หลังจากโควิด-19 วนเวียนอยู่รอบตัวเรามาสักพัก หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัย ถือเป็นสิ่งของจำเป็นราวกับปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ในรอบปีที่ผ่านมามีความพยายามของนักสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกที่จะส่งต่อข้อมูลการเก็บ กำจัด และการทิ้งหน้ากากอนามัยเหล่านี้ให้ถูกต้อง เพื่อลดปัญหาในการปนเปื้อนของเชื้อโรค และย้อนกลับไปเป็นปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
พาดหัวข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์ที่เราได้มีโอกาสเห็น ได้สะท้อนความจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ เมื่อกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปีนี้ ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่พบในรูปแบบของหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ปะปนมากับขยะอื่น ๆ ในบ้าน เห็นได้ชัดเจนว่า วันนี้ปลายทางของขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนกำลังเบียดบังธรรมชาติ
หน้ากากอนามัยถูกทิ้งลงสู่ทะเล มากถึง 1.5 พันล้านชิ้น

ขณะที่องค์กรอนุรักษ์ OceansAsia ได้ทำงานวิจัยปริมาณหน้ากากอนามัยที่มีแนวโน้มถูกทิ้งลงสู่ทะเลเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากถึง 1.5 พันล้านชิ้น คิดเป็นน้ำหนักเท่ากับพลาสติก 4,680-6,240 เมตริกตัน
นอกจากนั้น บทความจากนักชีววิทยาทางทะเล ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังบอกเล่าถึงการพบหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ทิ้งอยู่ตามหาดทรายทะเลใต้ในบ้านเรา ซึ่งแน่นอนว่าในอีกไม่นานนักมันก็จะถูกพัดพาลงสู่ทะเลเป็นภาระให้กับระบบนิเวศ และสัตว์ทะเลอีกไม่น้อย
“ในฐานะผู้บริโภค และผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขยะติดเชื้อเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโลก หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเราจะจัดการกับขยะเหล่านี้ได้อย่างไร และจัดการแบบไหนจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่สำคัญ ปลอดภัยมากที่สุด และเพื่อป้องกันไม่ให้ปลายทางของขยะเหล่านี้ ไปอยู่ที่ แม่น้ำ ทะเลสาป หรือมหาสมุทร” เอริน ซิมมอน หัวหน้าฝ่ายจัดการพลาสติกและภาคธุรกิจจาก WWF ให้สัมภาษณ์ไว้ และยังเน้นย้ำอีกว่า จริง ๆ แล้ว เป้าหมายของนักอนุรักษ์อย่างเรา ๆ ไม่ได้มองที่การหาวัสดุทดแทนหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ด้วยตระหนักถึงความปลอดภัยและมาตรฐานทางสาธารณสุข “มันอยู่ที่เราจะทิ้งมันอย่างไรให้ถูกต้องมากกว่า” เธอบอกเช่นนั้น
วันนี้ในฐานะองค์กรสิ่งแวดล้อม WWF จึงขอวิงวอนไปยังทุกท่าน ให้ยุดคิดสักนิดก่อนที่จะทิ้งหน้ากากที่เราใช้ในแต่ละวัน เพราะตัวหน้ากากอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทั้งจากผู้อื่น และเชื้อโรคที่ผู้สวมใส่เองสัมผัส โดยขอให้พวกเราศึกษาวิธีการใช้ และทิ้งหน้ากากที่ถูกต้องและถูกหลักอนามัย 6 ข้อ
ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ถูกต้อง

- ล้างมือให้สะอาดก่อนถอดหน้ากากอนามัย
- จับสายรัด 2 ข้างเเล้วถอดออก โดยไม่ใช้มือสัมผัสกับตัวหน้ากาก
- พับหรือม้วนหน้ากากให้ส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าด้านใน แล้วใช้สายรัดพันให้แน่น
- นำหน้ากากอนามัยใส่ซองปิดสนิท หรือใส่ถุงแล้วรัดปากถุงให้แน่น ป้องกันการกระจายของเชื้อ
- ทิ้งลงถังขยะติดเชื้อ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
- ล้างมือให้สะอาดหลังทิ้งหน้ากากอนามัยเรียบร้อยเเล้ว
(ขอขอบพระคุณคำแนะนำ และข้อมูลจาก สสส.)
นอกจากจะเก็บทิ้งอย่างถูกวิธีแล้ว สถานที่ทิ้งก็มีส่วนสำคัญ โดยในกรุงเทพมหานคร ได้มีการมอบหมายให้สำนักงานเขตทุกแห่ง จัดวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (ถังสีส้ม) พร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด ได้แก่ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า และดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ รวมถึงสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และเคหะชุมชนต่าง ๆ โดยเราสามารถรวมรวมหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพื่อไปทิ้งยังจุดดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป
วิถีชีวิตของพวกเราที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค อาจทำให้เราต้องปรับตัว แต่ก็ทำให้เราสร้างรูปแบบการปฏิบัติแบบใหม่ บนพื้นฐานของสุขอนามัยที่ดีขึ้น ในฐานะองค์กรอนุรักษ์ WWF หวังว่าวิถีชีวิตรูปแบบใหม่นี้จะติดตัวเป็นวิธีการปฏิบัติ เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขและสุขภาพของพวกเราดีขึ้นได้อีกในอนาคตเช่นกัน
บทความโดย คุณดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้บริหารฝ่ายสื่อสารองค์กร WWF ประเทศไทย ท่านสามารถศึกษาข้อมูลของโครงการอนุรักษ์ต่างๆ และความเคลื่อนไหวขององค์กรได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/wwfthailand
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