อยากมีบ้านสักหลัง ซื้อบ้านหลังใหญ่เลยดีหรือไม่

DDproperty Editorial Team
อยากมีบ้านสักหลัง ซื้อบ้านหลังใหญ่เลยดีหรือไม่

“กู้ซื้อบ้านไม่เกินกำลังที่ผ่อนไหว โดยอัตราผ่อนบ้านที่แนะนำ คือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน”

บ่อยครั้งที่คนส่วนใหญ่ตั้งใจจะซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ แต่พอดูไปดูมา อยากได้บ้านหลังใหญ่ขึ้นจนไปหยุดตรงที่ความสามารถในการกู้ได้สูงสุด โดยลืมไปว่างบประมาณที่ตั้งไว้ตอนแรกเพียงบ้านหลังเล็ก ๆ ผ่อนสบาย ๆ เท่านั้น หากใครที่กำลังจะซื้อบ้าน แล้วอยากได้บ้านหลังใหญ่ขึ้น แถมราคาก็สูงขึ้นด้วย K-Expert ธนาคารกสิกรไทย แนะนำพิจารณาให้รอบคอบดังนี้

ปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนซื้อบ้านหลังใหญ่

หากต้องการซื้อบ้านหลังใหญ่ มีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องพิจารณาดังนี้

1. ช่วงชีวิต

คนส่วนมากเลือกซื้อบ้านตามไลฟ์สไตล์ เช่น คนโสดที่อยู่บ้านกับพ่อแม่ อาจต้องการมีคอนโดฯ ใกล้ที่ทำงาน เพื่อเดินทางสะดวก เมื่อแต่งงานมีครอบครัว คอนโดฯ ก็ยังพออยู่กัน 2 คนได้ แต่เมื่อเริ่มมีลูก คอนโดฯ ที่อยู่เริ่มคับแคบ ก็หาทางขยับขยายเป็นทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านเดี่ยว ดังนั้น บางทีแล้ว บ้านหลังใหญ่อาจเหมาะกับครอบครัวที่วางแผนมีลูก หรือมีญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่ด้วยกันหลายคน

2. ความมั่นคงสม่ำเสมอของรายได้

เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกว่า เมื่อเป็นหนี้ จะสามารถชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น มนุษย์เงินเดือนมีรายได้ประจำ อาจพิจารณาบริษัทที่ทำงานอยู่มีความมั่นคงเพียงใด หากมีอาชีพเสริมด้วย ต้องดูว่าสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอหรือไม่ และคิดเผื่อด้วยว่า หากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้พิเศษส่วนนี้จะลดลงหรือไม่
สำหรับเจ้าของธุรกิจ โอกาสสร้างรายได้ให้ตัวเองมีสูง แต่อย่าลืมเรื่องความเสี่ยงที่สูงด้วย ให้พิจารณาความสม่ำเสมอของรายได้ในแต่ละเดือน ยิ่งเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจได้สัก 2-3 ปี รายได้มักไม่แน่นอน ให้ลองคำนวณรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน และแนวโน้มธุรกิจว่าสามารถสร้างรายได้ดีต่อเนื่องหรือไม่

3. รายจ่ายในอนาคต

ลองดูว่าอนาคตมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้น เช่น ดูแลคนในครอบครัวพ่อ แม่ลูก กู้ซื้อรถยนต์คันใหม่ หรืออย่างคู่แต่งงานข้าวใหม่ปลามัน อาจต้องเผื่อค่าใช้จ่ายของลูกด้วย ทั้งค่าใช้จ่ายในการคลอด ค่าเล่าเรียน ค่าเลี้ยงดูรายเดือน
via Pixabay

