จากเหตุการณ์ท่อก๊าซระเบิด ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักแล้วว่า การเลือกซื้อบ้านไม่ใช่มองแค่สภาพภายนอกบ้าน หรือทำเลรอบ ๆ เท่านั้น ยังต้องมองลึกไปถึงใต้ดินของบ้านด้วยว่าบ้านหลังที่เราซื้อนั้นมีท่อก๊าซพาดผ่านหรือไม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใต้บ้านของเรา หรือทำเลที่เราอยากจะซื้อบ้านนั้นมีท่อก๊าซพาดผ่าน รวมถึงหากใกล้บ้านมีปั๊มแก๊สเกิดขึ้นมาจะทำอย่างไร ลองมาไขข้อข้องใจได้จากบทความนี้
เช็กแนวท่อก๊าซผ่านทำเลไหนบ้าง
ท่อก๊าซที่อยู่บนบกของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ
1. ระบบท่อส่งก๊าซบนบกฝั่งตะฝั่งตก
2. ระบบท่อส่งก๊าซบนบกฝั่งตะวันออก
ท่อก๊าซทั้ง 2 ระบบ ทั้งหมดจะรับก๊าซมาจากเขตผสมคุณภาพก๊าซ ก่อนจะส่งต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ระบบท่อส่งก๊าซบนบทฝั่งตะวันออก
ระบบส่งก๊าซบนบกฝั่งตะฝั่งออก จะรับก๊าซมาจากเขตผสมคุณภาพก๊าซ จ.ระยอง และส่งไปยังผู้ใช้ก๊าซบนบก ได้แก่
– ระบบส่งก๊าซบนบก เส้นที่ 1 ผ่านระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา และสระบุรี
– ระบบส่งก๊าซบนบก เส้นที่ 2 ผ่านระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี และอยุธยา
– ระบบส่งก๊าซบนบก เส้นที่ 3 ผ่านระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอยุธยา ไปยังสระบุรี
– ระบบส่งก๊าซบนบก เส้นที่ 4 ผ่านระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระบุรี
– ระบบส่งก๊าซบนบกวังน้อย-ไทรน้อย ผ่านอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
– ระบบส่งก๊าซบนบก นครสวรรค์ ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท และนครสวรรค์
– ระบบส่งก๊าซบนบก นครราชสีมา ผ่านสระบุรี และนครราชสีมา
2. ระบบท่อส่งก๊าซบนบทฝั่งตะวันตก
ระบบส่งก๊าซบนบกฝั่งตะวันตก จะรับก๊าซมาจากเขตผสมคุณภาพก๊าซ ที่ชายแดนไทย-สหภาพเมียนมา กาญจนบุรี และส่งไปยังผู้ใช้ก๊าซผ่านระบบส่งก๊าซบนบกสายประธาน ได้แก่
– ระบบส่งก๊าซบนบก ชายแดนไทยและสหภาพเมียนมา-ราชบุรี ผ่านกาญจนบุรี และราชบุรี
– ระบบส่งก๊าซบนบก ราชบุรี-ไทรน้อย ผ่านราชบุรี นครปฐม และนนทบุรี
นอกจากนี้ ระบบส่งก๊าซบนบกฝั่งตะวันออกและ/หรือตะวันตก จะรับก๊าซมาจากเขตผสมคุณภาพก๊าซ ชายแดนไทย-สหภาพเมียนมา กาญจนบุรี หรือระยอง และส่งไปยังผู้ใช้ก๊าซ ผ่านระบบส่งก๊าซบนบก ได้แก่ ระบบส่งก๊าซบนบก ไทรน้อย-โรงไฟฟ้พระนครใต้ ผ่านนนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
ปตท. ป้องกันปัญหาท่อก๊าซระเบิด
จากเหตุการณ์ท่อก๊าซระเบิดทำให้หลายคนเกิดความกังวลเรื่องการดูแลรักษาแนวท่อก๊าซ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ปตท. ยืนยันว่ามีมาตรการการบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซที่ได้มาตรฐาน แต่ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ปตท. มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น
1. เร่งขยายผลการนำเทคโนโลยีในการตรวจจับการเข้าทำงานในแนวท่อของบุคคลที่ 3 ให้ครอบคลุมแนวท่อส่งก๊าซ
2. ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวของเครื่องจักรผ่านการสั่นสะเทือนของสาย Fiber Optic Cable ที่วางตามแนวท่อ
3. พัฒนาระบบ AI เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของเครื่องจักรที่ทำงานในเขตพื้นที่ และมีระบบแจ้งเตือนอื่น ๆ
4. ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติติดตามข้อมูลการรับ-ส่งก๊าซ แบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถทราบความผิดปกติของการส่งก๊าซได้ทันที
5. กรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ พนักงานควบคุมการส่งก๊าซ สามารถสั่งการปิดวาล์วเพื่อตัดแยกระบบ ณ จุดเกิดเหตุ ผ่านระบบได้โดยตรงภายในเวลา 1 นาที
ปั๊มแก๊สอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยได้หรือไม่
นอกจากท่อก๊าซแล้ว อีกหนึ่งข้อกังวลของหลาย ๆ คน ที่ใกล้ตัวมากขึ้นก็คือ ปั๊มแก๊ส หรือสถานีบริการ LPG ใกล้บ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้ว การก่อสร้างสถานีบริการ LPG ติดบ้านคนและเขตชุมชนหนาแน่นสามารถสร้างได้ แต่ต้องอยู่ในระยะความปลอดภัยภายนอกตามประกาศกระทรวงพลังงาน ได้แก่
– ระยะห่างระหว่างเขตสถานีบริการ LPG กับอาคารสถานทูต โรงเรียน สถานพยาบาล โรงมโหรสพ สนามกีฬา หรือศูนย์การค้า ไม่น้อยกว่า 60 เมตร
– ระยะห่างระหว่างเขตสถานีบริการ LPG กับเขตพระราชฐาน ไม่น้อยกว่า 500 เมตร
ที่มา: กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีข้อกำหนดของพื้นที่ห้ามในการก่อสร้างปั๊มแก๊ส หรือสถานีบริการ LPG เนื่องจากอำนาจหน้าที่ในการกำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างสถานีบริการ LPG จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ซึ่งมีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้กำกับดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินตามประเภทของที่ดิน
โดยที่ดินที่อยู่ในประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น รวมถึงการก่อสร้างสถานีบริการ LPG ใช้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ เป็นต้น ดังนั้นหากที่ดินดังกล่าวอยู่ในประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ก็อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ก่อสร้างสถานีบริการ LPG ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองในแต่ละพื้นที่
ร้องเรียนและขอตรวจสอบปั๊มแก๊ส
การจะร้องเรียนและขอตรวจสอบ ทำได้ที่หน่วยงานที่กำกับดูแลดังนี้
1. ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบได้ที่ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่างจังหวัดตรวจสอบได้ที่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองในจังหวัดนั้น ๆ
2. ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบได้ที่ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่างจังหวัดตรวจสอบได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือ อบต. ที่กำกับดูแลตามพื้นที่ที่สถานีบริการ LPG ตั้งอยู่
3. ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง สามารถตรวจสอบได้จากผู้ที่กำกับดูแลถนนสายนั้นที่สถานีบริการ LPG ตั้งอยู่
4. ตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และกฎกระทรวงฯ ที่ออกตาม ปว.28 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบได้ที่ กรมธุรกิจพลังงาน และพื้นที่ต่างจังหวัดตรวจสอบได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด ที่สถานีบริการ LPG ตั้งอยู่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