หลังจากมีการจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ในช่วงต้นปี 2562 ล่าสุด คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ก็มีมติให้ทบทวนร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ของปี 2562 อีกครั้ง เพื่อเตรียมประกาศใช้ผังเมืองใหม่ในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทำเลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ผู้อยู่อาศัยหรือใครที่มีแผนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ จึงต้องเตรียมตัวไว้ให้ดี
ผังเมืองใหม่กรุงเทพฯ ที่จะใช้ปี 2563 มีอะไรเด่น
ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ในปี 2562 เป็นผังเมืองใหม่ที่ออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิดในการพัฒนาเมืองอย่างไร้รอยต่อ โดยผสมผสานระหว่างที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจการค้า และแหล่งสร้างงานไว้ในพื้นที่เดียวกัน และออกแบบผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 12 สายทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ความเปลี่ยนแปลงล่าสุดของผังเมืองกรุงเทพฯ
เน้นพื้นที่ตามถนนสายหลักมากขึ้น
จากเดิมที่ผังเมืองกรุงเทพฯ จะเน้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า แต่การทบทวนครั้งใหม่จะเน้นการการพัฒนาพื้นที่ตามแนวถนนสายหลักให้มากขึ้น รวมทั้งพื้นที่รอบโครงการถนนสายใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็จะได้รับการพัฒนาตามผังเมืองใหม่ไปพร้อมกันด้วย
พัฒนาพื้นที่ย่านหลักสี่และสะพานใหม่
ย่านหลักสี่และสะพานใหม่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนเมืองแห่งใหม่ เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชมพู และแดงพาดผ่านถึง 3 สาย มีถนนวิภาวดีรังสิตและพหลโยธิน ซึ่งเป็นถนนสายหลักพาดผ่าน และยังเป็นย่านที่อยู่ติดกับสนามบินดอนเมืองอีกด้วย
พัฒนาพื้นที่ย่านรามอินทราและมีนบุรี
พื้นที่ตลอดแนวถนนรามอินทราและย่านมีนบุรีจะถูกปรับโซนใหม่ตามกฎหมายผังเมือง โดยพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีส้มในรัศมี 1 กิโลเมตร จะถูกปรับเป็นโซนสีแดงและสีส้ม เพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ความหนาแน่นสูง
ผสมผสานที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และแหล่งงาน
การทบทวนผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่จะปรับพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อไม่ให้มีแต่การพัฒนาคอนโดและที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่จะกำหนดให้มีพื้นที่เพื่อการพัฒนาในเชิงพาณิชย์และแหล่งงานใหม่ ๆ ผู้อยู่อาศัยจะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานแต่ในย่านใจกลางเมืองเพียงอย่างเดียว
ปักหมุดแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ
การพัฒนาพื้นที่ใหม่จะทำให้แลนด์มาร์คเดิม เช่น วัดพระศรีมหาธาตุ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระปกเกล้า สกายปาร์ค แลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ บนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะอยู่ในผังเมืองใหม่อีกด้วย
ทำเลที่น่าสนใจในผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่
สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
สถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นจุดตัดระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีชมพู และเชื่อมต่อระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนรามอินทรา และถนนแจ้งวัฒนะ พื้นที่นี้จึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทาง โดยผังเมืองใหม่จะพัฒนาให้ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือ
สถานีสายหยุด
ตามแผนการทบทวนผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ พื้นที่รอบสถานีสายหยุดจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง โดยมีการเปิดโซนพื้นที่สีส้มและสีแดงเพื่อเปิดทางให้มีการก่อสร้างคอนโดใหม่ ๆ และมีโครงการก่อสร้างถนนเส้นใหม่ท้ายสนามบินดอนเมือง เพื่อเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิตอีกด้วย
ย่านสะพานใหม่
ย่านสะพานใหม่จะถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ในผังเมืองผังเมืองกรุงเทพฯ โดยมีสถานีหลักสี่เป็นจุดศูนย์กลางในการเดินทาง และมีตลาดยิ่งเจริญเป็นจุดศูนย์การของย่านการค้า โดยมีแผนจะปรับปรุงอาคารและพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้มีความหลากหลายและทันสมัยยิ่งขึ้น
ย่านรามอินทรา
เนื่องจากถนนรามอินทราทั้งสายถูกปลดล็อกพื้นที่เป็นโซนสีส้มและสีแดงที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นสูงขึ้น เพื่อรองรับการมาของรถไฟฟ้าสายสีชมพู พื้นที่ย่านรามอินทราจึงคึกคักไปด้วยโครงการคอนโดและสำนักงานตึกสูงใหม่ ๆ และยังเพิ่มมูลค่าที่ดินของบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมในพื้นที่โดยรอบเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ยังทำให้ทำเลอีกหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ เกิดการเปลี่ยนแปลง และเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ เช่นเดียวกัน
ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงรายละเอียดที่อยู่ในระหว่างการทบทวน ก่อนจะประกาศใช้ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ในปี 2563 นี้ แต่ที่แน่ ๆ ผังเมืองใหม่กรุงเทพฯ จะเข้ามาพลิกโฉมพื้นที่ของเมืองหลวงให้คึกคักมากขึ้น สอดรับกับระบบรถไฟฟ้าที่กำลังจะเปิดอีกหลายเส้นทางในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า