มาตรการรัฐ ซื้อบ้าน 2566 ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นซื้อหรือเช่าได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวเช่นนี้ ลองมาอัปเดตมาตรการรัฐที่เอื้อต่อการซื้อ-เช่าได้ที่นี่
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- บ้านล้านหลัง เฟส 3 วงเงินให้กู้ 1.5 ล้าน
- มาตรการรัฐลดค่าโอน-จดจำนอง
- ผ่อนคลายมาตรการ LTV กู้ซื้อบ้านได้ 100%
- ปรับเกณฑ์มาตรการ LTV เอื้อคนซื้อบ้านกรณีกู้ร่วม
บ้านล้านหลัง เฟส 3 วงเงินให้กู้ 1.5 ล้าน ดอกเบี้ย 3% คงที่ 5 ปี
โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 มีวงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้
– ให้กู้บ้าน ราคาซื้อ-ขาย/ค่าก่อสร้างและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อรายต่อหลักประกัน ทั้งประเภทบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือบ้านมือสอง หรือเพื่อปลูกสร้าง และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยพร้อมซื้อบ้านหรือคอนโด
– มีระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 40 ปี
– ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน (1,900-2,300 บาท) และค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง (1% ของวงเงินจำนอง)
– ดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก (เงินงวดคงที่นานถึง 60 งวดแรก) วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 4,100 บาท วงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 6,200 บาท
อัตราดอกเบี้ย
ปี | อัตราดอกเบี้ย |
ปีที่ 1-5 | 3.00% |
ปีที่ 6-7 | = MRR-2% ต่อปี |
ปีที่ 8-ตลอดอายุสัญญา (กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป) | = MRR-0.75% ต่อปี |
ปีที่ 8-ตลอดอายุสัญญา (กรณีลูกค้าสวัสดิการ) | = MRR-1% ต่อปี |
ปีที่ 8-ตลอดอายุสัญญา (กรณีกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ฯ) | = MRR (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.40% ต่อปี) |
ผ่อนปรนเงื่อนไขสมัครโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3
นอกจากนี้ ธอส. ยังได้ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าได้รับวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ สามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาแสดงให้กับธนาคารเพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มเติมได้
หากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Financial Literacy และออมอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ต่อไป
วิธีสมัครโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ได้มีเวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อ ธนาคารจึงเตรียมเปิดให้รับรหัสเข้าร่วมโครงการได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ผ่าน Mobile Application: GHB ALL GEN หรือ GHB ALL
โดยจะได้รับรหัส 10 หลัก (ตัวอักษร 3 หลัก และตัวเลข 7 หลัก) ทาง GHB Buddy ใน Line Application เพื่อนำมาประกอบการยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และทำนิติกรรมได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือก่อนกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหาก ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการแล้ว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ที่ G H Bank Call Center โทร. 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application: GHB ALL และเว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ประกาศขายบ้านเดี่ยว
ค้นหาโครงการบ้านเดี่ยวราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท หลากหลายทำเล
มาตรการรัฐลดค่าโอน-จดจำนอง
อีกหนึ่งมาตรการรัฐ ซื้อบ้าน 2566 ที่มีผลต่อผู้ซื้อบ้านอย่างมากคือการลดค่าโอน-ค่าจดจำนอง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566
โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% ของราคาประเมินหรือราคาขาย และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% จากยอดเงินกู้
สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา
รู้จักค่าธรรมเนียมโอนบ้านก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน
ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโดมีอะไรบ้าง เช็กได้ที่นี่
มาตรการ LTV ให้กู้เพิ่มได้ 10%
ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan-to-Value: LTV เพื่อช่วยให้ประชาชนกู้บ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงได้ง่ายขึ้น โดยมีเกณฑ์ดังนี้

1. ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้ง่ายขึ้นและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย โดยในการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท แม้ว่ายังคงเพดาน LTV 100% สำหรับสินเชื่อบ้าน
