เตรียมเอกสารขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน ต่อเติม ซ่อมบ้าน ด้วยตนเองง่ายๆ

DDproperty Editorial Team
เตรียมเอกสารขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน ต่อเติม ซ่อมบ้าน ด้วยตนเองง่ายๆ
หากมีที่ดินอยู่แล้วต้องการสร้างบ้าน หรือหากบ้านที่มีอยู่นั้นเก่าและทรุดโทรมต้องการจะปรับปรุง ซ่อมแซม หรือถ้าบ้านเดิมนั้นแคบไปต้องการต่อเติมให้กว้างกว่าเดิม แต่ต้องการเงินทุนสำหรับดำเนินการ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ต่อเติมที่อยู่อาศัย หรือปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ตรงและลงตัวที่สุด ส่วนการเตรียมเอกสารขอสินเชื่อก็ไม่ยุ่งยากเลย DDproperty อาสาขอเป็นผู้ช่วยคุณ
การเตรียมเอกสารเพื่อขออนุมัติสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ซ่อมแซมบ้าน หรือปรับปรุงบ้านนั้นจะแบ่งเอกสารออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มเอกสารจะเหมือนกับเอกสารที่เตรียมยื่นขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย มีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ

เอกสารชุดนี้คือเอกสารที่จะระบุตัวตนว่าผู้ที่กู้เป็นใคร และพำนักพักอาศัยอยู่ที่ใด เอกสารที่ผู้ขอสินเชื่อต้องจัดเตรียมเพื่อยื่นประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อมีดังนี้
  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวข้าราชการ เตรียมให้พร้อมทั้งต้นฉบับและสำเนา
  • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ทั้งต้นฉบับและถ่ายสำเนาทุกหน้า
  • กรณีที่เปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุล ให้เตรียมใบจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ทั้งต้นฉบับและสำเนาทั้งหมดไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อกี่ครั้ง
  • กรณีสมรส เตรียมทะเบียนสมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
  • กรณีหย่า เตรียมทะเบียนหย่า ทั้งต้นฉบับและสำเนา
  • กรณีคู่สมรสเสียชีวิต เตรียมมรณะบัตรของคู่สมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
  • กรณีแยกกันอยู่กับคู่สมรส เตรียมใบแจ้งความแยกกันอยู่ ทั้งต้นฉบับและสำเนา
Contract home loan buy

กลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน

เอกสารชุดนี้จะให้ข้อมูลด้านรายได้และศักยภาพในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อ รวมไปถึงหลักทรัพย์ต่าง ๆ
  • กรณีเป็นพนักงานประจำสังกัดองค์กร ให้เตรียมเอกสารดังนี้
  • หนังสือรับรองเงินเดือน ฉบับจริง
  • เพย์เมนต์สลิปเงินเดือน หรือใบแจ้งการจ่ายค่าจ้างจากหน่วยงานย้อนหลัง 3 เดือน ฉบับจริงและสำเนา
  • สมุดบัญชีแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
  • กรณีรับเงินเดือนเป็นเงินสด ให้เตรียมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีหรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ทั้งต้นฉบับและสำเนา

กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว

  • สำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (หนังสือบริคณห์สนธิ) กรณีที่มีการจดทะเบียน
  • สมุดบัญชีแสดงการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน ทั้งบัญชีส่วนตัวและบัญชีกิจการ ทั้งฉบับจริงและสำเนา
  • บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน และวงเงินเบิกเกินบัญชี
  • หลักฐานเกี่ยวกับกิจการอื่น ๆ เช่น ภาพถ่ายกิจการ 5 ภาพ รายชื่อผู้ถือหุ้น งบการเงิน หลักฐานรายได้และทรัพย์สินอื่น ๆ หลักฐานแสดงการ เสียภาษี (ภ.พ. 30) เป็นต้น

กรณีประกอบอาชีพอิสระ

  • บัญชีเงินฝากแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร ทนาย สถาปนิก เป็นต้น
Young couple signing renting contract with real estate agent. agent giving pen to sign agreement for house sale

กลุ่มที่ 3 เอกสารแสดงรายละเอียดหลักทรัพย์

ในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นสถาบันการเงินจะถือเอาอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นหลักประกัน ดังนั้นเอกสารที่แสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ก็คือ เอกสารที่ระบุถึงอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ
กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน ทาว์นเฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ให้เตรียมสำเนาเอกสารสิทธิที่ดิน โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) หรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก.) ถ่ายสำเนาทุกหน้าจำนวน 2 ชุด
กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือห้องชุด ให้เตรียมหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช. 2) ถ่ายสำเนาทุกหน้า จำนวน 2 ชุด
  • แผนที่ตั้งโดยสังเขปของอสังหาริมทรัพย์
  • รูปถ่ายของอสังหาริมทรัพย์
  • กรณีขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน ให้เตรียมสำเนาใบอนุญาตปลูกสร้างบ้าน สำเนาแบบก่อสร้างอาคารหรือพิมพ์เขียว สำเนาสัญญาว่าจ้างปลูกสร้าง อาคารและสำเนาใบคำร้องขอเลขที่บ้าน
  • กรณีขอสินเชื่อเพื่อต่อเติมอาคาร ให้เตรียมสำเนาใบอนุญาตต่อเติมอาคาร และสำเนาสัญญาว่าจ้างต่อเติมอาคาร
  • กรณีขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซม ปรับปรุงอาคาร ให้เตรียมสำเนาสัญญาว่าจ้างซ่อมแซมหรือปรับปรุงอาคาร
กรณีมีผู้กู้ร่วม ให้ผู้กู้ร่วมทุกคนจัดเตรียมเอกสารในกลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ และเอกสารในกลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน ตามวิธีการและรายละเอียดที่ให้ไว้ด้านบน
Close-up Of Miniature House With Calculator On Wooden Table home loan
หลังจากเตรียมเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอสินเชื่อควรตรวจสอบเอกสารอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่าได้เตรียมไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ทั้งเอกสารที่ต้องการต้นฉบับไปแสดง โดยเฉพาะเอกสารที่แนบสำเนาไปกับคำขอสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ
รายการเตรียมเอกสารนี้เป็นการสรุปมาจากรายการเอกสารที่สถาบันการเงินต่าง ๆ เรียกขอประกอบการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ถึงแม้ว่าผู้ขอสินเชื่อจะเตรียมเอกสารครบถ้วนตามรายการแล้ว ทางสถาบันการเงินสามารถเรียกขอเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ ในกรณีนี้ผู้กู้ควรรีบดำเนินการนำเอกสารส่งต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อภายใน 3 วัน เพื่อความต่อเนื่องของกระบวนการพิจารณา
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน อ่าน คู่มือซื้อขาย ที่สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้าน ที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น