หลายคนที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย ควรตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองก่อนด้วยการ “เช็กประวัติทางการเงิน” จะผ่านสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการ หรือจะตรวจโดยตรงที่สาขาต่างๆ ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดก็ได้ เพื่อตรวจสอบดูว่าเรามีหนี้ค้างชำระอะไรหรือไม่ หรือมีบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดทั้งหมดกี่ใบ บัตรใบไหนที่ไม่จำเป็นแล้ว ก็ควรยกเลิกหรือไม่?
นอกจากนี้ คนที่เคยค้างชำระหนี้สินเชื่อต่างๆ หลังจากที่จัดการเคลียร์หนี้สินเรียบร้อยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีความต้องการจะซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะประเภทบ้าน คอนโดมิเนียม และทาวน์เฮ้าส์ทาวน์โฮมอะไรก็ตามแต่ แต่ไม่มั่นใจว่า ประวัติหนี้สินค้างชำระเหล่านั้นยังคงอยู่ในรายงานประวัติทางการเงินของเราหรือไม่ ก็แนะนำว่าควรที่จะตรวจสอบประวัติทางเงินให้แน่ใจ หรือให้สบายใจกันไปเลยว่า ถ้าฉันจะต้องยื่นขอสินเชื่อรอบใหม่จะมีโอกาสได้รับการอนุมัติหรือไม่?
ทำไมถึงควรจะตรวจสอบประวัติทางการเงินก่อนขอยื่นกู้ ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมแผนด้านการเงินให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจจองซื้อที่อยู่อาศัย เพราะคนส่วนใหญ่เวลาที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ก็จะตัดสินใจทันทีที่โครงการเลย ถ้าเป็นบ้านพร้อมอยู่ก็จ่ายเงินจอง เงินดาวน์อาจจะ 2-3 เดือน ควบคู่กับการยื่นสินเชื่อบ้าน ซึ่งถ้ากู้ไม่ผ่าน เพราะมีประวัติทางการเงินไม่ดี แม้ว่าจะโครงการจัดสรรส่วนใหญ่จะคืนเงินให้กรณีที่ยื่นกู้ไม่ผ่านมา แต่ก็จะทำให้เราทั้งเสียเวลาและเสียโอกาสที่จะได้บ้านหลังที่เราถูกใจ
ยิ่งกรณีการผ่อนดาวน์คอนโดมิเนียม จะใช้ระยะเวลานานขึ้นอีกอย่างน้อย 12 เดือน ยิ่งทำให้เราเสียโอกาส เพราะถ้าเราจองเลย โดยที่ไม่รู้ประวัติทางการเงินของตัวเอง หรือผู้กู้ร่วม จองไป ผ่อนดาวน์ไปนานถึง 12 เดือน ปรากฏว่าถึงเวลาตึกเสร็จ ต้องยื่นกู้เพื่อซื้อบ้าน แล้วไม่ผ่านจากการที่มีรายงานประวัติทางการเงินไม่ดี แม้จะได้เงินคืน แต่ผ่านมา 12 เดือนแล้ว ราคาคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ขึ้นไปแล้ว จะไปจองโครงการใหม่ ก็เอื้อมถึงยากแล้ว นี่คือสิ่งที่เราเสียโอกาส
ถ้าเราตรวจสอบประวัติทางการเงินก่อน ทั้งผู้กู้หลัก กู้ร่วม จะทำให้ผู้กู้รู้ประวัติทางการเงินที่ผ่านมาทั้งหมด ประวัติปกติ หรือประวัติค้างชำระยังอยู่ ถ้าในรายงานประวัติทางการเงินเป็นประวัติปกติ โอกาสที่จะกู้ผ่านก็สูง แต่ถ้าในรายงานมีประวัติค้างชำระ ก็อาจจะเสี่ยงที่จะกู้ไม่ผ่าน
ทีนี้หลายคนคงอยากจะรู้ว่าข้อมูลเครดิตที่แสดงถึงประวัติทางการเงินประกอบด้วยอะไรบ้าง โดยข้อมูลเครดิต คือ ประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และจะปรากฎในรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดู เรียกว่า สินเชื่อทุกประเภทที่ได้รับอนุมัติ ประวัติการชำระสินเชื่อ และประวัติการชำระบัตรเครดิตจะแสดงอยู่ในรายงานหมด แต่ไม่ได้รวมถึง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ต่างๆ
สำหรับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ NCB เป็นหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลการชำระสินเชื่อทุกรูปแบบ โดยสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อที่เป็นสมาชิกของ NCB ก็จะมีหน้าที่ส่งข้อมูลการอนุมัติสินเชื่อทุกอย่าง และประวัติการชำระหนี้สินเชื่อให้กับ NCB เพื่อจัดเก็บ
ในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้และค้างชำระเกิน 90 วัน
สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลสินเชื่อคงค้างให้บริษัทข้อมูลเครดิตต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน
ขณะที่บริษัทข้อมูลเครดิตจะเก็บข้อมูลเครดิตที่ได้รับจากสถาบันการเงินไว้ในฐานข้อมูลต่อไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่บริษัทข้อมูลเครดิตได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงิน
สำหรับการรายงานข้อมูลการชำระสินเชื่อ
– กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีเป็น "ปกติ"
– กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตเช่นกัน
– กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีเป็น "ปกติ"
– กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตเช่นกัน
ส่วนคำที่ได้ยินติดหูว่า ติด Blacklist ติดบัญชีดำในเครดิตบูโรนั้น ก็เป็นคำสั้นๆ ที่คนทั่วไปใช้นิยามกันเองกรณีที่ยังมีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่ดีอยู่ในรายงาน เพราะในรายงานข้อมูลเครดิตจะไม่มีคำว่า ติด Blacklist ระบุไว้
ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้านนั้น เจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อก็จะพิจารณาข้อมูลจากในรายงานข้อมูลเครดิต ซึ่งใช้หลายข้อมูลประกอบกัน หลายคนที่แม้ว่าประวัติทางการเงินดี “บัญชีเป็นปกติ” แต่เอ๊ะ ทำไมกู้ไม่ผ่าน เป็นไปได้ว่า ในรายงานข้อมูลเครดิตได้รายงานไว้ว่าผู้กู้มีบัญชีสินเชื่อที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระอยู่หลายรายการ เจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อก็จะประเมินว่าผู้กู้มีภาระหนี้สูงเกินไป ไม่เหมาะที่จะมีหนี้เพิ่มแล้ว ก็อาจจะไม่อนุมัติ หรืออนุมัติให้ไม่ตามวงเงินที่ผู้กู้ต้องการ
ดังนั้น การตรวจสอบประวัติทางการเงินและข้อมูลเครดิตก่อน จึงไม่ใช่แค่ดูว่า มีประวัติหนี้ค้างชำระหรือไม่ แต่เราก็จะถือโอกาสทบทวนตัวเองด้วยว่า ปัจจุบันเรามีสินเชื่ออะไรที่ผ่อนชำระอยู่บ้าง ยังเหลือหนี้อีกเท่าไร ควรจะปิดหนี้สินเชื่อรายการไหนก่อนที่จะยื่นกู้สินเชื่อบ้าน เพื่อที่เมื่อถึงเวลากู้สินเชื่อบ้านจริง เราจะมีโอกาสกู้ผ่าน หรือกู้ได้ตามวงเงินที่ต้องการมากขึ้น ทั้งนี้สามารถอ่านวิธีการสร้างเครดิตง่ายๆ 3 วิธีเพื่อให้กู้สบายถูกใจแบงค์เพิ่มเติมอีกได้
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า