ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่าง ๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด
โดยฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นี้ ถือเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของชาวกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลายจังหวัดในประเทศไทย ที่มาแต่ละครั้งก็สร้างผลกระทบยืดยาวหลายเดือน เพราะไม่ว่าจะมุมไหน ใกล้หรือไกลใจกลางเมือง ก็ล้วนแล้วแต่มีค่าฝุ่นในระดับที่ไม่น่าอยู่อาศัย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ในขณะที่รอหน่วยงานต่าง ๆ ทำการวิจัยและแก้ปัญหาฝุ่นนั้น เราก็สามารถหาวิธีรับมือกันเองอย่างเร่งด่วนได้ด้วย ลองไปดูกันว่า พื้นที่ไหนที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง พื้นที่ไหนบ้างเป็นเขตปลอดภัย ปัจจัยอะไรทำให้เกิดฝุ่น และมีวิธีอะไรในการรับมือฝุ่นแบบเร่งด่วนที่ทำได้เองทันที

เช็กพื้นที่เสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ ประจำวันอังคารที่ 10 มกราคม 2566 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่น PM 2.5 ตรวจวัดได้ 34-56 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 19 พื้นที่ คือ
1. เขตคลองสามวา ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา มีค่าเท่ากับ 56 มคก./ลบ.ม.
2. เขตปทุมวัน หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ มีค่าเท่ากับ 56 มคก./ลบ.ม.
3. เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ มีค่าเท่ากับ 55 มคก./ลบ.ม.
4. เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม.
5. เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม.
6. เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม.
7. เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม.
8. เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม.
9. เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
10. เขตประเวศ ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
11. เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
12. เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
13. เขตบางกอกใหญ่ บริเวณสี่แยกท่าพระ แขวงวัดท่าพระ มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
14. เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม.
15. เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
16. เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
17. เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม (ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัย มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
18. เขตหนองจอก บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
19. เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศปานกลาง
เขตที่มักมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงในกรุงเทพฯ
1. เขตใจกลางเมือง
พื้นที่ในเขตตัวเมืองที่เป็นแหล่งธุรกิจหลัก โดยเฉพาะเขตพื้นที่สีแดงที่เป็นเขตพาณิชยกรรม และเขตพื้นที่สีน้ำตาลที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เขตเหล่านี้เป็นเขตที่มีความเสี่ยงสูง และมักมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ
2. เขตแหล่งอุตสาหกรรม
เขตที่มีฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้มีแต่เฉพาะในเขตใจกลางเมือง แต่ยังรวมถึงเขตพื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งควันที่มาจากโรงงานและการสัญจรในแถบนี้เป็นที่มาของฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สามารถค้นหาที่ดินว่าอยู่ในเขตปลอดฝุ่นและตรวจสอบสีผังเมืองได้ที่สำนักผังเมือง
3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าฝุ่น PM 2.5
เป็นที่น่าสนใจว่าค่าฝุ่นมีขึ้น-ลงตลอดเวลา โดยทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
1. ปัจจัยที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราทุกคนล้วนส่งผลต่อการเกิดฝุ่นประเภทนี้ไม่มากก็น้อย เช่น การเพิ่มปริมาณการใช้รถที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล การปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง
2. สภาวะอากาศและฤดูกาล
ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ นั้นเกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่ว่าแต่ละครั้งที่เกิดฝุ่นพิษ อาจจะมีดีกรีค่าฝุ่นที่มาก-น้อยต่างกัน และเวลาที่เกิดอาจจะมีความช้า-เร็วต่างกันไปในแต่ละปี โดยปกติแล้วฝุ่นประเภทนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลประมาณเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี
แต่ด้วยสภาวะโลกร้อนปัจจุบันทำให้เวลาเริ่มต้น-สิ้นสุดของฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลง ผนวกกับปริมาณการใช้พลังงานของผู้คนในเมืองที่มากขึ้น ซึ่งปัจจัยทางธรรมชาติและวิถีการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันนี้ล้วนส่งผลต่อการเกิดฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างเร็วและมากกว่าที่เคยเป็นมา
3. ทิศทางลม
กระแสลมในแต่ละวันมีผลต่อค่าฝุ่นที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ในปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์หลายแห่งให้บริการตรวจวัดพื้นที่ฝุ่น PM 2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ และเขตที่มีค่าฝุ่นสูงในจังหวัดต่าง ๆ
ติดตามตรวจค่าฝุ่นในแต่ละวันได้ที่

วิธีการรับมือฝุ่น PM 2.5
ฝุ่น PM 2.5 ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่
– โรคระบบทางเดินหายใจ
– ระบบหัวใจและหลอดเลือด
– ระบบผิวหนัง
– ระบบตา
รวมถึงคนส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีวิธีการป้องกันได้ดังนี้
1. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
ใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หรือหน้ากากที่กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ตามมาตรฐาน หรือ N95 เนื่องจากผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าปิดปาก ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ซึ่งเป็นหน้ากากที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กมากได้ โดยหน้ากากจะต้องมีสายรัดสองสาย พร้อมทั้งมีส่วนกดที่เป็นโลหะเพื่อกระชับแน่นกับสันจมูก
ทั้งนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปที่ไม่ใช้แบบ N95 พบว่า ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นอยู่ที่ 66.37% เท่านั้น ส่วนถ้าสวมใส่ซ้อนทับกัน 2 ชั้นพบว่า ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นอยู่ที่ 89.75% อีกแบบคือการใส่หน้ากากอนามัย 1 ชั้นซ้อนด้วยกระดาษเช็ดหน้าพับครึ่ง 1 แผ่นด้านใน ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นอยู่ที่ 98.05%
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง เช่น การออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายอาจเพิ่มอัตราการหายใจมากขึ้นกว่าปกติ 10-20 เท่า ซึ่งจะนำมลพิษเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้มากขึ้น
3. เตรียมยาให้พร้อม
สำหรับผู้เป็นโรคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง ระบบตา รวมถึงผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ แพ้ง่าย เช่น แพ้ฝุ่น แพ้อากาศ ควรเตรียมพกยาที่จำเป็นต้องใช้ติดตัวไว้เสมอ
4. คนกลุ่มเสี่ยง เลี่ยงออกจากบ้าน
ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่อาจจะมีอาการป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน รวมถึงหลีกเลี่ยงการเปิดประตูและหน้าต่างทิ้งไว้ หากคุณเข้าข่ายเป็นกลุ่มบุคคลเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
5. มีอาการต้องรีบพบแพทย์
หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรรีบไปพบแพทย์ หรือสามารถขอคำปรึกษาก่อนได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า