หลายคนเลือกใช้บริการตัวแทนหรือนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะนายหน้ามืออาชีพสามารถประเมินราคา ทำการตลาด และมีเครือข่าย จึงช่วยให้ขายหรือปล่อยเช่าอสังหาฯ ได้ง่าย รวดเร็ว และราบรื่น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีมิจฉาชีพมากมายที่แฝงตัวมาในคราบของนายหน้าอสังหาฯ ที่ดูน่าเชื่อถือ การตัดสินใจเลือกให้ใครเป็นตัวแทนดำเนินธุรกิจนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบ
5 สัญญาณพึงระวังนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
1. นายหน้าอสังหาฯ ที่ไม่มีข้อมูลยืนยันตัวเอง
เมื่อคุณติดต่อหรือมีนายหน้าอสังหาฯ ติดต่อเสนอบริการให้ ต้องตรวจสอบก่อนว่านายหน้าอสังหาฯ ท่านนั้นมีข้อมูลยืนยันตัวเองว่าเป็นนายหน้าจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น
– บัตรนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกโดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยบัตรนี้แสดงถึงความเป็นมืออาชีพของนายหน้า
– นายหน้าอสังหาฯ ที่ทำงานบริษัทนายหน้า เนื่องจากสามารถยืนยันตัวตนได้ เมื่อจ่ายค่านายหน้า บริษัทก็สามารถออกหนังสือรับรองเป็นหลักฐานได้
– นายหน้าอสังหาฯ ที่มีการยืนยันยนตัวตน ยกตัวอย่างเช่น บนเว็บไซต์ DDproperty มีระบบ Agent Verification (การยืนยันตัวตนเอเจนต์) และ Agency Verification (การยืนยันตัวตนของบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ) โดยให้เอเจนต์ลงทะเบียนยืนยันตัวตนและแสดงข้อมูลการติดต่อที่ชัดเจน

– หากเลือกนายหน้าอสังหาฯ อิสระ ก่อนโอนเงินค่านายหน้า อย่าลืมขอสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีธนาคารซึ่งต้องมีลายมือชื่อของนายหน้าอสังหาฯ กำกับ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
2. นายหน้าอสังหาฯ ขอโฉนดที่ดินตัวจริง
หากนายหน้าอสังหาฯ ขอโฉนดที่ดินตัวจริง ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม (เว้นแต่จะแต่งตั้งให้ดำเนินการเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแทน) นี่เป็นสัญญาณอันตราย โฉนดที่ดินตัวจริงเป็นสิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องเก็บไว้จนกระทั่งวันโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน ห้ามให้นายหน้าอสังหาฯ เด็ดขาดเพราะเสี่ยงที่จะโดนสับเปลี่ยนกับโฉนดที่ดินปลอมหรือถูกนำไปใช้ในทางมิชอบได้ นอกจากนี้ ในวันโอน เจ้าของที่ดินควรเป็นคนไปจัดการรับเงินค่าอสังหาฯ และชำระค่าโอนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง จึงจะปลอดภัยที่สุด หากจำเป็นต้องให้นายหน้าอสังหาฯ ดำเนินการแทน ต้องทำหนังสือมอบอำนาจที่ระบุโฉนดที่ดิน ขอบเขตการทำงาน วันเวลาดำเนินการ วิธีรับเงินจากผู้ซื้อ และวิธีชำระภาษีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนอย่างชัดเจน พร้อมขอสำเนาบัตรประชาชนของนายหน้าอสังหาฯ ที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องด้วย
3. นายหน้าอสังหาฯ ขอเบิกค่าใช้จ่ายจิปาถะ
นายหน้าอสังหาฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการหาและติดต่อผู้ซื้อหรือผู้เช่าเอง ไม่ว่าค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าเสียเวลาก็ตาม สิ่งเดียวที่เจ้าของอสังหาฯ ต้องจ่ายคือ ค่านายหน้าตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งจะจ่ายหลังจากนายหน้าปฏิบัติหน้าที่สำเร็จลุล่วงแล้วเท่านั้น สำหรับกรณีขาย คือ หลังการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ และสำหรับกรณีปล่อยเช่า คือ หลังการทำสัญญาเช่าและได้รับค่าประกันและค่าเช่าจากผู้เช่าแล้ว

4. นายหน้าอสังหาฯ ขอทำสัญญาใจ
สัญญานายหน้าอสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น และต้องระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับอสังหาฯ ระยะเวลาการทำงาน รวมถึงค่าตอบแทนหรือค่านายหน้าเมื่อสามารถขายหรือให้เช่าอสังหาฯ ได้สำเร็จ
แต่หากนายหน้าอสังหาฯ เป็นเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักที่คุณไว้ใจ ซึ่งยืนกรานที่จะทำสัญญาปากเปล่า นี่เป็นสัญญาณเตือนพึงระวัง เนื่องจากหากโดนโกง จะไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาในการฟ้องร้อง ทั้งนี้สัญญามีหลายประเภท ผู้ขายหรือผู้ให้เช่าจึงควรพิจารณาให้ดีและเลือกประเภทสัญญานายหน้าและตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสม
ตัวอย่างสัญญานายหน้าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกสัญญานายหน้าของคุณได้ ดาวน์โหลดสัญญานายหน้าได้ที่นี่

5. นายหน้าอสังหาฯ เขียนสัญญากำกวมและเอาเปรียบ
สัญญาแต่งตั้งนายหน้าอสังหาฯ ที่ดีต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ผู้ขายจะจ่ายค่านายหน้าเมื่อไรและเป็นจำนวนเท่าใด โดยส่วนใหญ่คิดที่ 3% ของราคาอสังหาฯ ส่วนในกรณีเช่าอสังหาฯ ควรระบุให้ผู้เช่าโอนเงินค่าประกันและค่าเช่าโดยตรงที่ผู้ให้เช่า และคิดค่านายหน้าที่ 1 เดือนของค่าเช่า
นอกจากนี้ ยังควรระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าขอต่อสัญญา จะมีค่านายหน้าหรือไม่ และในกรณีที่ผู้เช่าอยู่ไม่ครบสัญญา นายหน้าอสังหาฯ จะต้องคืนค่าค่านายหน้าในส่วนของช่วงที่เหลือของสัญญา
การใช้นายหน้าอสังหาฯ มีประโยชน์และช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากเพราะมีความรู้ ความชำนาญ และเครือข่ายในธุรกิจ เพียงแต่ต้องระมัดระวังนายหน้าอสังหาฯ ที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจตามคำแนะนำในข้างต้น
หากต้องการคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับการลงทุนอสังหาฯ อ่านเพิ่มเติมที่สิ่งที่ควรรู้ก่อนขายอสังหาริมทรัพย์และสิ่งที่ควรรู้ก่อนปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