ตรวจรับคอนโด 17 จุดที่ต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนโอน

DDproperty Editorial Team
ตรวจรับคอนโด 17 จุดที่ต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนโอน
การตรวจรับคอนโดที่เราซื้อ เป็นการยอมรับคุณภาพงานก่อสร้างที่โครงการจะส่งมอบให้กับเรา ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์จริง ซึ่งแต่ละโครงการจะมีเงื่อนไข วิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางโครงการกำหนดให้การตรวจรับคอนโดได้ไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง แล้วก็ให้เซ็นยอมรับเลย ซึ่งต้องอ่านเงื่อนไขดี ๆ
หากครบตามจำนวนที่โครงการกำหนด แต่ปรากฏว่า ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามที่แจ้งไป ก็อาจต้องคุยกับทางพนักงานขาย ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเป็นจุดที่เคยแจ้งไปตั้งแต่ตรวจคอนโดในครั้งแรก ๆ (ต้องถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน) แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทางโครงการจะไม่มีปัญหาที่จะแก้ไขให้อีกครั้ง แต่กรณีที่มีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มขึ้น ๆ ทุกครั้งที่มาตรวจ ทางโครงการอาจจะมองว่า เรากำลังยื้อเวลาที่จะยังไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ อาจจะต้องการหาให้ได้ก่อน
ถ้าทางโครงการมองว่า คนซื้อกำลังยื้อเวลา ส่วนใหญ่โครงการจะสิ้นสุดการแก้ไขเมื่อครบจำนวนที่กำหนดไว้ และแจ้งว่ายังไงก็ต้องรับโอนแล้ว หากเจ้าของห้องชุดยังไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ จะเริ่มยุ่งยาก และอาจถูกริบเงินดาวน์ก็เป็นได้

อุปกรณ์ตรวจรับคอนโด

1. โพสต์อิท ไว้สำหรับแปะจุดที่ต้องการให้ซ่อมแซม จะทำให้ชัดเจนขึ้น (เมื่อแปะเสร็จ จะเขียนจดบันทึกไว้ หรือถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานก็ได้ แต่แนะนำให้ถ่ายรูปไว้)
2. สายชาร์จแบต อันนี้ง่ายที่สุดในการพกพาไปทดสอบระบบไฟ เพราะถ้าใครไม่สะดวกใช้ไขควงในการวัดไฟ สายชาร์จแบตก็ตอบโจทย์ที่สุด
3. ลูกแก้ว สำหรับตรวจสอบความลาดเอียงของพื้น
4. เหรียญ ไว้เคาะพื้น เคาะกระเบื้อง
5. ถังน้ำ ทดสอบการลาดเอียงของพื้นที่ในห้องน้ำ และระเบียง เพราะถ้าโครงการไม่ทำห้องให้ลาดเอียงในองศาที่น้ำจะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ น้ำจะค้างตามพื้น ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว
6. กล้องถ่ายรูป อันนี้ใช้กล้องมือถือก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกล้องดิจิทัล เพื่อถ่ายเก็บภาพทุกอย่างอย่างละเอียด

