เทคนิคลดหย่อนภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยกู้บ้าน

DDproperty Editorial Team
เทคนิคลดหย่อนภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยกู้บ้าน

HIGHLIGHTS

  • ดอกเบี้ยบ้านที่เราชำระสามารถลดหย่อนภาษีได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

  • แต่ในกรณีกู้ร่วม จะลดหน่อยภาษีได้ โดยแบ่งกันตามอัตราเฉลี่ย เท่าๆ กัน

ช่วงต้นปีแบบนี้ใครที่กำลังอยู่ระหว่างการผ่อนบ้าน อาจจะรู้สึกว่าจะต้องมีรายจ่ายอีกก้อนที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการชำระภาษีเงินได้ ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคนที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายได้และชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
ช่วงเวลานี้แหละที่ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่คุณจ่ายไปตลอดทั้งปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับการผ่อนชำระในแต่ละงวด เงินจำนวนนี้กำลังจะกลับมาตอบแทนคุณ
เพราะกรมสรรพากรกำหนดให้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนเพิ่มเติมได้ แต่การลดหย่อนนี้ทำได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง DDproperty สรรหาเทคนิคลดหย่อนภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยกู้บ้านมาฝากคุณ
บ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และบ้านเป็นปัจจัยสี่ที่มีมูลค่าสูงสุด คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องกู้เงินหรือขอสินเชื่อเพื่อซื้อหรือสร้างบ้าน และเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้
รัฐบาลจึงสนับสนุนประชาชนด้วยการแบ่งเบาภาระด้านภาษีโดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยที่ชำระไปเพื่อการผ่อนบ้าน โดยให้ลดหย่อนสูงสุดถึงปีละ 100,000 บาท
ซึ่งเป็นเทคนิคลดหย่อนภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยกู้บ้านที่นำมาฝากกันในครั้งนี้ โดยผู้มีเงินได้สามารถจะหักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง ซึ่งในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว หรือที่เรารู้จักกันในรหัสเอกสารย่อ ภ.ง.ด.91 นั้น
จะปรากฎรายการลดหย่อนภาษีอยู่ในหมวด ค. รายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ข้อที่ 11. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ซึ่งผู้มีเงินได้จะสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ที่ชำระไปแล้วมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องอยู่ในเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจาณาของกรมสรรพากร ดังนี้
PIT91_2562_P1

เงื่อนไขด้านสถาบันการเงิน

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จะสามารถนำมาลดหย่อนได้นั้น จะต้องกู้ยืมมาจากผู้ประกอบกิจการภายในราชอาณาจักรเฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิแอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์
รวมไปถึงนายจ้างที่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่เข้ารับช่วงสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมดังกล่าว
อีกทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย แต่ส่วนใหญ่ผู้มีเงินได้จะขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งเข้าเกณฑ์เงื่อนไขนี้

เงื่อนไขด้านวัตถุประสงค์การกู้ยืม

กรมสรรพากรให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน โดยจะต้องเป็นการกู้เงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเอง หรือบนที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครอง

เงื่อนไขการจดจำนอง

จะต้องมีการจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน ไว้เป็นการประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม

เงื่อนไขอื่น ๆ

การใช้งานอาคารหรือห้องชุดในอาคารจะต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี ในเงื่อนไขนี้ไม่รวมการที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ หรือกรณีที่อาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นเพื่ออยู่อาศัยได้

เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี

กรมสรรพากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ดังนั้นถ้าหากจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100,000 บาทก็จะสามารถลดหย่อนได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ถ้าหากจ่ายดอกเบี้ยไปมากกว่า 100,000 บาท ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่ากับ 100,000 บาทเท่านั้น

กรณีที่มีบ้านมากกว่า 1 แห่งจะนำมาลดหย่อนภาษีได้กี่แห่ง

ถ้าผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารที่เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนภาษีเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนภาษีได้ทุกแห่ง

กรณีที่ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ตลอดช่วงเวลาทั้งปีภาษี

หากเริ่มจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงปลายปี จะหักลดหย่อนภาษีได้แค่ไหน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ว่ากรณีที่หักลดหย่อนนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม เช่น เริ่มผ่อนบ้านตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปทั้งหมด 40,000 บาท ก็จะสามารถขอลดหย่อนได้เต็มจำนวน 40,000 บาท
Syndicated Loan

กรณีที่มีผู้กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมแต่ละคนจะหักลดหย่อนภาษีได้คนละเท่าไร

ถ้าผู้มีเงินได้มากกว่า 1 คนร่วมกันกู้ซื้ออาคารหรือห้องชุดในอาคารเพื่ออยู่อาศัย ให้ผู้กู้ร่วมทั้งหมดหักลดหย่อนภาษีได้ทุกคนโดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท เช่น
ถ้ามีผู้กู้ร่วมทั้งหมด 4 คน จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปทั้งหมด 120,000 บาท แต่กำหนดให้ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น รวมกันแล้วลดหย่อนได้เต็มที่ 100,000 บาท เฉลี่ยแล้วแต่ละคนลดหย่อนภาษีได้คนละ 25,000 บาท

กรณีที่จดทะเบียนสมรสกัน มีเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง

กรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสกันนั้น สิ่งที่จะพิจารณา ได้แก่ ผู้มีเงินได้และได้รับการยกเว้นภาษีเป็นฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่าย การยื่นแบบแสดงภาษีนั้นยื่นร่วมกันหรือแยกกันยื่น การกู้เป็นการต่างคนต่างกู้หรือการกู้ร่วมกัน ซึ่งแยกอธิบายได้เป็นรายกรณี ดังนี้
HomeLoanTaxDeductConditionTable
1. กรณีที่สามีหรือภรรยาเป็นผู้มีเงินได้เพียงฝ่ายเดียว (ยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีร่วมกัน) และร่วมกันกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ให้หักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับฝ่ายผู้มีเงินได้เต็มจำนวน ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2. กรณีที่ทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นผู้มีเงินได้ทั้งสองฝ่ายและร่วมกันกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ในกรณีนี้จะคล้ายกับการกู้ร่วมคือ ไม่ว่าทั้งสามีและภรรยาจะยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีร่วมกันก็จะได้ยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
3. กรณีที่ทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นผู้มีเงินได้ทั้งสองฝ่ายและร่วมกันกู้เพื่อที่อยู่อาศัย แต่แยกกันยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีแยกกันก็จะได้ยกเว้นภาษีเพียงคนละครึ่งตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยรวมกันแล้วทั้งสองคนจะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 100,000 บาท
4. กรณีที่ทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นผู้มีเงินได้ และยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีร่วมกัน โดยต่างฝ่ายต่างแยกกันกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ฝ่ายที่ยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีสามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับยกเว้นภาษีส่วนของสามีหรือภรรยา จากจำนวนเงินที่จ่ายไปเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
5. กรณีที่ทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นผู้มีเงินได้ แต่แยกยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษี และต่างคนต่างกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ในกรณีนี้ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

สถานภาพสมรสจำเป็นต้องมีอยู่ตลอดทั้งปีภาษีหรือไม่ อย่างไร

การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยนั้นจะพิจารณาสถานภาพสมรสว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสถานภาพสมรส ตลอดจนการมีอยู่ของสถานภาพสมรสตลอดทั้งปีภาษีนั้นไม่เป็นประเด็นในการพิจารณาการลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย

การรีไฟแนนซ์ หรือไถ่ถอนหนี้มีผลต่อการขอลดหย่อนภาษีหรือไม่ อย่างไร

กรณีที่มีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืม ซึ่งก็คือการรีไฟแนนซ์ก็ยังคงให้หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

หลักฐานในการขอลดหย่อนภาษีจากการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย

ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนดจากผู้ให้กู้ยืม เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการซื้อ เช่าซื้อ อาคารหรือห้องชุดในอาคาร หรือสร้างที่อยู่อาศัยด้วย

ขั้นตอนการขอลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย

HomeLoanTaxDeduct03
วิธีการขอลดหย่อนภาษีนั้นง่ายมากโดยที่เราไม่ต้องคำนวณตัวเลขให้ยุ่งยากเลย เพราะในช่วงปลายปีถึงต้นปีธนาคารที่เราขอสินเชื่อจะส่งเอกสารที่เรียกว่าหนังสือรับรองดอกเบี้ยมาที่ผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งหนังสือรับรองดอกเบี้ยนี้จะสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านของเราว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาเราผ่อนชำระไปเป็นจำนวนเท่าไร เหลือยอดหนี้เท่าไร และในจำนวนนั้นคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดกี่บาท
ซึ่งตัวเลขนี้เราสามารถนำมากรอกในแบบแสดงรายได้ของเราได้ทันทีที่หมวด ค. รายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ข้อที่ 11. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หลังจากกรอกข้อมูลและยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ ต่อกรมสรรพากรแล้วก็ควรเก็บหนังสือรับรองดอกเบี้ยนี้ไว้เป็นหลักฐาน เผื่อกรมสรรพากรต้องการเรียกดูในภายหลัง
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน