สิ่งที่ต้องคิด เมื่อเปลี่ยนจากเช่าไปซื้อคอนโดฯ

DDproperty Editorial Team
สิ่งที่ต้องคิด เมื่อเปลี่ยนจากเช่าไปซื้อคอนโดฯ

“กู้ซื้อคอนโดฯ นอกจากค่าผ่อนรายเดือนแล้ว ยังมีค่าส่วนกลาง ค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุง ฯลฯ ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งต้องกันเงินสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย”

หลายๆ คนที่ตอนนี้เช่าห้องหรือคอนโดฯ อยู่ คงมีความคิดว่า เพิ่มเงินจากค่าเช่าคอนโดฯ อีกสักหน่อยไปเป็นค่าผ่อนจะดีกว่าไหม จะได้มีคอนโดฯ เป็นทรัพย์สินของตัวเอง แต่ความคิดนี้สามารถทำกันได้ง่ายๆ หรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจบ้าง K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มีคำแนะนำมาฝาก

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อกู้ซื้อคอนโดฯ

หากต้องการเปลี่ยนจากเช่าคอนโดฯ มาเป็นกู้ซื้อคอนโดฯ ไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนต่างของค่าผ่อนที่เพิ่มขึ้นจากค่าเช่าเท่านั้น (โดยปกติแล้ว ค่าผ่อนมักสูงกว่าค่าเช่า) แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายรายงวด
เป็นค่าใช้จ่ายที่มักจ่ายเป็นรายปี เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ค่าซ่อมบำรุง ยกตัวอย่างคอนโดฯ ห้องสตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน หากไม่ได้อยู่ในตัวเมืองมากนัก ค่าเช่าอยู่ที่เดือนละประมาณ 7,500 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายประมาณ 1.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้อคอนโดฯ เช่น
ค่าผ่อน
133,200
11,100
86.27%
ค่าส่วนกลาง
8,400
700
5.44%
ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย (พื้นที่ส่วนกลาง)
12,000
1,000
7.77%
ค่าซ่อมบำรุง (เช่น ล้างแอร์)
800
67
0.52%
รวม
154,400
12,867
100.00%
จากตัวอย่างจะเห็นว่า นอกจากค่าผ่อนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยเดือนละเกือบๆ 2,000 บาท หรือประมาณ 18% ของเงินผ่อน รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 12,867 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเช่าถึง 70% ยิ่งไปกว่านั้น หากเดิมอาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ค่าใช้จ่ายหนึ่งที่หลายคนมักลืมนึกถึง คือ ค่าน้ำค่าไฟ อีกประมาณเดือนละ 1,000 บาท รวมๆ กันแล้ว แต่ละเดือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มจากค่าเช่าถึงเท่าตัวเลยก็ได้
2. ค่าใช้จ่ายเงินก้อน
เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตอนซื้อหรือโอนคอนโดฯ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กรมที่ดิน ธนาคาร โครงการคอนโดฯ รวมถึงค่าตกแต่งคอนโดฯ ก่อนเข้าอยู่ เช่น
ค่าใช้จ่าย
บาท
ค่าธรรมเนียมการโอน (2% ของราคา)
30,000
ค่าจดจำนอง (1% ของเงินกู้)
15,000
ค่าอากรแสตมป์ (0.05% ของเงินกู้)
750
ค่าประเมินหลักทรัพย์
3,000
ค่าประกันอัคคีภัย (ห้องชุด)
1,500
ค่าประกันมิเตอร์น้ำและไฟฟ้า
5,000
ค่าตกแต่ง
150,000
รวม
205,250
ดังนั้น หากคิดจะเปลี่ยนจากเช่าเป็นซื้อคอนโดฯ แล้ว ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จำง่ายๆ ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20% ทั้งค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ของเงินผ่อน และเงินก้อนที่ต้องเตรียมไว้อีกประมาณ 20% ของราคาคอนโดฯ

