การสร้างความร่ำรวย คนมักมองว่าต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเยอะ ๆ แต่วันนี้เราจะมาคุยกันด้วยเรื่องของการหาทรัพย์ถูกใจ ในราคาน่าพอใจ เพื่อจะได้มีเงินเหลือไปใช้ในสิ่งที่อยากใช้
ถ้าคุณกำลังมองหาอาคารพาณิชย์ โรงงาน หรือบ้านในทำเลดี ๆ เช่น อยู่กลางเมือง ย่านเศรษฐกิจ แต่ทำเลแถวนั้นราคาแพงมาก มองหากันจนถอดใจ K-Expert แนะนำให้ลองหันมามองทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร หรือที่เรียกว่า NPA กัน
เลือกให้ดี
1. หาซื้อได้ที่ไหน
• คุณสามารถค้นหา บ้านรอการขาย จากเว็บไซต์ทรัพย์สินรอการขายของธนาคารต่าง ๆ
• ติดต่อสาขาธนาคารทั่วประเทศ หรือ หากคุณเป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจก็สามารถติดต่อผู้ดูแลความสัมพันธ์ของคุณได้
• ติดต่อสาขาธนาคารทั่วประเทศ หรือ หากคุณเป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจก็สามารถติดต่อผู้ดูแลความสัมพันธ์ของคุณได้
2. ดูอย่างไร
• ถามให้ครบก่อนซื้อ หลังจากเลือกทำเลที่ต้องการ และเลือกบ้านหรือโรงงานที่สนใจแล้ว ควรโทรไปถามรายละเอียดกับธนาคาร เช่น บ้านมีคนอาศัยอยู่หรือไม่ โรงงานปัจจุบันยังใช้งานอยู่หรือร้าง ต้องฟ้องให้เขาออกไหม บริเวณโดยรอบเป็นอะไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง รวมถึงถามประวัติความเป็นมาของบ้านเดิมเพื่อความสบายใจ
• ขอนัดดูภายใน โครงสร้างอาคารต้องคงสภาพเดิม ไม่ร้าว ไม่ทรุด มีองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ครบ มาเพิ่มเติมภายหลังได้หรือไม่ หากโครงสร้างบ้านยังดี แต่สภาพเก่า ลองสำรวจ และจดบันทึกไว้ว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เช่น ทาสีใหม่ทั้งหลัง อย่าคิดแบบตระหนี่เกินไป เพราะส่วนใหญ่งบมักบานปลาย เอาเข้าจริง พอไปเดินดูของก็อยากได้แบบที่สวยกว่า (สวยกว่า ๆ และสวยสุด ๆ) หรือถ้าให้ง่ายสุด วันนัดดูภายในบ้าน พาผู้รู้ หรือช่างปรับปรุงบ้านไปดูพร้อมกันเลย
• สภาพแวดล้อม เดินทางสะดวกหรือไม่ สิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นอย่างไร ลองวนไปดูวันธรรมดา วันหยุด ทั้งช่วงกลางวัน และกลางคืน แล้วตอบตัวเองว่าตอบโจทย์คุณหรือไม่
รีโนเวทให้ปัง
1. อยากได้บ้าน หรือ ออฟฟิศแบบไหน หารูปที่ชอบ
หากชอบหลายรูป ก็เอามาให้หมด แล้วค่อยมาเลือกอีกที โดยควรมีรูปให้ผู้รับเหมา หรือช่างดู จะได้เข้าใจตรงกัน ไม่ต้องมาทะเลาะกันภายหลัง
2. เปรียบเทียบภาพในฝัน กับ ทรัพย์ NPA ที่เราเลือก
คิดดูว่าต้องเปลี่ยน รื้อ หรือต่อเติมอะไรบ้าง ถ้าเน้นประหยัด อะไรพอคงไว้ได้ ก็ Mix and Match ไป แต่ถ้าภาพในฝันต่างจากสภาพปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ก็คิดดูอีกทีว่าคุ้มที่จะรีโนเวทไหม (คุ้มเรื่องเงิน หรือดีต่อใจ อันนี้แล้วแต่ชอบเลยนะ)
3. ต้นทุนรีโนเวทมี 2 แบบคือ