แต่ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกัน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัยจริง เช่น การตกแต่งบ้าน การซ่อมแซมหรือต่อเติม ซึ่งหนี้ส่วนนี้เมื่อกลายเป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกันจะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้แบบไม่มีหลักประกัน
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ดังนี้
- กรณีซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูงที่มีราคาซื้อขาย 1 ล้านบาท เดิมผู้กู้จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 900,000 บาท แต่เกณฑ์ใหม่จะทำให้ได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดได้ถึง 1,100,000 บาท
- กรณีซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีราคาซื้อขาย 1 ล้านบาท เดิมผู้กู้จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 950,000 บาท แต่เกณฑ์ใหม่จะทำให้ได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1,100,000 บาท
นอกจากนี้ กำหนดให้วางเงินดาวน์น้อยลงจาก 20% เป็น 10% สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
2. ผู้ที่จำเป็นต้องมีบ้าน 2 หลังที่มีวินัยในการผ่อนชำระหนี้สัญญาที่ 1 มาแล้วพอสมควร ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ขณะที่ยังคงส่งเสริมให้มีการออมก่อนกู้ โดยผ่อนเกณฑ์ให้การกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ต้องมีเงินดาวน์ 10% หากผ่อนชำระสัญญาที่ 1 มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี (จากเดิมกำหนด 3 ปี)
อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. ยังไม่ยกเลิกเพดาน LTV สำหรับการกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 เพราะจากข้อมูลพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้กู้ซื้ออาคารชุด 2 หลังพร้อมกันมีระยะห่างระหว่างการกู้สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ไม่ถึง 1 ปี สะท้อนว่าเป็นการกู้เพื่อเก็งกำไรมากกว่าเพื่ออยู่อาศัยจริง
ปรับเกณฑ์มาตรการ LTV เอื้อคนซื้อบ้านกรณีกู้ร่วม
จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย แต่เกิดผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่กู้ร่วม
ด้วยเหตุนี้อีกหนึ่งมาตรการรัฐ ซื้อบ้าน 2566 นั่นคือ ทาง ธปท. ได้พิจารณาผ่อนปรนการนับสัญญากรณีกู้ร่วม โดยถ้าผู้กู้ไม่มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ จะผ่อนปรนเสมือนยังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เพียงแค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
กู้ร่วม เรื่องต้องรู้ก่อนคิดซื้อบ้าน-คอนโดร่วมกัน
ก่อนตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้าน ซื้อคอนโด มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณควรรู้

กรณีที่มีการกู้ร่วม จะให้นับสัญญาการกู้ร่วมอย่างไร
กรณีที่มีการกู้ร่วมจะนับสัญญาอย่างไรนั้น ขอยกตัวอย่างดังนี้
กรณีที่ 1: ผู้กู้ A มีสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว 1 สัญญา และในครั้งนี้มาขอกู้ร่วมกับ B ซึ่ง B ยังไม่เคยกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาก่อน
กรณีที่ 2: ผู้กู้ A และ B กู้ร่วมมาก่อน และในครั้งนี้ B มาขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
หลักการนับสัญญาสำหรับการกู้ร่วมให้นับสัญญาตามผู้กู้ที่มีกรรมสิทธิ์บนที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลัก กล่าวคือ
ในกรณีที่ 1: หากทั้ง A และ B มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยสำหรับการกู้ร่วม ให้นับสัญญาการกู้ร่วมดังกล่าวเป็นสัญญาที่ 2 ของ A (LTV 90% หรือ 80%) แต่หากกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่กู้ร่วมในครั้งนี้เป็นของ B แต่เพียงผู้เดียว จึงถือว่าสัญญาการกู้ร่วมในครั้งนี้ เป็นสัญญาแรกของ B และไม่นับเป็นสัญญาที่ 2 ของ A
ในกรณีที่ 2: ในการกู้ร่วมครั้งแรก หาก A มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยแต่เพียงผู้เดียว จะนับสัญญาที่กู้ร่วมเป็นสัญญาแรกของ A โดยไม่นับเป็นสัญญาแรกของ B ดังนั้น ในการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ จะนับเป็นสัญญาแรกของ B แต่หากในการกู้ร่วมครั้งแรก B มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่อยู่อาศัยดังกล่าวด้วย ก็จะนับสัญญาการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ 2
รายละเอียดเพิ่มเติม: สนส.24/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ข้อ 18)
จะเห็นได้ว่าภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชน ด้วยมาตรการรัฐ ซื้อบ้าน 2566 ที่เอื้อให้คนมีบ้านได้ง่ายขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางภาครัฐจะสนับสนุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในมาตรการที่เคยได้รับความสนใจอย่างมาก อย่างโครงการบ้านหลังแรก
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า