สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง 4 ข้อควรระวัง พร้อมตัวอย่างสัญญาจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

DDproperty Editorial Team
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง 4 ข้อควรระวัง พร้อมตัวอย่างสัญญาจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หรือสัญญาก่อสร้าง เป็นสิ่งสำคัญหลังจากซื้อที่ดินมาแล้วต้องการจะก่อสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง ซึ่งก่อนจะทำการจ้างวานบริษัทรับสร้างบ้าน หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หรือสัญญาก่อสร้าง มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและมีข้อที่ควรระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับผู้รับเหมาระหว่างการก่อสร้าง

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หรือสัญญาก่อสร้างคืออะไร

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หรือสัญญาก่อสร้าง คือ เอกสารสัญญาที่ระบุความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับงานที่ดำเนินการก่อสร้างตามที่กำหนดตามข้อตกลง และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดที่ตกลงก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างจนแล้วเสร็จ
โดยเนื้อหาสัญญาจะต้องมีการระบุข้อความชัดเจน ปฏิบัติได้จริง และเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้

รายละเอียดที่ควรมีในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง

1. วันที่และสถานที่ทำสัญญา เพื่อระบุให้ทราบว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่และมีอายุสัญญากี่ปี
2. ข้อมูลส่วนบุคคลคู่สัญญาระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน และข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนและตรวจสอบได้
3. ขอบเขตและลักษณะของเนื้องานที่รับผิดชอบ ผู้ว่าจ้างตกลงว่าจ้างผู้รับจ้างทำการก่อสร้างบ้านแบบไหนระบุลงในสัญญาให้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของแบบบ้าน, สถานที่ที่ทำการก่อสร้าง
4. ราคา และรายละเอียดการจ่ายงวดงาน
– ค่าจ้างเหมาจ่ายทั้งหมด
– จ่ายชำระก่อนการเริ่มดำเนิดการกี่เปอร์เซ็นต์
– แบ่งงวดงานออกเป็นกี่งวดงาน มีรายละเอียดอะไรบ้าง
– จ่ายชำระเงินงวดงานแต่ละงวดงานกี่เปอร์เซ็นต์
5. ระยะเวลาของสัญญา ตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง จนดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างโดยประมาณกี่เดือน
6. หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ควรมีรายละเอียดกำกับไว้อย่างชัดเจนในสัญญาว่าจ้าง เช่น
– สิทธิ์ในการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับลดรายการและแบบก่อสร้างเดิม หรือปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ต้องยกเลิกสัญญาว่าจ้าง แต่ควรทำการตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรและมีความตกลงยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย
หากการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจนกระทบกับความแข็งแรงและมาตรฐานของโครงสร้างตามแบบแปลนเดิม ผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ
– ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์สั่งหยุดงาน หากเห็นว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามแบบแปลน หรือมีสิทธิระงับและไม่จ่ายค่างวดงานในส่วนดังกล่าว หากผู้รับเหมาไม่ทำการแก้ไขหรือซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายที่ไม่เป็นไปตามที่แจ้งให้แก้ไข
– ทำการตรวจรับงานแต่ละงวดงาน
7. หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง)
– ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องและแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างในระยะเวลาที่กำหนด
– ผู้รับจ้างสามารถโอนงานให้ผู้อื่นได้ แต่ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดตามระบุในสัญญา
– หากมีการเพิ่มเติมหรือลดงานส่วนใดส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามแบบ ผู้รับจ้างจะต้องทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ว่าจ้างรับทราบ
– ผู้รับจ้างจะต้องทำการยินยอมให้ตัวแทนของเจ้าของบ้าน หรือ เจ้าของบ้านทำการตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง สถานที่ และขั้นตอนในการก่อสร้าง เพื่อตรวจประเมินผลงานตรงตามแบบแปลนและ BOQ หรือไม่
หากพบว่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา ตัวแทนหรือเจ้าของบ้านมีสิทธิ์ที่จะระงับการดำเนินการก่อสร้างและปฏิเสธวัสดุที่ไม่ตรงตามรายละเอียดบัญชีก่อสร้างที่ระบุในสัญญาว่าจ้างได้ทันที
BOQ คืออะไร

BOQ คืออะไร

8. เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง จะได้มีคุณภาพ เหมาะสมกับลักษณะงาน ควรมีเอกสารรายการระบุแนบท้ายเอกสาร เพื่อใช้ในการตรวจสอบ
9. การประกันคุณภาพผลงานหลังจากการับส่งมอบงาน โดยระยะเวลาประกันงานขึ้นอยู่กับประเภทงานและการเจรจา โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-5 ปี ซึ่งหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้านในระยะเวลาเอาประกัน ไม่ว่าจะเป็นหลังคารั่ว บ้านมีรอยแตกร้าว หรือสาเหตุอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ ผู้รับจ้างตกลงทำการแก้ไข ซ่อมแซ่มให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานดังเดิม
– ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านทำการต่อเติมบ้านจนผิดหลักทางวิศวกร เป็นเหตุให้ตัวบ้านเกิดการชำรุดเสียหาย จะถือว่า “การประกันคุณภาพงาน” สิ้นสุดลงทันที
10. การยกเลิกสัญญาว่าจ้างและสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย ควรทำการระบุให้ชัดเจน หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดเงื่อนไข จนเกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงต้องทำการระบุรายละเอียดเงื่อนไขเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้รับทราบและยินยอมรับผิดชอบหากเกิดกรณีดังกล่าว
11. การลงนามตกลงเซ็นสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้าง จะประกอบไปด้วย
– ผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน)
– ผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง)
– พยาน 1
– พยาน 2
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ดีช่วยป้องกันปัญหาระหว่างก่อสร้างบ้าน

