ทำเลเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อบ้าน แต่หากทำเลที่เราต้องการไม่มีโครงการบ้านใหม่ ๆ เกิดขึ้นเลย บ้านมือสองถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราได้อยู่บ้านในทำเลที่ถูกใจ นอกจากนี้ การซื้อบ้านมือสองยังได้เห็นสภาพบ้าน สภาพแวดล้อม รวมทั้งเพื่อนบ้านในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากการซื้อบ้านมือหนึ่งที่ต้องลุ้นว่า สภาพบ้านจะเกิดปัญหาอะไรบ้างในอนาคต หรือเพื่อนบ้านจะเป็นอย่างไร
แต่ว่าก่อนจะมีการซื้อบ้านมือสองซักหลัง มีสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน ลองมาดูข้อดี-ข้อเสียของบ้านมือสองกันก่อนดีกว่า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และนำไปสู่ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองต่อไป
ข้อดี | ข้อเสีย |
ราคาถูกกว่าบ้านมือหนึ่ง | ต้องเตรียมงบประมาณในการซ่อมแซม และรีโนเวท |
ต่อรองราคาได้ | สถาบันทางการเงินปล่อยกู้ไม่เต็ม 100% |
ทำเลดีกว่าบ้านโครงการใหม่เพราะเข้ามาจับจองพื้นที่ได้ก่อน | มีความเสี่ยงในการได้บ้านมีประวัติ |
โครงสร้างบ้านมีคุณภาพกว่าบ้านใหม่ ๆ ที่ลดต้นทุนในการสร้าง | ไม่มีประกันตัวบ้าน |
ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสอง
1. เข้าดูสภาพบ้านจริงก่อนตัดสินใจ
ในยุคปัจจุบันการจะหาบ้านมือสองที่ถูกใจสักหลังมีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะผู้ซื้อสามารถค้นหาบ้านมือสองผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น ดูจากเว็บไซต์ประกาศขายบ้านต่าง ๆ แทนการขับรถตระเวนหาบ้านในทำเลที่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในเว็บไซต์จะมีการบอกรายละเอียดสภาพบ้าน และมีรูปภาพประกอบอย่างชัดเจนแล้ว แต่เราก็ควรเข้าไปตรวจดูสภาพบ้าน และดูสภาพแวดล้อมจริง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งการไปดูสภาพบ้านจริงถือเป็นขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองที่ขาดไม่ได้เลย เพราะช่วยให้เรารู้ว่ามีผู้อาศัยหรือผู้บุกรุกหรือไม่
เนื่องจากในบางกรณีที่เจ้าของบ้านอาจบอกว่าบ้านหลังนั้นไม่มีผู้อยู่อาศัยพร้อมโอนและผู้ซื้อสามารถย้ายเข้าอยู่ได้ทันที แต่พอไปดูบ้านจริง ๆ แล้วกลับพบว่ามีผู้อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะเป็นผู้บุกรุกหรือผู้เช่า
หากเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็ควรได้รับคำชี้แจ้งจากเจ้าของบ้านหรือผู้ขายก่อนว่าจะทำอย่างไรกับผู้บุกรุก หรือผู้เช่าจะหมดสัญญาเมื่อไร เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาในการย้ายเข้าไปอยู่บ้าน ภายหลังที่เราโอนบ้านแล้ว
ดังนั้น ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองด้วยวิธีการเข้าไปดูสภาพจริงก่อนตัดสินใจซื้อจึงเป็นขั้นตอนสำคัญมาก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม รวมไปถึงการตรวจสอบตรวจเช็กโครงสร้างก็ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองที่สำคัญพอ ๆ กับการเช็คประวัติ
2. ตรวจสอบความถูกต้องของโฉนด
อีกหนึ่งขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองที่ขาดไม่ได้เช่นกันก็คือการตรวจสอบโฉนดเป็นอีกสิ่งที่ผู้ซื้อไม่ควรละเลย เพราะโฉนดที่ผู้ขายให้เรามานั้น อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีการปลอมแปลง เช่น เป็นโฉนดปลอดภาระทั้ง ๆ ที่ติดจำนองธนาคาร เป็นโฉนดปลอม หรือเป็นโฉนดถูกอายัด ฯลฯ
นอกจากนี้ การตรวจสอบโฉนดยังช่วยให้เราทราบถึงรายละเอียดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าผู้ขายเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงหรือไม่ เพราะหลาย ๆ ครั้งที่ผู้ขายไม่ใช่เจ้าของบ้านตัวจริง หรือแอบอ้างเป็นเจ้าของบ้านจนทำให้ผู้ซื้ออาจเกิดความเสียหายได้ เช่น โดนโกงเงินมัดจำ
ทั้งนี้ ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสอง จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของโฉนด โดยสามารถนำโฉนดไปที่สำนักงานที่ดิน หรืออีกวิธีหนึ่งที่ช่วยตรวจสอบโฉนดได้อย่างง่าย ๆ ก็คือการส่งประเมินราคา
วิธีนี้นอกจากจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของโฉนดแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงราคาซื้อขาย ซึ่งสามารถนำมาอ้างอิงเพื่อตกลงหรือต่อรองราคากับผู้ขายได้ ในกรณีที่ราคาขายอาจจะสูงกว่าราคาประเมินมากเกินไป
โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท
โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท ที่ดิน น.ส.4 จ. คืออะไร ซื้อ ขาย โอนที่ดินที่ได้หรือไม่ ดูได้ที่นี่

3. ตกลงค่าใช้จ่ายกันให้ชัดเจน
การซื้อขายบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสองก็ตาม ย่อมจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น และถือเป็นขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ โดยเฉพาะบ้านมือสองที่มักจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อบ้านมือหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้รวม ๆ กันแล้ว ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง หากผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีการตกลงกันอย่างชัดเจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ เช่น ผู้ขายผลักภาระให้ผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายทั้งหมด โดยที่ผู้ซื้อเองก็ไม่รู้ตัว หรือผู้ซื้อเข้าใจว่าผู้ขายจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดเช่นกัน
ความเข้าใจผิดเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งกันในภายหลัง ดังนั้นเมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อบ้านมือสองหลังนี้ ก็ควรทำความเข้าใจและตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ใครเป็นผู้จ่ายอะไรบ้าง หรือแบ่งจ่ายกันคนละครึ่ง รวมทั้งเงื่อนไขการจ่ายเงินมัดจำ โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรระบุไว้ในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายตั้งแต่ตอนแรก
ค่าโอนบ้านต้องจ่ายเท่าไหร่
ค่าโอนบ้านต้องจ่ายเท่าไหร่ พร้อมแจกสูตรคำนวณค่าโอนบ้านที่นี่
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านมือสองอย่าลืมสำรวจราคาขายในทำเลเดียวกันด้วย เพื่อจะได้บ้านมือสองที่ถูกใจทั้งสภาพบ้านและราคา นอกจากนี้ผู้ซื้อยังต้องเตรียมเงินเก็บออมไว้อย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน เพื่อจ่ายเป็นเงินค่าดาวน์บ้านให้กับผู้ขาย รวมทั้งเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยบ้านของแต่ละธนาคารก่อนตัดสินใจกู้เงินกับธนาคารนั้น ๆ
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า