• ถ้าทำไม่เยอะ แค่ทาสี เปลี่ยนกระเบื้อง อาจเลือกซื้อวัสดุเอง แล้วหาช่างมาทำให้ ก็อาจจะประหยัดกว่า เทคนิคการซื้อวัสดุคือ ควรซื้อของจากที่เดียวกัน เพราะอาจมีส่วนลดให้ทั้งค่าของและค่าแรง เช่น เตาแก๊สบางรุ่น ซื้อพร้อมเครื่องดูดควัน หรือซื้อสุขภัณฑ์เป็นเซ็ต ได้ส่วนลดไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าอยากได้ของชิ้นไหนที่เกินงบ ก็ต้องไปลดสเป็คของชิ้นอื่นแทน บอกตัวเองว่าพยายามอย่าให้เกินงบ
• ถ้าไปแตะโครงสร้าง งานระบบไฟฟ้า ประปา แนะนำให้จ้างผู้รับเหมาดีกว่า โดยเฉพาะงานอาคารโรงงาน หรือ สำนักงานเพื่อจะได้เป็นการรีโนเวทที่ปลอดภัย และถูกต้องตามกฏหมาย ทั้งนี้ ลองเปรียบเทียบหลายๆ ราย ทั้งข้อมูลจากที่คนอื่นรีวิว และราคา เป็นทางเลือก (ท่องไว้ว่า งบประมาณ = ราคาซื้อ + ค่าใช้จ่ายในการซื้อ + ค่า Renovate)
*** ที่สำคัญ ควรหาความรู้ในการรีโนเวทไว้ด้วยนะ จะได้คุยกับผู้รับเหมา หรือช่างรู้เรื่อง
NPA ราคาเท่าไหร่ ถึงจะไม่แพง
1. หาราคาตลาด เพื่อเปรียบเทียบราคาที่จะซื้อ
• ดูจากเว็บไซต์ขายอสังหาฯ หรือที่มีประกาศขายบ้านหรืออาคารที่อยู่ในบริเวณเดียวกับทรัพย์ NPA ที่เราจะซื้อ (เลือกดูรายการที่มีรายละเอียดใกล้เคียงกัน รวมถึงราคาทรัพย์หรือบ้านใหม่ด้วย)
• วันที่ลงไปดูสภาพทรัพย์ NPA ลองถามคนแถว ๆ นั้นว่า ทรัพย์ใหม่เขาซื้อขายกันเท่าไหร่
• ถ้าจะซื้อที่ดินเปล่า แค่ค้นหาคำว่า “เช็กราคาที่ดิน” หรือตรวจสอบราคาประเมินกรมที่ดินจากเว็บไซต์ กรมธนารักษ์ property.treasury.go.th
2. ค่ารีโนเวทของคุณอยู่ที่เท่าไหร่
ถ้ามีช่างประเมินให้ก็ง่าย แต่ถ้าไม่มี ลองค้นหาคำว่า “งบ Renovate” แล้วดูว่าเขาปรับปรุงพอ ๆ กับเราหรือเปล่า มันไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นกับความพอใจของคุณเลย
3. ค่าใช้จ่ายในการซื้ออีกเท่าไหร่
โดยอาจมีอีก 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายธนาคาร อาทิ ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน ค่าอากรแสตมป์ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย
ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสำนักงานที่ดิน อาทิ ค่าอากรแสตมป์ ค่าโอน ค่าจำนอง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมแล้วควรสำรองไว้ประมาณ 5-6% ของราคาซื้อขาย
ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสำนักงานที่ดิน อาทิ ค่าอากรแสตมป์ ค่าโอน ค่าจำนอง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมแล้วควรสำรองไว้ประมาณ 5-6% ของราคาซื้อขาย
ราคาสูงสุดที่ควรซื้อ = ราคาตลาดสภาพใหม่ – งบรีโนเวท – ค่าใช้จ่ายในการซื้อ
ในช่วงที่เศรษฐกิจอาจเป็นอุปสรรคกับใครหลายคน ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดต่ำลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าต่ำกว่าที่ผ่านๆ มา น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดี สำหรับคนที่มีเงินเก็บและมีกำลังเพียงพอซึ่งต้องการมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย จุฑากาญจน์ แก้วตาทิพย์ CFP®ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com