หน้าฝนหรือฤดูฝนมาเยือนแล้ว แน่นอนว่าหน้าฝนมักมากับน้ำ ลมแรง บางครั้งอาจมีพายุ หรือลูกเห็บ หากไม่แน่ใจว่าบ้านของคุณมีความพร้อมที่จะรับมือกับหน้าฝน หรือไม่แน่ใจว่าได้ตระเตรียมการไว้ครบถ้วนหรือไม่ ลองมาดู 7 เรื่องสำคัญในบ้านที่ต้องตรวจสอบ เพื่อเตรียมบ้านรับหน้าฝนได้อย่างสบายใจ
1. ต้นไม้ใหญ่และไม้ประดับ
ต้นไม้ใหญ่และไม้ประดับคือสิ่งแรกที่คุณต้องให้ความสนใจเพื่อเตรียมบ้านรับหน้าฝน แม้ว่าต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นและไอเย็นในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา อย่าเสียดายถ้าคุณจะต้องตัดกิ่งก้านสาขาของมันออกไปให้เหลือลักษณะลู่ลมที่สุด
กรณีที่เป็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ประชิดกับตัวบ้าน และมีลักษณะต้นโอนเอนอยู่ละก็ คุณอาจจะต้องตัดใจโบกมือลา เพื่อแลกกับความปลอดภัยจากการโดนต้นไม้ล้มใส่บ้านแสนรักเมื่อลมพัดแรง
ส่วนต้นไม้เล็ก ๆ ไม้กระถาง ไม้ประดับที่คุณเฝ้าประคบประหงมดูแลมาหลายเดือน ต้องตรวจเช็กให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวที่น้ำฝนจะตกลงมาจากหลังคา เพราะความแรงของน้ำอาจทำให้ต้นไม้เสียหายได้ และหากเป็นไม้ที่ไม่ชอบน้ำควรย้ายมาปลูกใต้ชายคา และหมั่นพรวนดินเพื่อช่วยระบายน้ำให้กับต้นไม้ด้วย
5 วิธีเลือกซื้อบ้านในหน้าฝน
อยากซื้อบ้านช่วงหน้าฝน มีอะไรที่ต้องตรวจสอบบ้าง ดูได้ที่นี่
2. หลังคาและดาดฟ้า
หลังคาและดาดฟ้า เป็นพื้นที่ซึ่งรับน้ำฝนมากที่สุดของบ้านจึงเป็นจุดที่ฝนรั่วเข้าบ้านได้มากที่สุด วิธีการตรวจสอบอย่างง่าย ๆ คือ การมองคราบน้ำบนฝ้าเพดานบ้านซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าดาดฟ้าหรือหลังคาของคุณมีจุดที่รั่วอยู่หรือไม่
ถ้าหลังคาแตกหรือร้าว เปิดฝ้าออกดูอาจจะสามารถมองเห็นแสงสว่างจากจุดที่แตกหรือร้าวอยู่ได้ ควรรีบเปลี่ยนหลังคาแผ่นที่เสียหายออกโดยเร็ว หรือบางครั้งการรั่วเกิดจากช่องว่างจากการเรียงแผ่นหลังคาที่ไม่แนบสนิทกันหรือรอยต่อของหลังคา
หากมีการติดตั้งรางน้ำต้องคอยเช็กอยู่เสมอว่าไม่มีเศษใบไม้หรือวัสดุลงไปอุดตันหรือปิดกั้นทำให้การระบายน้ำไม่สะดวก ซึ่งจะทำให้น้ำล้นรางและย้อนเข้าไปใต้หลังคาและเข้าบ้านได้
ส่วนดาดฟ้าหรือระเบียงมักจะมีปัญหาเรื่องการรั่วซึ่ม ถ้าหากมีรอยแตกร้าวบนพื้นต้องยาแนวและตรวจสอบเสมอ วัสดุที่ใช้ยาแนวควรมีคุณสมบัติที่มีการยืดหดตัวต่ำ และควรทาสีที่มีคุณสมบัติระงับการซึมน้ำอย่างสม่ำเสมอ และไม่ละเลยเรื่องท่อระบายน้ำเช่นกัน
หลังคาบ้านมีกี่ประเภท เลือกแบบไหนดี
ลองมาดูหลังคาบ้าน 7 ประเภท เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้านคุณได้ที่นี่
3. หน้าต่างและประตู
หน้าต่างและประตู เป็นจุดเสี่ยงบนผนังที่น้ำฝนมีโอกาสรั่วไหลเข้าบ้าน รอยต่อระหว่างบานประตูหน้าต่างกับวงกบและรอยต่อระหว่างวงกบกับผนังเป็นจุดสำคัญ ถ้าหากตัวบานกับวงกบปิดไม่สนิทสามารถใช้ขอบยางเพื่ออุดช่องว่างได้
หน้าต่างและประตูบานเลื่อนควรตรวจสอบรูระบายน้ำที่ตัวรางด้านล่าง ส่วนใหญ่วงกบกับผนังบ้านจะเชื่อมต่อกันโดยมีการใช้ปูนยาแนวหรือซิลิโคน ให้ตรวจสอบว่าปูนยาแนวหลุดกระเทาะออกไปหรือไม่ ส่วนซิลิโคนนั้นจะเสื่อมภายใน 5-7 ปี จะไม่แนบเกาะต้องเลาะออกและใส่ซิลิโคนใหม่ หน้าต่างกระจกที่เข้ามุมหรือเชื่อมต่อกระจกสองแผ่นด้วยซิลิโคนอย่าลืมตรวจสอบตรงจุดนี้ด้วย
4. ผนังบ้าน
ทั้งผนังปูนและผนังไม้มีโอกาสรั่วได้เหมือนกัน ผนังปูนมักรั่วจากรอยร้าว รอยแยกที่ผนัง ที่เกิดจากการทรุดตัวหรือขั้นตอนการฉาบผนัง การแก้ไขในระยะยาวทำได้โดยการสกัดผิวและฉาบใหม่ด้วยปูนที่ผสมสารกันซึมต่าง ๆ
