เริ่มต้นธุรกิจ-ขยายกิจการ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ช่วยได้

DDproperty Editorial Team
เริ่มต้นธุรกิจ-ขยายกิจการ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ช่วยได้
สำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจหรือขยับขยายกิจการ การลงทุนในสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นอาคาร โรงงานหรือเครื่องจักรนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเรื่องใหญ่เพราะมีมูลค่าสูง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเกินกำลังสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จะลงทุน เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินผ่านสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ซึ่งมีรายละเอียดอย่างไรนั้น DDproperty ขอชวนคุณมาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กัน
สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบรายย่อย SMEs สำหรับการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ ได้แก่ สำนักงาน โรงงาน และที่ดิน รวมไปถึงเครื่องจักร ซึ่งรวมๆ เรียกว่า PPE: Property, Plant & Equipment นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามวัตถุประสงค์คือ สินเชื่อเพื่อเริ่มต้นกิจการ และสินเชื่อเพื่อขยายกิจการ ซึ่งทั้งสองประเภทนั้นมีรายละเอียดของเงื่อนไข และบริการที่จะได้รับแตกต่างกัน

สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เพื่อเริ่มต้นกิจการ

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นกิจการนั้นในระยะแรกจะยังไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารธุรกิจให้ธนาคารพิจารณา ดังนั้นในช่วงแรกผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องใช้เงินทุนส่วนตัวที่มีอยู่ หรือจากการระดมทุนจากหุ้นส่วนมาเริ่มต้นทำกิจการไปก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องจดทะเบียนการดำเนินธุรกิจในนามนิติบุคคล
โดยเฉพาะหากเป็นกิจการจัดสรรก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มีการจดทะเบียนผู้ประกอบการตามที่กฎหมายกำหนด และมีการเดินบัญชีรับ-จ่ายในการดำเนินธุรกิจผ่านระบบบัญชีธนาคารอย่างต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 12 เดือน หรือจนกว่าจะมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จเป็นผลงานให้ธนาคารเห็นความสามารถในการบริหารธุรกิจของผู้ขอสินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาจากตัวเลขกำไรสุทธิของผลการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์กำหนดวงเงินและประเภทสินเชื่อต่อไป
ถึงแม้ว่าผู้ที่เริ่มต้นกิจการจะไม่สามารถขอสินเชื่อโดยตรงกับธนาคารได้ แต่ธนาคารก็มีตัวช่วยเพื่อให้การเริ่มต้นกิจการทำได้ง่ายขึ้น ดังนี้
1. วงเงินหนังสือค้ำประกัน บริการออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ลูกค้า เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หรือภาระผูกพันต่างๆ ที่ลูกค้ามีต่อผู้รับหนังสือค้ำประกัน ลูกค้าสามารถนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปวางเป็นหลักประกันแทนหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินสด โฉนด หรือ พันธบัตร เป็นต้น
เพื่อเป็นการรับรองว่าหากลูกค้าผิดสัญญา ผู้รับหนังสือค้ำประกันสามารถเรียกร้องให้ธนาคารชำระหนี้แทน ซึ่งธนาคารในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องชดใช้หนี้แทนลูกค้าทันทีที่ผู้รับหนังสือค้ำประกันเรียกร้อง และติดตามเรียกเงินคืนจากลูกค้าในภายหลัง เช่น การค้ำประกันการชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้า การค้ำประกันการชำระเงินค่าสินค้า เป็นต้น
2. การเช่าเครื่องจักร ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการเช่าเครื่องจักรซึ่งมีระยะเวลาเช่า 3 ปีขึ้นไป ผ่านบริการแฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าแล้วผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะเช่าเครื่องจักรต่อไป ซื้อกลับ หรือคืนเครื่องจักรกลับไปให้ธนาคารก็ได้

สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เพื่อขยายกิจการ

สำหรับผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจ หรือมีการดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีผลงานหรือผลการดำเนินการที่ผ่านมาที่มีความน่าเชื่อถือได้ หรือมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อขยายกิจการตามวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจ ดังนี้
1. เงินกู้ (Loan) เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการใช้เงินทุนเป็นก้อนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการ เช่น ซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ซื้อเครื่องจักร ก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารสำนักงาน โรงงาน หรือลงทุนซื้อที่ดิน และก่อสร้างบ้าน คอนโดฯ เพื่อจัดสรร เป็นต้น
โดยสามารถเบิกรับเงินเป็นก้อนเต็มจำนวนที่ได้รับอนุมัติ หรือเบิกตามงวดงานตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ระหว่างผู้ขอกู้กับผู้ให้กู้ โดยมีกำหนดยอดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันไว้ส่งเป็นงวด ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา บริการเงินกู้นี้กำหนดระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 3 ปี ถ้าหากต้องการขอสินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์สิน โดยระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน 7-10 ปีขึ้นไป และยอดผ่อนชำระน้อยกว่าสินเชื่อปกติ ก็สามารถขอสินเชื่อประเภทพิเศษกับธนาคารได้อีกทางหนึ่ง
2. เงินทุนหมุนเวียน ได้แก่ การกู้เบิกเงินเกินบัญชี และตั๋วสัญญาใช้เงิน
2.1. กู้เบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft: O/D) เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินทุนที่กู้ยืมมาใช้ในการเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ โดยมีเครื่องมือคือบัญชีกระแสรายวัน และใช้เช็คในการถอนเงินเบิกจ่าย โดยผู้กู้จะตกลงกับธนาคารที่ให้กู้เพื่อกำหนดวงเงินที่จะเบิกถอนได้ โดยจะเบิกถอนวันละกี่ครั้งก็ได้แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่ตกลงกันไว้ ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นนับแต่วันที่ผู้กู้เบิกเกินบัญชีไปเท่านั้น
เงินกู้ประเภทนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระคืนที่แน่นอน เมื่อผู้กู้มีเงินก็สามารถนำเงินฝากเข้าเพื่อลดยอดหนี้ในบัญชีได้ทุกขณะ จำนวนเงินที่นำฝากนี้อาจจะมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับจำนวนเงินที่เบิกใช้ก็ได้ สินเชื่อนี้ถือว่าเป็นเงินกู้ระยะสั้น เมื่อใดที่เงินในบัญชีไม่พอจ่าย ก็สามารถนำเงินจากบัญชี O/D ที่สำรองไว้มาใช้ไปก่อน
เมื่อมีรายรับเข้ามาก็ฝากเข้ากลบยอดที่เกินลดยอดลง ผู้กู้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อยอดเงินในบัญชี ไม่มียอดติดลบ หรือเป็นลูกหนี้ธนาคาร มีความสะดวกและคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีระเบียบการกำหนดวงเงิน O/D ของผู้กู้แต่ละราย โดยวงเงินทุกธนาคารรวมกันจะต้องไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายเล็กหรือระดับบริษัทมหาชน และการคิดดอกเบี้ยจะคิดทุกสิ้นเดือน
2.2. ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note: P/N) คือเอกสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ใช้ในการกู้ยืมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบุคคลผู้ออกตั๋วได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะใช้เงินภายในระยะเวลาที่กำหนด เหมาะสำหรับใช้หมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มเติมจากวงเงิน O/D ที่จำกัดวงเงินไว้ไม่เกิน 30 ล้านบาท
แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินจะไม่มีการจำกัดวงเงิน หรือสำหรับธุรกิจที่ต้องการเป็นเงินกู้ระยะสั้น องค์ประกอบของตั๋วสัญญาใช้เงินโดยทั่วไปจะประกอบด้วย เงินต้น อัตราดอกเบี้ย กำหนดวันชำระเงิน วันสิ้นสุดการชำระเงิน ผู้กู้อาจตกลงกับผู้ให้กู้ว่าจะขอกู้เป็นจำนวนเงินเท่าไร และจะชำระเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยที่ตกลงไว้ภายในระยะเวลากี่วัน หรือมีกำหนดวงเงินที่สามารถออกตั๋วฯ ได้หลายครั้งแต่รวมกันแล้วจะไม่เกินวงเงินที่กำหนด เมื่อกำหนดจำนวนวันไว้แล้ว
เช่น ภายในระยะเวลา 90 วัน ผู้กู้จะชำระก่อนกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ตามหน้าตั๋วก่อนก็ได้ ผู้ให้กู้ก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับวันที่ใช้จริง (แต่หากชำระหลังกำหนด ถือว่าผิดสัญญาจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น) เหมาะสำหรับนำเงินไปใส่ในบัญชี O/D ที่จะใช้เต็มวงเงินเพื่อลดยอดลงและเดินบัญชีต่อไปได้สะดวกขึ้น
SMEs01

