็นวัสดุแบบใหม่ที่ผลิตจากพีวีซีคุณภาพสูง มีน้ำหนักเบา มีความทนทาน ป้องกันความร้อน และเสียงเบากว่าเมทัลชีท แต่ก็มีราคาแพงกว่า หากเจ้าของบ้านงบถึง หรือทำหลังคาใกล้กับหน้าต่างห้องนอน ก็ควรใช้หลังคาไวนิลดีกว่า
สรุปจุดเด่นของวัสดุหลังคาโรงจอดรถหน้าบ้านแต่ละประเภท
หลังคาโรงจอดรถหน้าบ้านจุดเด่น-จุดด้อย
หลังคากระเบื้องสวยงามเข้ากับตัวบ้าน แต่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก
หลังคาเมทัลชีทน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง
หลังคาไวนิลน้ำหนักเบา ทนทาน ป้องกันความร้อน และมีราคาแพง

เลือกวัสดุปูพื้นโรงจอดรถ

1. อิฐบล็อก

อิฐบล็อกเป็นวัสดุที่ให้ความเป็นธรรมชาติ จัดวางได้หลากหลายลวดลาย อิฐบล็อกบางแบบยังปลูกหญ้าแซมได้ แต่เจ้าของบ้านจะต้องปรับพื้นที่ให้แน่นและแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับน้ำหนักรถทั้งคัน

2. คอนกรีต

คอนกรีตเทพื้นเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงที่สุด และทำได้หลายแบบ ทั้งการเทปูนเสริมเหล็กแล้วฉาบให้เรียบเฉย ๆ หรือเพิ่มรายละเอียดและความสวยงาม ด้วยการผสมสีหรือพิมพ์ลายบนพื้นปูน

3. กระเบื้องปูพื้น

กระเบื้องปูพื้นเป็นวัสดุยอดนิยมในการปูพื้นโรงจอดรถหน้าบ้าน เพราะปูง่าย มีให้เลือกหลากหลายลวดลาย แต่ควรใช้กระเบื้องที่มีความหยาบเพื่อกันพื้นลื่น และมีความแข็งเพื่อป้องกันการแตกกะเทาะ
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เจ้าของบ้านก็สามารถเลือกรูปแบบและวัสดุในการต่อเติมโรงจอดรถหน้าบ้านให้เหมาะสมกับตัวเองได้ไม่ยาก และเป็นประโยชน์ในการพูดคุยความต้องการกับผู้รับเหมา เพื่อให้ได้โรงจอดรถหน้าบ้านที่เหมาะสมต่อการใช้งาน และคุ้มค่ากับเงินที่จะต้องจ่ายให้มากที่สุด โดยไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจตามมาในภายหลัง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน