ไม่มีใครรู้ว่าคอนโดมิเนียมที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน จะเกิดเหตุวินาศภัยไม่คาดฝันขึ้นเมื่อไร แม้อาจจะเป็นเรื่องไกลตัว มีเปอร์เซนต์เป็นไปได้น้อยมาก แต่ถ้าหากเกิดขึ้นสิทธิที่ได้จากการเป็นเจ้าของร่วมโครงการนั้นไม่ใช่เป็นเพียงอากาศ หรือเศษหิน ปูน ทรายของอาคาร เหมือนที่หลายคนกำลังเข้าใจอย่างแน่นอน
สืบเนื่องจากตามกฎข้อบังคับของ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ดีเวลลอปเปอร์ ต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมถึงข้อกำหนดของธนาคารที่ระยะหลังบังคับให้ผู้อยู่อาศัยที่ยื่นกู้ขอสินเชื่อทั้งบ้านหรือคอนโดฯ ต้องทำประกันอัคคีภัย
ทั้งนี้ หากเกิดเหตุขึ้น สามารถรับสิทธิทั้งจากการเป็นเจ้าของร่วมโครงการ และห้องชุดได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดทั้งรายละเอียด เงื่อนไข ของประกันภัยนั้น รวมถึงมติของนิติบุคคล (ในกรณีของเงินประกันอาคาร) ดังนั้นจึงควรทำความรู้จักประกันทั้ง 2 รูปแบบให้ถ่องแท้ เพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเอง
ทำความรู้จักประกันอาคารและอัคคีภัย
เชื่อว่าวินาทีนี้หลายคนที่เพิ่งซื้อคอนโด ต่างงุนงงกับมาตรการของธนาคารว่าทำไมถึงให้ทำประกันอัคคีภัย เมื่อยื่นกู้ขอสินเชื่อ ส่วนบรรดาผู้ประกอบการ จำเป็นต้องทำประกันอาคารเช่นกัน อย่างไม่สงสัย เนื่องจากถูกระบุไว้ในรายละเอียดของ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 ข้อ 16 แล้วว่า “ชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก”
ทั้งนี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ หากเกิดเหตุวินาศภัยฉุกเฉินขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ไฟไหม้ ตึกถล่ม อันสามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งนี้ก่อนจะลงมือทำประกัน แนะนำให้ศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดของทั้ง 2 รูปแบบ อย่างลึกซึ้ง เพื่อจะได้ไม่ต้องค้างคาใจในภายหลัง
ประกันอาคาร

ปัจจุบันประกันรูปแบบดังกล่าวมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ ประกันความคุ้มครองส่วนกลางของอาคารทั้งหมด โดยคิดจากมูลค่าการก่อสร้าง งานระบบ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งนี้จะครอบคลุมความคุ้มครองหากเกิดเหตุไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ส่วนประเภทที่ 2 เป็น ประกันภัยสำหรับบุคคลที่ 3 หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากส่วนกลางของนิติบุคคล ที่เกิดจากบุคคลภายนอก อย่างกรณีเศษปูนหล่นใส่ศรีษะผู้อยู่อาศัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่รวมความเสียหายในทรัพย์สินของเจ้าของร่วม (หมายถึงเจ้าของห้องชุด ซึ่งมีสิทธิร่วมกันในคอนโดมิเนียมหรืออาคาร) ตัวอย่าง หากมีเหตุการณ์ไฟฟ้ารัดวงจรห้องชุดหนึ่ง แล้วส่งผลให้เกิดไฟไหม้ข้ามไปอีกห้อง ค่าเสียหายทั้งหมด ผู้จ่ายคือเจ้าของห้องนั้น ซึ่งหากมีประกันภัย ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ระดับหนึ่ง
ประกันอัคคีภัย
คือรูปแบบของประกันภัยที่เกือบทุกธนาคาร จะแนะนำให้ทำในช่วงการขอสินเชื่อกู้บ้าน ทั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สิ่งปลูกสร้าง ไม่รวมรากฐาน ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ห้องชุด ในแฟรต อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม เพื่อการอยู่อาศัย
2. ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง หรือ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ภายในบ้านทั้งหมด โดยจะความคุ้มครองพื้นฐานอันมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติ รวมถึงอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น โจรกรรม เป็นต้น
ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นภายในห้องชุดของตนเอง จนทำให้เกิดความเสียหายนั้น ประกันอัคคีภัยที่ได้ทำไว้ จะชดใช้ให้ตามเงื่อนไขซึ่งระบุไว้ แต่หากดันเกิดกับโครงการ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ตึกถล่ม เหตุดังกล่าวสิทธิที่จะได้รับ นั้นคือประกันอาคาร โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องผ่านการประชุมจากนิติบุคคลและเจ้าของร่วมรายอื่นก่อน หากลงมติว่าแบ่งเงินประกันอาคาร จำเป็นต้องคิดส่วนแบ่งดังนี้
จำนวน ตร.ม. ของยูนิต X 100 = จำนวนเงินประกันอาคารของผู้อยู่อาศัยที่ได้รับ
พื้นที่อยู่อาศัยสุทธิทั้งหมด
พื้นที่อยู่อาศัยสุทธิทั้งหมด
*** พื้นที่อยู่อาศัยสุทธิทั้งหมดคือ พื้นที่ขายสุทธิเท่านั้น จะไม่รวมส่วนกลาง ***
ยกตัวอย่าง ห้องชุดอาศัยของเรามีพื้นที่ 40 ตร.ม. พื้นที่อยู่อาศัยทั้งหมดของโครงการคือ 20,000 ตร.ม. จะเท่ากับ (40 x 100) ÷ 20,000 = 0.2% นั่นคือสมมติว่าค่าเสียหายที่โครงการเรียกร้องได้จากบริษัทประกันคือ 1,000 ล้านบาท เราจะได้เงินคืนประมาณ 2 ล้านบาท
เรียนรู้ ทำความรู้จักกับเงินประกันทั้งแบบส่วนบุคคล และผู้ประกอบการแล้ว ต่อให้คอนโดมิเนียมของเราเกิดวินาศภัย ก็สบายใจหายห่วงได้ เพราะยังมีประกันภัย อัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจำเป็นต้องดูเงื่อนไข และมติเอกฉันท์จากเจ้าของร่วมท่านอื่น ที่ทางนิติบุคคลนัดประชุมด้วย ประกอบกับยังต้องประเมินค่าเสียหาย เป็นสำคัญ
เรื่องข้างต้นเขียนโดย อารยา ศิริพยัคฆ์ Content Writer ประจำเว็บไซต์ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ araya@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