คุณสมบัติผู้ประกอบการ และเอกสารยื่นขอสินเชื่อ

คุณสมบัติของผู้กู้
  • ระยะเวลาการดำเนินธุรกิจไม่ควรต่ำกว่า 3 ปี
  • ต้องไม่เป็น NPL กับสถาบันที่ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ณ ปัจจุบัน
  • กิจการของผู้ขอเครดิต ควรมีกำไรก่อนหักภาษี (ไม่รวมรายการพิเศษ) 2 ใน 3 ปี ล่าสุดเป็นบวก
  • คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

เอกสารประกอบการขอสินเชื่อ

  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วน / บริษัท (ไม่เกิน 3 เดือน)
  • หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัท (ไม่เกิน 3 เดือน)
  • สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนิติบุคคล
  • สำเนาใบแสดงภาษีเงินได้
  • รายงานการประชุมของนิติบุคคลที่มีมติให้ขอสินเชื่อและ/หรือเปิดบัญชีธนาคาร
  • งบการเงินของกิจการปีล่าสุด ฉบับยื่นกรมสรรพากร
  • ใบแสดงรายการเดินบัญชี (Statement) จากสถาบันการเงินย้อนหลังไม่น้อยกว่า 6 เดือนล่าสุด
  • สำเนาเอกสารสิทธิหลักประกัน
  • สำเนาสัญญาจะซื้อขาย หรือ สัญญามัดจำ (ถ้ามี)
สำหรับขั้นตอนในการยื่นขอสินเชื่อสามารถยื่นขอใช้บริการได้ที่สาขาที่สะดวก หรือสาขาที่ใช้บัญชีอยู่ หรือสาขาในพื้นที่ทำโครงการ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ได้ที่ K-BiZ Contact Center โทร 02 888 8822 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น

ข้อแนะนำผู้ประกอบการในการพิจารณาตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจ หรือขยายกิจการ

1. ต้องเป็นโครงการที่ก่อรายได้ มีกำไรสุทธิสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย มีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินที่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องระบุความต้องการเงินสินเชื่อว่าต้องการจำนวนเท่าไร หากได้รับการอนุมัติจะมีประโยชน์กับธุรกิจอย่างไรบ้าง หรือสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับธุรกิจได้เช่นไร
2. แหล่งรายได้และภาระหนี้สินคือที่มาของวงเงิน ต้องคำนวณความสามารถของธุรกิจว่ามีความสามารถรับภาระหนี้ได้ โดยยอดภาระการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด ธนาคารจะคำนวณความสามารถในการชำระหนี้ให้ไม่เกิน 70-80% ของกำไรสุทธิ (รวมภาระผ่อนเดิม ถ้ามี) เพื่อนำมาจัดวงเงินสินเชื่อที่สามารถอนุมัติได้ ธนาคารจะพิจารณาเฉพาะกำไรที่เป็นรูปเงินสดไปคำนวณความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากธนาคารจะรับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินสดเท่านั้น (หักลูกหนี้ค้างรับและสต็อกออก)
3. ต้องมีการเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ธนาคารต้องการทราบสภาพธุรกิจและยอดขายที่เชื่อถือได้ของผู้ประกอบการที่มาขอสินเชื่อ จึงต้องอ้างอิงกระแสเงินสดเข้าออกบัญชี (Statement) มาเป็นเครื่องมือในการประเมินสภาพธุรกรรมและรายได้ ดังนั้นการเดินบัญชีเข้า-ออกอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นการสร้างประวัติธุรกิจ
4. เปิดเผยข้อมูลกับธนาคารอย่างครบถ้วน ควรบอกความจริงเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะรายชื่อคู่ค้ารายใหญ่ทั้งด้านซื้อและด้านขาย เพราะหากมีจำนวนคู่ค้ามากรายก็จะแสดงให้ธนาคารเห็นว่าผู้ประกอบการมีความเสี่ยงต่ำ ถึงแม้ว่าหากมีคู่ค้ารายใดไม่ได้ทำธุรกิจด้วยก็ยังมีรายอื่นรองรับ ตรงข้ามกับการแจ้งว่ามีคู่ค้ารายเดียวหรือจำนวนน้อยรายที่ดูแล้วมีความเสี่ยงสูง
5. มีเอกสารครบถ้วนโดยเฉพาะเอกสารทางการค้า บัญชีซื้อ-ขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ เป็นเอกสารที่สำคัญมาก เพราะเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการพิจารณา ธนาคารจะพิจารณาตามหลักฐานเอกสารเป็นสำคัญ
เรื่องข้างต้นนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลและข้อแนะนำจาก K-Expert โดย ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ K-Expert
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์