เรียนจบ เริ่มทำงาน กู้ซื้อคอนโดฯ เลยดีไหม

DDproperty Editorial Team
เรียนจบ เริ่มทำงาน กู้ซื้อคอนโดฯ เลยดีไหม

“ก่อนยื่นกู้บ้าน ควรกันเงินสำรองให้เพียงพอสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน และมีภาระผ่อนไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อป้องกันปัญหาผ่อนไม่ไหวตามมา”

หลายคนเมื่อเรียนจบ เข้าสู่ชีวิตการทำงาน ก็ฝันอยากมีคอนโดฯ เป็นของตัวเอง อาจเพราะอยากอยู่ใกล้ที่ทำงาน เดินทางสะดวก อยากใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ หรืออยากมีทรัพย์สินเป็นของตัวเองสักชิ้น แต่ไม่ว่าเหตุผลที่คนเราอยากมีคอนโดฯ คืออะไร ก็ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะราคาคอนโดฯ ห้องหนึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ถูกๆ อย่างน้อยก็ต้องว่ากันเป็นหลักล้าน ผ่อนกันยาวเป็นสิบๆ ปี ดังนั้น ก่อนจะซื้อคอนโดฯ สักห้องสำหรับเด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน มีอะไรต้องคิดหรือวางแผนบ้าง K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก
เรื่องแรกที่ต้องพิจารณาคือ “อายุงาน”
young blond woman working on her laptop at home looking to a side in thoughts