อาคารที่มีการต่อเติมให้ระวังการรั่วบริเวณรอยต่อระหว่างโครงสร้างเดิมและโครงสร้างใหม่ และการไม่ฉาบผิวด้านนอกอาคารจากการต่อเติมจะเพิ่มโอกาสที่ความชื้นจะซึมเข้าสู่ตัวบ้าน การทาสีผนังอย่างสม่ำเสมอทุก 10 ปีจะลดการดูดซึมน้ำเข้าสู่ผนังบ้านได้
กรณีผนังไม้ การหดตัวของไม้และไม้แตกเป็นสาเหตุหลักของการรั่วซึมจากอุณหภูมิที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องปรับอากาศทำให้อุณหภูมิด้านนอกและด้านในต่างกันมากควรจะกรุฝาด้านในด้วยแผ่นผนังสำเร็จรูปลดการหดขยายตัวของไม้ นอกจากนี้การเคลือบผิวไม้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันการผุของไม้จากน้ำฝนได้
รอยร้าวบนผนังบ้าน แก้ได้ไม่ยากด้วยตัวเอง
รอยร้าวบนผนังบ้านแต่ละแบบส่งสัญญาณอย่างไร แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ด้วยตัวเอง

5. พื้นบ้าน
ใครที่ปล่อยพื้นบ้านให้เป็นคราบสกปรกจากช่วงหน้าร้อนเอาไว้แล้วคิดว่าฝนจะช่วยชะล้างให้พื้นกลับมาสะอาดดังเดิม ขอเตือนว่าคุณอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากคราบจะไม่หมดไปแล้วยังเพิ่มขึ้นและฝังลึกกว่าเดิม และของแถมจริง ๆ คือตะไคร่น้ำเขียว ๆ ที่รอให้คุณมาเหยียบแล้วลื่นล้ม
ทางที่ดีควรล้างพื้นให้สะอาดเอาไว้ก่อน พร้อม ๆ กันนั้นก็ให้ตรวจสอบร่องระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ ไปด้วยไม่ให้มีวัตถุกีดขวางการระบายน้ำ รวมไปถึงการลอกตะกอนในบ่อพักน้ำออกไปเพื่อให้รับน้ำได้มากขึ้น และแก้ไขความลาดเอียงของพื้น หรือเพิ่มจุดระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำขัง จะได้ไม่ต้องกวาดน้ำทุกครั้งที่ฝนตก
6. ระบบไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้าเป็นอีกเรื่องใหญ่ที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ใส่ใจ เพราะน้ำฝนจะเป็นตัวนำไฟฟ้ามาถึงตัวคุณ จุดที่ต้องตรวจเช็กคือปลั๊กและสวิตช์ไฟที่อยู่ภายนอกบ้านทั้งหมด รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้านอกบ้านด้วย เช่น โคมไฟหัวเสา ลำโพง กริ่ง
โดยเฉพาะจุดที่ต้องมีการจับหรือสัมผัสบ่อย ๆ ควรติดกล่องครอบหรือป้องกันไม่ให้เปียกฝน ถ้าหากตั้งเครื่องซักผ้าไว้ที่ด้านนอกบ้านก็ต้องติดตั้งสายดินด้วย
นอกจากนี้ ต้องทดสอบการทำงานของอุปกรณ์ตัดไฟเมื่อเกิดไฟรั่ว หรือไฟช็อตขึ้น ช่วงที่มีฝนตกหนักและลมแรงจึงควรเตรียมไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟหรือไฟแช็กติดบ้านเอาไว้บ้างเผื่อไฟดับ โดยควรเก็บไว้ในที่ที่หยิบได้ง่าย
7. จัดบ้านให้เรียบร้อย ป้องกันสัตว์มีพิษและพาหะนำโรค
สัตว์มีพิษบางประเภทไม่ชอบความชื้นแฉะ เมื่อฝนตกสัตว์เหล่านี้ก็จะหลบเข้ามาในบริเวณบ้านของคุณ เพื่อความปลอดภัยควรเก็บของให้เรียบร้อย ไม่ให้มีซอกมุมที่สัตว์ร้ายจะใช้หลบซ่อนหรือมาอาศัยได้
นอกจากนี้ ควรหมั่นเทน้ำฝนที่ขังตามภาชนะต่าง ๆ เช่น จานรองกระถาง แจกัน เพราะหากมีน้ำขังจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้
รวมวิธีป้องกัน สัตว์-แมลง ปลวก มด ภายในบ้าน
หาวิธีป้องกันสัตว์-แมลง ปลวก มด รวมถึงสัตว์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ภายในบ้าน ได้ที่นี่
ถ้าเตรียมบ้านรับหน้าฝนให้พร้อมตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว ไม่ว่าฝนมาก ฝนน้อย ตกหนัก ตกเบาแค่ไหน เชื่อว่าจะไม่เป็นเรื่องกวนใจคุณอีกต่อไป
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า