ข้อดีของการซื้อ vs เช่าคอนโดฯ

43862386_xxl
การซื้อและการเช่าคอนโดฯ มีข้อดีที่แตกต่างกัน โดยสามารถสรุปได้ดังตาราง
ซื้อคอนโดฯ
เช่าคอนโดฯ
  • มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง
แม้ว่าค่าผ่อนคอนโดฯ อาจสูงกว่าค่าเช่า แต่ถ้าดูในรายละเอียด จากตัวอย่างกู้ซื้อคอนโดฯ 1.5 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 11,100 บาท จะเป็นส่วนดอกเบี้ยประมาณ 6,500 บาท (คิดดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 5.25% ต่อปี) ส่วนที่เหลือเป็นเงินต้น ถ้าเทียบเฉพาะดอกเบี้ยกับค่าเช่าที่เป็นเงินจ่ายทิ้งแล้ว รายจ่ายดอกเบี้ยยังต่ำกว่าค่าเช่าคอนโดฯ ซึ่งการจ่ายเงินผ่อนคอนโดฯ ในแต่ละเดือนทำให้เรามีทรัพย์สินเป็นของตัวเองในอนาคต
  • โอกาสสร้างรายได้หรือผลตอบแทน
หากไม่ได้อยู่คอนโดฯ ที่ซื้อไว้แล้ว สามารถปล่อยเช่าหรือขายต่อซึ่งมีโอกาสได้รับกำไรจากการขาย โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่า ดัชนีราคาคอนโดฯ ย้อนหลัง 1 ปีเติบโตขึ้น 3.8% ดังนั้น หากซื้อคอนโดฯ ราคา 1.5 ล้านบาท เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ตอนนี้ราคาคอนโดฯ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 57,000 บาท
  • ลดหย่อนภาษีได้
ดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อบ้านสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละ 1 แสนบาท เช่น จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 6,500 บาท หากฐานภาษีอยู่ที่ 10% จะได้รับเงินภาษีคืนปีละ 7,800 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 650 บาท ในช่วงปีแรกๆ
  • ยืดหยุ่นในการย้ายคอนโดฯ
หากเช่าคอนโดฯ อยู่ แล้วต้องการย้ายคอนโดฯ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเปลี่ยนงาน อยากเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ต้องการห้องที่ใหญ่ขึ้นหรือใหม่ขึ้น หรือย้ายคอนโดฯ เพื่อให้มีค่าเช่าถูกลง ก็สามารถทำได้ง่าย แต่หากซื้อคอนโดฯ เอาไว้ เมื่อต้องการย้ายคอนโดฯ อาจขายคอนโดฯ เดิมไม่ได้ทันที
  • ไม่ต้องแบกรับต้นทุนสูง
ค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างมาพร้อมกับการซื้อคอนโดฯ เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าส่วนกลาง ค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งหากเช่าคอนโดฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เจ้าของห้อง หรือผู้ให้เช่า มักเป็นผู้รับผิดชอบเอง
  • ทดลองไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตในคอนโดฯ
หลายคนอยากมีคอนโดฯ ใกล้ที่ทำงานเพื่อให้เดินทางสะดวก แต่ที่ผ่านมาอยู่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่โดยตลอด การเช่าคอนโดฯ อยู่ก่อนเป็นการทดลองว่า เรามีไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับคอนโดฯ หรือไม่ แตกต่างจากอยู่บ้านอย่างไร ก่อนตัดสินใจซื้อคอนโดฯ เป็นของตัวเอง

ใครเหมาะกับการซื้อหรือเช่าคอนโดฯ

For rent sign, renting a house apartment or other real estate banner. Home room or flat to let
หากตอนนี้กำลังตัดสินใจว่า จะซื้อคอนโดฯ ดีหรือไม่นั้น มี 3 เรื่องที่แนะนำให้พิจารณา คือ
(1) “อายุงาน” ควรมีอายุงานอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป เพื่อแสดงถึงความมั่นคงในหน้าที่การงาน
(2) “รายได้” เพียงพอกับค่าผ่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยค่าผ่อนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน
และ (3) “เงินเก็บ” เตรียมไว้จ่ายตอนรับโอนคอนโดฯ ประมาณ 20% ของราคาคอนโดฯ
แนะนำว่า หากเป็นคนที่เพิ่งทำงานมีโอกาสเปลี่ยนย้ายงานบ่อย รายได้ไม่สูงนักหรือยังไม่แน่นอน รวมถึงยังไม่มีเงินก้อนสำหรับดาวน์คอนโดฯ หรือเตรียมไว้จ่ายตอนรับโอนคอนโดฯ จะเหมาะกับการเช่าคอนโดฯ
แต่หากเป็นคนที่ทำงานมาสักพัก ไม่มีแผนเปลี่ยนงานในอนาคตอันใกล้ หรือตั้งใจไว้ว่าแม้โยกย้ายงานก็อยู่ในเส้นรถไฟฟ้า สามารถอยู่คอนโดฯ เดิมได้ มีรายได้สูงเพียงพอกับค่าผ่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สามารถซื้อคอนโดฯ เพื่อเป็นทรัพย์สินของตัวเอง
ก่อนจะซื้อคอนโดฯ ควรพิจารณาให้ดีว่า ถ้ากู้ผ่านแล้ว มีกำลังผ่อนไหวไปตลอดไหม และคิดถึงอนาคตด้วยว่ามีโอกาสสร้างครอบครัวและซื้อบ้านในอนาคตอันใกล้หรือไม่ เพราะการมีภาระผ่อนคอนโดฯ อยู่อาจเป็นอุปสรรคของการซื้อบ้านหลังใหม่ได้
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้านคอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย ราชันย์ ตันติจินดา CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