“เตรียมเงินดาวน์ให้พร้อมอย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน และผ่อนบ้านไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน”
เมื่อมีความฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง ต้องถามตัวเองก่อนว่า “พร้อมไหม” ซึ่งต้องพร้อมในเรื่องไหนบ้างนั้น ลองอ่านบทความจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย เพื่อช่วยในการค้นหาคำตอบให้ตัวเราเอง
ก่อนซื้อบ้าน จำเป็นต้องวางแผนเตรียมความพร้อมให้ดี ไม่ว่าจะเป็นค้นหาบ้านหลังที่ถูกใจให้ตรงกับความต้องการของตัวเราหรือผู้อาศัย เช่น ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ อาจต้องการบ้านที่สามารถกั้นพื้นที่ชั้นล่างทำเป็นห้องนอน เพื่อลดการเดินขึ้นลงบันไดที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก อาจมองหาบ้านที่มีบริเวณสักหน่อยเพื่อให้เด็กได้เดินเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งกว่าจะเจอบ้านหลังที่ถูกตาต้องใจ อาจใช้เวลาในการตามหาไม่น้อย หรือเมื่อเจอบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะตัดสินใจซื้อได้ทันที เพราะบ้านหลังหนึ่ง ราคาไม่ใช่ถูกๆ รอเก็บเงินก้อนซื้อเพื่อด้วยเงินสดก็ดูจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การขอสินเชื่อธนาคารจึงเป็นทางออกของคนที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ การขอสินเชื่อบ้าน นอกจากต้องเตรียมเอกสารประกอบการยื่นกู้ให้พร้อมแล้ว เช่น สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองรายได้ เอกสารแสดงการเดินบัญชี (Statement) ยังต้องเตรียมพร้อมในเรื่อง “เงิน” อีกด้วย ซึ่งเรื่อง “เงิน” ที่เราควรวางแผนเตรียมพร้อมมีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน
เงินดาวน์
เรื่องแรกเลยที่ต้องถามตัวเอง ตอนนี้มีเงินดาวน์พร้อมแล้วหรือยัง เพราะโดยทั่วไปธนาคารจะให้วงเงินกู้ประมาณ 80-90% ของราคาประเมิน ทำให้ผู้ที่จะกู้ซื้อบ้านต้องเก็บเงินตัวเองสักก้อนเพื่อเป็นเงินดาวน์
ทั้งนี้ หลายๆ คนอาจเคยเห็นธนาคารมีโปรโมชั่นให้กู้เต็ม 100% ของราคาบ้าน ทำให้ผู้กู้ไม่ต้องใช้เงินตัวเองก็กู้ซื้อบ้านได้ แต่ต้องบอกว่า วงเงินกู้ที่ได้รับ 100% นั้น มักคิดจากวงเงินสินเชื่อบ้าน รวมกับสินเชื่อตกแต่ง ซึ่งสินเชื่อตกแต่งมักมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อบ้าน ทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น จึงแนะนำว่า วางเงินดาวน์บ้านให้ได้สักก้อนหนึ่ง จะได้ขอวงเงินสินเชื่อน้อยลง ช่วยให้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลงด้วย
สำหรับผู้ที่วางแผนเก็บเงินดาวน์บ้าน แนะนำให้ลองฝึกเก็บเงินทุกเดือน และพยายามเก็บให้ได้อย่างน้อยเท่ากับค่าผ่อนบ้านจริง (คำนวณคร่าวๆ กู้บ้าน 1 ล้านบาท จะผ่อนเดือนละ 7,000 บาท) เพื่อประเมินตัวเราว่า หากกู้บ้านผ่านแล้ว จะสามารถผ่อนไหวทุกเดือนหรือไม่
เงินผ่อน
เมื่อขอสินเชื่อบ้านจากธนาคาร ก็ต้องมีการผ่อนชำระเงินทุกเดือน ผู้กู้จึงต้องมั่นใจว่า หลังจากกู้บ้านผ่านแล้ว จะสามารถจ่ายค่าผ่อนบ้านได้ทุกเดือน เพราะหากผ่อนไม่ไหวขึ้นมา จะส่งผลต่อประวัติการเงินของตัวเราได้