ลิสต์รายการ ตรวจรับคอนโด

1. ประตูลูกบิด-บานพับ ตรวจสอบดูความเรียบร้อย ประตูปิดได้ปกติหรือไม่ มีส่วนที่บวม หรือฝืด เอียง มีเสียงดังเวลาเปิดปิดหรือไม่ เช่นกันกับลูกบิด บานพับ ใช้งานได้ปกติหรือไม่ โดยเฉพาะบานพับ มีรอยเปิดออก หรือไม่เรียบสนิทไปกับประตูหรือไม่
2. หน้าต่าง การเปิดปิด กลอนที่ใช้ล็อกหน้าต่าง ใช้งานได้ปกติ หรือฝืด หรือปิดแล้วไม่ลงล็อกหรือไม่
3. พื้นห้องทุกห้อง อาจจะใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ลูกแก้ว ตรวจสอบความลาดเอียง กรณีที่เป็นพื้นลามิเนต จะเจอปัญหาพื้นยุบบางส่วน กรณีที่เป็นพื้นที่กระเบื้อง ก็เจอการยุบตัวบ้าง แต่ไม่มากเท่า ใช้วิธีเดินย่ำไปทุกตารางเมตรของห้องอย่างละเอียด ทั้งริมขอบห้อง (ส่วนใหญ่จะยุบบริเวณนี้) กลางห้อง เดินหลาย ๆ รอบ
4. บัวพื้น ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ จะมีรอยเปิด รอยแยกของบัวพื้นออกจากตัวผนัง ต้องลองจับ ตรวจดูทุกจุด
5. รูตามขอบผนัง หรือรูร่องพื้น ตามมุมห้อง หรือแม้กระทั่งพื้นห้อง บางครั้งจะเจอช่องว่าง ที่ช่างโครงการอาจจะลืมยาแนว หรือรอยปริของไม้ เป็นต้น ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็ต้องตรวจดูให้เรียบร้อย
6. ผนังห้อง ปัญหาที่เจอส่วนใหญ่ คือ รอยร้าว ซึ่งอาจไม่ได้เกิดจากรอยร้าวจากโครงสร้าง แต่เป็นลักษณะของสีปริแตก ก็ควรให้ช่างเก็บให้เรียบร้อย
7. กระเบื้องในส่วนต่าง ๆ ของห้อง ห้องชุดปัจจุบันที่มีกระเบื้องจะเป็นห้องน้ำ และจุดที่มีปัญหาส่วนใหญ่ คือ กระเบื้องผนัง เพราะวิธีการติดตั้งกระเบื้องในปัจจุบันใช้วิธีที่เรียกภาษาช่างกันว่า แบบซาลาเปา คือ เอาปูนแปะตรงกลางแผ่นกระเบื้อง แล้วแปะเป็นผนังเลย ดังนั้น รอบ ๆ กระเบื้องก็จะไม่เต็ม เวลาใช้เหรียญเคาะ ๆ ก็จะได้ยินเสียงที่ไม่เต็มของปูน
กรณีนี้หลายคนไม่ซีเรียส แต่หลายคนที่ซีเรียสก็เลือกที่จะแจ้งให้รื้อใหม่ (แต่บางโครงการก็ไม่ยอมรื้อให้) ส่วนพื้นกระเบื้อง จะเคาะเพื่อตรวจสอบก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจอปัญหาซาลาเปาเท่ากับผนัง
8. ระเบียงห้อง บริเวณนี้อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ก็ต้องดู โดยปัญหาที่มีพบเจอบ้าง คือ ตัวราวกั้นของระเบียงไม่ได้มาตรฐาน เตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น (ปกติควรจะอยู่ระดับเอวขึ้นไป) อันนี้ต้องแจ้งให้เปลี่ยน เพราะอันตรายมาก
อีกปัญหาที่พบบ่อย คือ พื้นไม่ลาดเอียง อันนี้ก็ต้องแจ้งให้ทำใหม่ เพราะถ้าน้ำไม่ลงสู่ท่อระบายน้ำ ค้างไว้จะเป็นปัญหาในอนาคต
9. ห้องน้ำ นอกจากระบบน้ำ สุขภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ยังต้องดูความลาดเอียงเช่นเดียวกับพื้นระเบียงด้วย
10. สีภายในห้อง ตรวจดูความเรียบร้อยของงานทาสี
11. วอลเปเปอร์ กรณีที่ผนังห้องมีติดวอลเปเปอร์ ควรดูความเรียบร้อยของงานให้ดี
12. เพดาน จุดนี้คนอาจจะสนใจน้อย แต่ก็ไม่ควรพลาด เพราะบางครั้ง ไม่ทันตรวจสอบ ปรากฏว่า เกิดปัญหาจากพื้นห้องด้านบน กระทบถึงเพดานห้องชั้นของเรา เป็นคราบ หรือเป็นรอยที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายในอนาคตได้ ควรแจ้งให้แก้ไข
13. ระบบน้ำ นอกจากก๊อกน้ำ สุขภัณฑ์ สายฉีด ฝักบัวแล้ว ยังต้องตรวจระบบน้ำตรงซิงค์ล้างจานด้วยว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ และมีรอยรั่วของน้ำตรงใต้ซิงค์หรือไม่
14. ระบบไฟ ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญจะเลือกใช้อุปกรณ์ตรวจสอบ หรือไขควงเสียบเพื่อทดสอบว่าระบบไฟมีปัญหาหรือไม่ แต่ถ้าเราเป็นคนทั่วไป เมื่อไปตรวจคอนโดเอง เลือกใช้สายชาร์จโทรศัพท์ก็สะดวกดี ลองเสียบทุกปลั๊กว่าใช้งานได้หรือไม่
15. ระบบสายเคเบิ้ลทีวีในห้อง เราคงไม่ต้องถึงกับแบกโทรทัศน์ไปเอง แต่บางโครงการก็มีอุปกรณ์ตรวจสอบเตรียมมาทดสอบให้เราดู
16. ตู้บิลท์อิน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่แถมมา ต้องตรวจดูความเรียบร้อย มีชำรุดหรือไม่ เพราะเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ เป็นสินค้าที่สั่งจำนวนมาก อาจจะมีชำรุดเสียหายได้
17. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่แถมมา ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องปรับอากาศ เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ ที่ระบายควันตรงเคาน์เตอร์ครัว ต้องดูว่าใช้งานได้หรือไม่
เปิดเครื่องปรับอากาศทดสอบไปเลย เปิดทุกเครื่องที่ได้มา เปิดใช้อุปกรณ์ทุกอย่าง เช็กเรื่องวันหมดอายุประกันให้ดี เพราะสินค้าส่วนใหญ่สั่งมาล็อตใหญ่ และสั่งตั้งแต่โครงการเพิ่งเริ่มก่อสร้าง กว่าจะได้มาติดตั้ง บางทีตกรุ่น บางทีชำรุดแล้ว ก็ให้เร่งแก้ไข
ตรวจรับคอนโด ทำเองได้ไม่ยุ่งยาก