หลายคนคิดว่า พอมีรายได้แล้ว จะขอสินเชื่อบ้านได้ทันที ต้องบอกว่า ธนาคารจะดูอายุงานด้วย เช่น ธนาคารกำหนดว่า มนุษย์เงินเดือนหรือผู้มีรายได้ประจำ ต้องมีอายุงานไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยอายุงานสามารถรวมที่ทำงานเก่าได้ แต่ต้องผ่านการทดลองงาน ณ ที่ทำงานปัจจุบัน หรือที่ปัจจุบันต้องมีระยะเวลาทำงานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ต้องประกอบธุรกิจปัจจุบันมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นั่นหมายความว่า เพิ่งเรียนจบ จะยังกู้ซื้อคอนโดฯ ไม่ได้ทันที หรือเพิ่งย้ายงาน ส่วนใหญ่ต้องรอพ้นช่วงทดลองงาน ให้มีอายุงานขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด เพราะอายุงานเป็นตัวหนึ่งที่สะท้อนความมั่นคงในหน้าที่การงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่
หากอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อจะกู้บ้านหรือคอนโดฯ คือ “เงินดาวน์” โดยทั่วไปธนาคารไม่ได้ให้วงเงินกู้เต็ม 100% ผู้กู้จึงต้องวางเงินดาวน์ก้อนหนึ่งประมาณ 20% ของราคาคอนโดฯ เช่น คอนโดฯ ราคา 1 ล้านบาท ควรมีเงินดาวน์เตรียมไว้ 2 แสนบาท ก็ต้องวางแผนเก็บออมเงินให้เพียงพอ ซึ่งถ้าลองคำนวณเงินออมต่อเดือนดูแล้วสูงเกินความสามารถ อาจเลื่อนระยะเวลาซื้อคอนโดฯ ออกไปเพื่อให้มีเวลาออมเงินนานขึ้น
อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่วางแผนจะซื้อคอนโดฯ คือ การผ่อนดาวน์คอนโดฯ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วเมื่อสร้างเสร็จ จะค่อยยื่นกู้ส่วนต่างกับธนาคาร แต่มีเรื่องที่ต้องระวังคือ หลังจากผ่อนดาวน์หมดแล้ว เมื่อต้องการกู้ส่วนต่างกับธนาคาร จะกู้ผ่านหรือไม่ หรือได้วงเงินแค่ไหน ถ้ากู้ไม่ผ่านขึ้นมา คงต้องหาคนมารับซื้อคอนโดฯ ห้องนั้นต่อ หรือหาเงินมาวางดาวน์เพิ่มกรณีที่ได้วงเงินกู้ไม่สูงนัก
หลายคนอาจเคยเห็นโปรโมชันของธนาคารที่ร่วมกับโครงการให้วงเงินกู้ 100% ของราคาขายหรือราคาประเมิน ช่วยให้ผู้กู้ไม่ต้องรอเก็บเงินดาวน์ ก็สามารถเป็นเจ้าของคอนโดฯ ได้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ การขอวงเงินกู้ที่สูงขึ้น ค่าผ่อนต่อเดือน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็มากขึ้นตาม แต่หากสามารถวางเงินดาวน์ได้สักก้อน ภาระผ่อนจะลดลง และจริงๆ แล้ว การเก็บเงินทุกเดือนเพื่อเป็นเงินดาวน์เป็นการฝึกวินัยให้ตัวเองในการผ่อนบ้านว่าถ้าหลังจากกู้บ้านผ่าน จะสามารถผ่อนบ้านไหวได้ทุกเดือนหรือไม่
อีกเรื่องหนึ่งที่ธนาคารจะประเมินคือ “ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้”
Home loan - credit
โดยทั่วไปธนาคารจะให้ผู้กู้มีภาระผ่อนหนี้ทั้งบ้าน รถ สินเชื่อส่วนบุคคล รวมกันไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงอาจมีภาระผ่อนได้ถึง 50-60% ของรายได้ต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ภาระผ่อนนี้เองที่จะมีผลต่อวงเงินกู้ที่จะได้รับ
คิดคร่าวๆ กู้ 1 ล้านบาท จะผ่อนเดือนละประมาณ 7 พันบาท ถ้าธนาคารให้มีภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เท่ากับว่า ถ้ากู้บ้านจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 17,500 บาท (ผู้ที่วางแผนกู้ซื้อบ้านสามารถใช้ตัวเลขนี้ในการประเมินวงเงินกู้เบื้องต้นของตัวเองได้นะคะ) สมมติ คอนโดฯ ที่สนใจ 1 ห้องนอน ขนาด 30 ตรม. ราคา 3 ล้านบาท ผ่อนเดือนละประมาณ 2.1 หมื่นบาท ผู้กู้ควรมีรายได้อย่างน้อยเดือนละ 52,500 บาท
สำหรับเด็กจบใหม่ บางทีเงินเดือนยังไม่เยอะมาก วงเงินที่ได้รับก็อาจจะน้อย อาจรอให้เงินเดือนปรับเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย ค่อยยื่นกู้จะดีกว่า และถ้าวางแผนจะซื้อบ้านหรือคอนโดฯ แน่นอน ก็อย่าเพิ่งเป็นหนี้อย่างอื่น เช่น รถ เพราะถ้ามีภาระผ่อนหนี้อยู่ จะทำให้ขอสินเชื่อบ้านได้วงเงินน้อยลง
K-Expert ขอแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่วางแผนกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ภาระผ่อนบ้านที่เหมาะสมคือ 30% ของรายได้ต่อเดือน แม้ว่าธนาคารจะให้เรามีภาระผ่อนได้สูงกว่านี้ แต่ถ้าลองพิจารณาให้ดี การกู้บ้านหรือคอนโดฯ ไม่ได้มีแค่ผ่อนรายเดือนเท่านั้น ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา ทั้งค่าส่วนกลาง ค่าประกัน ค่าน้ำไฟ ค่าตกแต่งซ่อมแซม ที่ต้องกันเงินไว้อีกส่วนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อรวมกับค่าผ่อนแล้ว อาจมีสัดส่วนถึง 40-50% ของรายได้ต่อเดือนเลยก็เป็นได้ K-Expert จึงไม่อยากให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูงเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาผ่อนไม่ไหว และไม่กระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ก่อนกู้บ้าน ควรกันเงินไว้อีกสักก้อนสำหรับเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องอย่างเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เมื่อต้องใช้เงิน หรือเดือนไหน ช่วงไหน มีปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จะได้นำเงินสำรองส่วนนี้มาใช้จ่ายหรือเป็นค่าผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ ได้ทันทีค่ะ
การกู้ซื้อคอนโดฯ ทำให้เรามีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง แต่ก็ตามมาด้วยภาระผูกพันระยะยาว จึงควรวางแผนคิดให้รอบคอบว่าตัวเราสามารถผ่อนไหวหรือไม่ ที่สำคัญ จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องซื้อคอนโดฯ ห้องนี้ บางทีการอยู่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่ ได้ดูแลท่านก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง หรือเดินทางไปทำงานด้วยรถสาธารณะไม่ลำบากนัก ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย ตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจ
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้าน คอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