เช็กสุขภาพการเงินสักนิด ก่อนคิดกู้บ้าน

DDproperty Editorial Team
เช็กสุขภาพการเงินสักนิด ก่อนคิดกู้บ้าน

“ก่อนกู้บ้าน อย่าลืมกันเงินสำรอง 6 เท่าของค่าใช้จ่าย ภาระผ่อนโดยรวมไม่เกิน 30% ของรายได้ และกันเงินมาเก็บออมในแต่ละเดือนอย่างน้อย 20% เพื่อผ่อนบ้านได้อย่างสบายๆ และมีเงินเก็บเพื่อเป้าหมายต่างๆ ในชีวิต”

บ้านหรือที่อยู่อาศัยจัดเป็นหนี่งในปัจจัยสี่ของชีวิต นอกเหนือจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค หลายๆ คนใฝ่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง เพียงแต่อาจแตกต่างกันไปในเรื่องของประเภทที่อยู่อาศัย บางคนต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้ไว้ทำสวน ปลูกต้นไม้ บางคนต้องการทาวน์โฮมหรือทาวเฮาส์เพื่อทำเป็นโฮมออฟฟิศ หรือเปิดร้านค้าได้ ขณะที่บางคนต้องการคอนโดฯ เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง
แต่ไม่ว่าที่อยู่อาศัยที่เราต้องการจะเป็นแบบไหน ราคาเท่าไร สิ่งที่ K-Expert อยากให้ทุกคนที่เตรียมกู้ซื้อบ้านได้เช็กสักนิด คือ “สุขภาพการเงิน” เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนร่างกายของคนเราที่ต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปี การเงินก็เช่นกันที่ต้องมีการตรวจเช็ก เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเรามีปัญหาอะไรอยู่หรือไม่ และพร้อมแค่ไหนที่จะซื้อบ้านที่มีมูลค่าเป็นหลักล้าน แถมต้องผ่อนกันนานหลายปี ซึ่งสุขภาพการเงินด้านไหนบ้างที่ควรเช็กก่อนกู้บ้าน K-Expert มีคำตอบ
เงินสภาพคล่อง
ก่อนจะสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้ตัวเอง ลองเช็กก่อนว่า ตัวเรามีเงินสำรองหรือเงินสภาพคล่องทั้งเงินสด เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น มากน้อยแค่ไหน โดยใช้สูตร
r2E
เมื่อคำนวณแล้ว K-Expert แนะนำว่าอัตราส่วนสภาพคล่องควรอยู่ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท คูณด้วย 6 เท่ากับว่าควรมีเงินสำรองหรือเงินสภาพคล่องประมาณ 60,000 บาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ต้องใช้เงินสำหรับค่ารักษาพยาบาล ฝนตก น้ำท่วม ต้องซ่อมบ้าน ซ่อมรถ หรือกระทั่งตกงานขาดรายได้ จะได้มีเงินสำรองมาใช้จ่ายได้ทันที
ที่สำคัญ เมื่อตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน ยิ่งควรรักษาสัดส่วนเงินสำรองสภาพคล่องเอาไว้ให้อยู่ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะถ้ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ยังมีเงินสำรองก้อนนี้ที่นำมาจ่ายค่างวดผ่อนบ้านได้
ภาระหนี้สิน
เพื่อเช็กดูว่าตอนนี้ตัวเรามีหนี้สินมากเกินไปหรือไม่ สามารถก่อหนี้เพิ่มได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงมีภาระผ่อนชำระหนี้เกินกำลังแล้วหรือยัง สามารถดูได้จาก 2 อัตราส่วนดังนี้
r22
ลิสต์รายการสินทรัพย์ทั้งหมด ทั้งสินทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุน เช่น เงินฝาก กองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และสินทรัพย์ส่วนตัว เช่น เครื่องประดับ บ้าน รถยนต์ และรายการหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อนำหนี้สินหารด้วยสินทรัพย์แล้ว ควรได้ค่าน้อยกว่า 50% แต่หากค่าที่คำนวณได้ออกมาเกือบเท่ากับ 50% หรือสูงกว่า 50% แล้วเราตัดสินใจจะกู้ซื้อบ้านอีก ก็เท่ากับว่ากำลังเพิ่มภาระหนี้ให้สูงขึ้น