ตรวจรับคอนโดเองได้ ไม่ยุ่งยาก

การตรวจคอนโด หลายคนเห็นลิสต์ที่ต้องตรวจยาวเป็นหางว่าวแล้วอาจท้อใจ ยิ่งคุณสาว ๆ ยิ่งรู้สึกว่า ไม่มีพื้นฐานเรื่องโครงสร้าง ระบบไฟฟ้า น้ำประปาเลย จะตรวจรับคอนโดได้หรือไม่ จริง ๆ แล้ว การตรวจรับคอนโดไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น ชวนพี่น้อง เพื่อนมาช่วย ๆ กันดู ตรวจสอบตามลิสต์รายการ ก็เชื่อว่าครอบคลุมแล้ว

ตัวอย่างจุดที่ต้องตรวจเช็ก

จุดที่ต้องตรวจ
วิธีการตรวจ
ประตู-ลูกบิด-บานพับ
เปิด-ปิดสนิท ไม่ติดขัด
พื้น
ไม่ยุบตัว ไม่ลาดเอียง
ผนัง
เรียบเนียน ไม่มีรอยร้าว
ระบบน้ำ
น้ำไหลดี ไม่มีรอยรั่ว
ระบบไฟ
ใช้งานได้ดีทุกจุด ไม่มีไฟรั่ว

จ้างคนมาตรวจคอนโดดีหรือไม่

หากไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจที่จะตรวจรับคอนโดด้วยตัวเองก็สามารถจ้างคนมาช่วยตรวจโครงการได้ โดยอาจจะตรวจสอบกับโครงการก่อนว่าอนุญาตหรือไม่ เพราะบางโครงการก็อนุญาต (เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่มากับเจ้าของห้องชุด) แต่บางโครงการก็ไม่อนุญาต
โดยคนที่จ้างมาตรวจ มักจะมีประสบการณ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการตรวจรับคอนโด เช่น อุปกรณ์เช็กไฟฟ้า, เช็กพื้น, ไฟฉายเช็กอาการบวมหรือความไม่เรียบ, บันไดสำหรับปีนไปเช็กในมุมแปลก ๆ ซึ่งจะช่วยผ่อนแรงได้ อัตราค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 1,000-4,000 บาทขึ้นอยู่กับขนาดห้องชุด

ตรวจรับไม่เรียบร้อย อย่ารับโอนคอนโด

กรณีที่โครงการอยากเร่งโอนคอนโดเพื่อทำยอด ก็จะมีโปรโมชั่น โอนไปก่อน ตรวจทีหลัง คือให้เซ็นรับห้องชุดไปก่อน แล้วให้ช่างมาตามเก็บทีหลัง กรณีเช่นนี้ หลายครั้งมีปัญหา เมื่อโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ช่างไม่มาซ่อมให้ ไม่มีช่าง หรือการซ่อมล่าช้า
แนะนำว่า ตรวจรับให้เรียบร้อย ให้เห็นกันเลยว่า แก้ไขแล้ว เซ็นรับ ค่อยโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่สาย เพราะถ้าโครงการอยากให้รีบโอน ก็ต้องขนทีมช่างมาบริการ แก้ไขให้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว บางครั้งก็ตามยาก
อย่างไรก็ตาม หากโครงการก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยก่อนโอนกรรมสิทธิ์ สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์