การจะซื้อบ้านหรือคอนโดสักหลังอาจต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ต้องพึ่งบริการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารแทบทั้งนั้น โดยสินเชื่อจากธนาคารเหล่านี้เอง ที่จะช่วยให้ฝันของคุณที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังเป็นจริงได้แบบไม่ยากเกินไป โดยการผ่อนง่าย ๆ สบาย ๆ แบบไร้กังวล
โดยส่วนใหญ่ หลังจากยื่นเรื่องขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว ธนาคารที่ให้กู้จะถือสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นๆไว้ จนกว่าคุณที่เป็นผู้ซื้อจะชำระเงินกู้คืนได้ครบ โดยระหว่างนี้คุณสามารถเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ได้เหมือนกับเป็นของคุณเอง
ปัจจุบัน มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลากหลายประเภทให้คุณเลือกได้ตรงตามความต้องการ
1) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan)
หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว คืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนด ณ ปัจจุบัน ตามประกาศนั้น จะใช้ไประยะหนึ่ง และต่อมาภายหลัง (ในช่วง 20-30 ปี) อาจปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน
ซึ่งการปรับใหม่นี้ จะปรับเมื่อใดนั้น ไม่สามารถจะทราบได้ ในบางปี อาจมีการปรับหลายครั้ง บางปีไม่มีการปรับเปลี่ยนเลยก็ได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบต่อเงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือนได้ โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในภายหลังเงินงวดที่ชำระรายเดือนเดิมอาจต้องมีการปรับสูงขึ้นได้
2) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan)
2.1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ หมายถึงเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือตายตัวตามประกาศของสถาบันการเงิน ณ ขณะกู้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ดังนั้น เงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือน ก็จะคงที่ตลอดระยะเวลากู้นาน 5-10-15-20 ปี ตามแต่ผู้กู้จะเลือก
2.2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี หลังจากนั้น จะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมก็ได้ ทั้งนี้ จะเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ณ ขณะนั้น
2.3 อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันใดในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี แต่ในระหว่างนี้ อาจกำหนดคงที่แบบขั้นบันได เช่น คงที่ 3 ปี ปีแรกเท่ากับ 3.25% ปีที่สอง 4.25% ปีที่สาม 5.25% เป็นต้น หลังจากนั้น จะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมก็ได้ ทั้งนี้ จะเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ณ ขณะนั้น
3) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage Loan)
หมายถึง เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี และปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา 3 หรือ 5 ปี ตลอดระยะเวลากู้นาน 25-30 ปี ตัวอย่างเช่น สินเชื่อเคหะรวมใจ ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ปล่อยกู้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละช่วงจะคงที่โดยอิงกับต้นทุนพันธบัตรที่บวก 2.5% เช่น หากต้นทุนพันธบัตร 5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเท่ากับ 7.5% เป็นต้น เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ
เมื่อคุณทราบประเภทเงินกู้แบบต่างๆที่สถาบันการเงินเสนอให้บริการแล้ว ต่อมาคุณจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบ "อัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ" ว่าที่ไหนให้เท่าใด สูงต่ำกว่ากันอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไป หากเป็นเงินกู้ประเภทเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ จะทำให้เงินงวดรายเดือนที่ผ่อนชำระต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การกู้เงินมิใช่การกู้ระยะสั้นเพียง 2-3 ปี เท่านั้น หากเป็นการกู้นานถึง 20-30 ปี ดังนั้น คุณจะต้องดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายสินเชื่อของสถาบันการเงินในระยะยาวด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า