r3
ลองดูสักนิดว่า ตอนนี้ตัวเรามีค่างวดที่ผ่อนชำระเดือนละเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนบ้าน ทั้งหลังเก่า และหลังใหม่ที่กำลังจะซื้อ เทียบกับรายได้ที่มี ซึ่ง K-Expert แนะนำว่า อัตราส่วนการชำระคืนหนี้สินไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน หากคำนวณแล้ว ค่าที่ได้น้อยกว่า 30% แสดงว่า มีความสามารถเพียงพอที่จะนำรายได้ไปชำระคืนหนี้สินต่างๆ และไม่ต้องกังวลมากนักกับการซื้อบ้านหลังใหม่
แต่หากค่าที่ได้สูงกว่า 30% ก็ต้องระวังสักหน่อย เพราะมีโอกาสประสบปัญหาไม่สามารถชำระคืนหนี้สินในอนาคตได้ ยิ่งหากมีภาระผ่อนต่อเดือน ก่อนกู้ซื้อบ้านหลังใหม่สูงกว่าเกณฑ์ที่แนะนำอยู่แล้ว ยิ่งควรชะลอการสร้างหนี้ หรือกู้ซื้อบ้านออกไปก่อน และพยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ผ่อนหนี้เดิมให้หมดก่อนสร้างหนี้ใหม่ จะปลอดภัยกับชีวิตตนเองและครอบครัวมากกว่า
สัดส่วนการออม
อีกตัวเลขหนึ่งที่อยากให้คิดคำนวณกันคือ ตัวเลขเงินออม ซึ่งดูผิวเผินแล้ว อาจไม่เกี่ยวข้องกับการกู้บ้านหรือผ่อนชำระหนี้สินสักเท่าไร แต่ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพราะตัวเลขเงินออมนี้บ่งบอกว่า ตัวเรามีการจัดสรรเงินรายได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะแม้จะมีสัดส่วนการผ่อนหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่แนะนำ (ไม่เกิน 30% ของรายได้) แต่กลับไม่มีการแบ่งเงินมาเก็บออมเลย ก็อาจกระทบกับเป้าหมาย หรือแผนการเงินอื่นในชีวิตได้ เพราะคนเราคงไม่ได้มีเป้าหมายสร้างสินทรัพย์ให้ตัวเองเพียงแค่การซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นแน่ แต่หากยังมีเป้าหมายอื่นๆ ที่ต้องไม่ลืมวางแผนอีกด้วย เช่น แผนเกษียณ แผนการศึกษาลูก หรือแม้กระทั่งแผนการเงินที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง เช่น ท่องเที่ยวพักผ่อน ซื้อรถคันใหม่ แล้วควรมีเงินแค่ไหน คำนวณได้จาก
r4
สำหรับตัวเลขการออม K-Expert แนะนำว่า ควรออมอย่างน้อย 20% ของรายได้ต่อเดือน เช่น รายได้เดือนละ 25,000 บาท ก็ควรออมอย่างน้อยเดือนละ 5,000 บาท แล้วถ้าให้ดี เมื่อเงินเดือนออก หรือมีรายได้เข้ามา ก็หักมาออมก่อนเลย เหลือเท่าไรค่อยใช้จ่าย แบบนี้รับรองมีเงินเก็บเพื่อทำเป้าหมายในชีวิตให้สำเร็จได้แน่นอน
ก่อนกู้ซื้อบ้าน อยากให้ตรวจสุขภาพการเงินของตัวเองเสียก่อน หากผลที่ได้ออกมาว่า กันเงินสำรองสภาพคล่องไว้เพียงพอ มีภาระหนี้สินไม่สูงเกินกำลัง และออมเงินสม่ำเสมอทุกเดือน ก็สามารถเดินหน้าขอสินเชื่อบ้านได้อย่างสบายใจ แต่หากใครที่สุขภาพการเงินยังมีปัญหา อย่าเพิ่งท้อถอยหมดหวัง เพียงหาให้เจอว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร บางทีแล้ว เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย หาทางสร้างรายได้เพิ่ม อีกไม่นานก็พร้อมที่จะซื้อบ้านในฝันได้แน่นอน
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้าน คอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com