ข้อดี/ข้อควรระวังของการซื้อบ้านหลังใหญ่

แน่นอนว่า บ้านหลังใหญ่มักดึงดูดความสนใจจากคนที่กำลังมองหาบ้านสักหลังหนึ่ง ด้วยพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น ถ้าครอบครัวไหนมีเด็กหรือมีผู้สูงอายุ บ้านที่มีบริเวณเยอะ ๆ ก็จะมีพื้นที่ให้เด็กวิ่งเล่น หรือผู้ใหญ่ได้ออกกำลังกาย ทำสวน ปลูกต้นไม้ ซึ่งข้อดีของบ้านหลังใหญ่คือ ราคาบ้านและที่ดินส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี เท่ากับว่า ถ้าอนาคตต้องการซื้อบ้านหลังใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีโอกาสใช้เงินจำนวนที่มากขึ้นนั่นเอง
สำหรับข้อควรระวังของการซื้อบ้านหลังใหญ่ คือ ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน ปกติธนาคารจะกำหนดอัตราการผ่อนชำระหนี้ของผู้กู้ไว้ที่ 40-60% ของรายได้ต่อเดือน โดยผู้ที่มีรายได้สูงสามารถมีอัตราการผ่อนที่สูงขึ้นได้ แต่หากถามอัตราการผ่อนชำระหนี้ที่ K-Expert มองว่าเหมาะสม คือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน
เพราะการซื้อบ้าน ไม่ได้มีแค่ค่าผ่อนรายเดือนเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าส่วนกลาง ค่าน้ำไฟ ค่าประกัน ค่าตกแต่งซ่อมแซม ยิ่งบ้านหลังใหญ่ด้วยแล้ว ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงกว่าบ้านหลังเล็ก เห็นได้ชัดอย่างค่าส่วนกลางที่คิดตามพื้นที่ใช้สอยของขนาดบ้านหรือคอนโดฯ
การกู้ซื้อบ้านอย่าคิดเพียงว่า ”น่าจะผ่อนไหว” เดี๋ยวรายได้ก็เพิ่มขึ้น ประหยัดนิดหน่อยน่าจะพอส่งไหวอยู่ ต้องบอกว่า แม้ว่าจะกู้บ้านผ่าน (ธนาคารอนุมัติสินเชื่อ) ก็ไม่ได้หมายความว่า จะผ่อนไหวไปตลอด เพราะบ้านหลังใหญ่ ราคาย่อมสูงขึ้น ค่าผ่อนต่อเดือนก็มักสูงตาม คนส่วนใหญ่ที่อยากได้บ้านหลังใหญ่ โดยลืมดูกำลังความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน ภาระทางการเงินอื่น ๆ รวมถึงเงินเก็บที่มีอยู่ มีโอกาสทุกข์ใจจากการผ่อนบ้านไม่ไหวได้
ลองดูตัวอย่างของการผ่อนบ้านครึ่งหนึ่งของรายได้ บ้านราคา 3 ล้านบาท กู้ร่วม 2 คนโดยมีรายได้รวมกันประมาณ 4 หมื่นบาท ผ่อนเดือนละ 2.1 หมื่นบาท ดูเหมือนไม่ได้หนักหนาอะไร ยังมีเงินให้ใช้จ่ายแต่ละเดือนอีกประมาณ 2 หมื่นบาท
แต่หากคิดคำนวณดี ๆ จะเห็นว่าแต่ละเดือนใช้จ่ายได้ไม่ถึงคนละ 1 หมื่นบาท เพราะต้องหักเงินสำหรับค่าส่วนกลาง ค่าน้ำไฟ ฯลฯ ที่เหลือคือค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่ากิน ค่าเดินทาง หากไม่ประหยัด อาจไม่พอใช้จ่าย หรือผ่อนบ้านไม่ไหวก็ได้
Money Saving concept

คำแนะนำในการเลือกซื้อบ้าน

การซื้อบ้าน ควรมีการวางแผนแต่เนิ่น ๆ อย่าคิด “ไปตายเอาดาบหน้า” อันดับแรก ผ่อนบ้านไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เช่น ผ่อนบ้านเดือนละ 2 หมื่นบาท ควรมีรายได้เดือนละประมาณ 6-7 หมื่นบาท จะได้ไม่หนักเกินกำลังความสามารถ
เรื่องที่สอง ทยอยเก็บเงินดาวน์เท่ากับยอดผ่อนชำระค่าบ้านจริง เช่น บ้านราคา 3 ล้าน ผ่อนบ้านเดือนละ 2 หมื่นบาท ก็ให้ทดลองเก็บเงินทุกเดือนสำหรับเป็นเงินดาวน์บ้านเดือนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งจะช่วยประเมินความสามารถในการผ่อนได้ เพราะหากเก็บไม่ไหว หรือเก็บได้บ้างไม่ได้บ้าง จะได้รู้ตัวแต่เนิ่น ๆ มองหาบ้านที่ราคาต่ำกว่านี้อยู่ในระดับความสามารถที่ผ่อนได้จริง
ที่สำคัญ ควรมีเงินสำรองไว้เผื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เผื่อเจ็บป่วย รถพัง บ้านเสียหาย ว่างงานขาดรายได้ จะได้มีเงินสำรองใช้จ่าย ไม่กระทบการผ่อนบ้านมากนัก
สำหรับผู้ที่อยากได้บ้านหลังใหญ่ ถ้ามีวินัยการใช้จ่ายเงิน มีเงินเก็บสามารถใช้ได้ยามฉุกเฉิน หรือขยันทำงานมากขึ้น รับงานพิเศษ อาจไม่มีปัญหานักกับการผ่อนบ้าน แต่ถ้าวินัยการเงินไม่ดีพอ หรือเศรษฐกิจหดตัวแรง ๆ เงินช็อต งานพิเศษไม่มี โอทีไม่ได้ ซึ่งต้องคิดเผื่อในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดแบบนี้ไว้ด้วย เพราะมีโอกาสสูงที่จะผ่อนไม่ไหวและนำมาสู่การยึดทรัพย์เพื่อชำระเงินกู้ได้
การเลือกซื้อบ้านที่เหมาะสม ควรเป็นบ้านที่อยู่แล้วมีความสุข ผ่อนสบายไม่หนักกระเป๋า เพราะหากซื้อบ้านหลังใหญ่ แต่ผ่อนเกินกำลัง ต่อให้สุขกายที่ได้อยู่บ้านหลังใหญ่ ก็คงไม่สุขใจกับปัญหาผ่อนไม่ไหวที่อาจตามมา
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้าน คอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย คนอง ศรีพิบูลพานิชย์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com