โดยทั่วไปธนาคารจะให้ผู้กู้มีภาระผ่อนหนี้ต่างๆ ทั้งบ้าน รถ สินเชื่อบุคคล รวมกันไม่เกิน 40-60% ของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้ ตัวเลขผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนที่แนะนำคือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่เป็นภาระที่หนักเกินไป เพราะเมื่อซื้อบ้านแล้ว ยังต้องบวกค่าประกัน ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำไฟ ค่าตกแต่งซ่อมแซม เพิ่มเข้าไปจากค่าผ่อนด้วย แถมกว่าจะผ่อนบ้านหลังหนึ่งหมดต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบๆ ปี
โดยทั่วไปธนาคารจะให้ผู้กู้มีภาระผ่อนหนี้ต่างๆ ทั้งบ้าน รถ สินเชื่อบุคคล รวมกันไม่เกิน 40-60% ของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้ ตัวเลขผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนที่แนะนำคือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่เป็นภาระที่หนักเกินไป เพราะเมื่อซื้อบ้านแล้ว ยังต้องบวกค่าประกัน ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำไฟ ค่าตกแต่งซ่อมแซม เพิ่มเข้าไปจากค่าผ่อนด้วย แถมกว่าจะผ่อนบ้านหลังหนึ่งหมดต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบๆ ปี
ขอแนะนำเพิ่มเติมให้ผู้ที่จะซื้อบ้านลองคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตัวเองดูว่า หากมีค่าผ่อนบ้านเพิ่มเข้ามา รายได้ที่มียังเพียงพออยู่หรือไม่ หรือสามารถจ่ายค่าผ่อนบ้านต่อเดือนได้แค่ไหนที่ไม่ทำให้ตัวเองหรือครอบครัวต้องเดือดร้อน เพราะแต่ละคนย่อมมีภาระค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เช่น มีผู้ในอุปการะดูแล ต้องจ่ายเทอมลูก ซึ่งตัวเราจะเป็นผู้ตอบได้ดีที่สุดว่าผ่อนไหวแค่ไหน
เงินค่าใช้จ่ายเมื่อกู้ซื้อบ้าน
หลังจากเจอบ้านที่ถูกใจแล้ว เมื่อตัดสินใจกู้ซื้อบ้านโดยขอสินเชื่อจากธนาคาร จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมเงินเอาไว้อีกก้อนหนึ่งด้วย ดังนี้
– จ่ายให้กรมที่ดิน ได้แก่ ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ ค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2% ของราคาประเมิน ซึ่งค่าธรรมเนียมการโอนนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงของผู้ซื้อและผู้ขายว่าใครจะเป็นคนจ่าย ส่วนใหญ่มักจ่ายคนละครึ่ง หรือผู้ขายเป็นผู้จ่ายคนเดียว
– จ่ายให้ธนาคาร ได้แก่ ค่าประเมินหลักทรัพย์ประมาณ 2,700-3,000 บาท ค่าประกันอัคคีภัยประมาณ 0.35% ของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ ซึ่งค่าอากรแสตมป์ ธนาคารเก็บจากผู้กู้เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร
– จ่ายให้โครงการ หลักๆ ได้แก่ ค่าประกันมิเตอร์น้ำและไฟฟ้าประมาณ 5,000-7,000 บาท ค่าส่วนกลางขึ้นอยู่กับขนาดบ้าน และมักเก็บล่วงหน้า 1 ปี เช่น พื้นที่บ้าน 50 ตารางวา ค่าส่วนกลาง 20 บาท/ตารางวา/เดือน จัดเก็บล่วงหน้า 12 เดือน เท่ากับว่าผู้ซื้อบ้านต้องจ่ายค่าส่วนกลางปีละ 12,000 บาท
จะเห็นได้ว่า การกู้ซื้อบ้านสักหลัง “เงิน” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งก่อนกู้และหลังกู้ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงพอจะตอบตัวเองได้แล้วใช่มั้ยว่า พร้อมไหมที่จะกู้ซื้อบ้าน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้หากยังคงมีคำถามว่าแท้จริงแล้วจะสามารถผ่อนได้มากน้อยแค่ไหน กู้ซื้อบ้านสูงสุดได้เท่าไร หรือแม้กระทั่งหากคิดจะรีไฟแนนซ์ ที่จำเป็นต้องตีตัวเลขออกมาเป็นของคุณโดยเฉพาะ ก็สามารถคำนวณสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยได้ที่นี่
อัพเดท คู่มือซื้อขาย ได้ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้าน คอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com