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้จ้างงานและผู้รับเหมาก่อสร้าง

ถึงแม้ว่าจะมีการตกลงทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างรองรับเรียบร้อยแล้ว แต่ก็อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาหลังจากเซ็นสัญญาว่าจ้างและเริ่มต้นดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักเป็น
1. การก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีนี้อาจมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนดระยะเวลา ซึ่งหากปัจจัยนั้นเกิดจากดิน ฟ้า อากาศ ที่ไม่สามารถควบคุมก็สามารถพูดคุยหรือยืดหยุ่นกันได้
แต่ถ้าหากเกิดจากการขาดความรับผิดชอบของผู้รับเหมา จากการที่ผู้รับเหมาไม่เข้าหน้างาน ทำงานล่าช้าในส่วนนี้ทางผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
2. ขอเบิกเงินเกินงวดงานหรือโกงเงินค่ามัดจำ โดยเบิกค่ามัดจำครั้งแรกสูง ๆ แล้วเข้างานช้า ทิ้งงาน และหนีงานไปในที่สุด
3. เกิดข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างหรือปรับเปลี่ยนแบบแปลนบ้านที่ใช้ก่อสร้าง
4. ผลงานไม่น่าพึงพอใจ เนื่องจากผู้รับเหมาไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความชำนาญเฉพาะทาง
5. ผู้รับเหมาเปลี่ยนทีมช่างผู้ชำนาญการ โดยช่วงแรกใช้ทีมช่างที่มีประสบการณ์ทำงานรวดเร็ว ผลงานเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้นเปลี่ยนทีมช่างหรือลดจำนวนช่างที่มีประสบการณ์ทำให้ผลงานที่ได้มีคุณภาพต่ำไม่เป็นที่น่าพอใจ และงานเกิดความล่าช้า
6. งบประมาณการก่อสร้างบานปลาย จากการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมบางส่วนจากแบบแปลนที่กำหนดไว้
5 วิธีเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน

5 วิธีเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน

ข้อควรระวังและข้อสังเกตก่อนทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง

1. สัญญาจ้างมีความคลุมเครือ ควรระบุเงื่อนไข รายละเอียดต่าง ๆ ในสัญญาจ้างให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ เพื่อป้องกันกรณีเจอผู้รับเหมาที่ไม่ดี ไม่มีความซื่อตรงในวิชาชีพ อาจทำให้เราเสียเปรียบได้ เมื่อตกลงเซ็นสัญญาว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว
2. เปอร์เซ็นการจ่ายเงินแต่ละงวดเหมาะสมกับปริมาณงานหรือไม่ โดยอ้างอิงจากบัญชีแสดงราคาและปริมาณวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือ BOQ
3. ขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้างกับระยะเวลาสมเหตุสมผลหรือไม่ ระบุวัน เวลา ที่ชัดเจนในการส่งงานในแต่ละงวดงานก่อนการจ่ายค่างวด
4. ระยะประกันงานหลังการก่อสร้าง กรณีเกิดความเสียหายหรือชำรุดหลังการส่งมอบงาน
5. สิทธิในการยกเลิกสัญญา กรณีผู้รับเหมาขาดความรับผิดชอบหรือไม่ดำเนินการตามที่ระบุในสัญญา
ตัวอย่างสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างดาวน์โหลดได้ที่นี่
แม้ว่าการก่อสร้างบ้านโดยการจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือบริษัทรับสร้างบ้าน จะมีโอกาสได้บ้านที่ตอบโจทย์ตรงใจมากกว่าซื้อบ้านจัดสรร แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หากยังสองจิตสองใจ ลองดูโครงการใหม่เพิ่มเติม
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หรือสัญญาก่อสร้างคืออะไร

เอกสารสัญญาที่ระบุความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างเจ้าของบ้าน ผู้จ่ายเงิน กับผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดที่ตกลงก่อสร้าง

1.วันที่-สถานที่ทำสัญญา 2.ข้อมูลส่วนบุคคล 3.ลักษณะเนื้องาน 4.ราคา-การจ่ายงวดงาน 5.ระยะเวลาการทำงาน 6.ความรับผิดชอบของเจ้าของบ้าน 7.ความรับผิดชอบของผู้รับเหมา 8.เครื่องมือ-วัสดุ 9.การรับประกัน 10.การยกเลิกสัญญา 11.ลายเซ็น