15 บริการเรื่องที่ดินทำเองได้ผ่านแอปฯ ไม่ต้องไปสำนักงานที่ดิน

DDproperty Editorial Team
15 บริการเรื่องที่ดินทำเองได้ผ่านแอปฯ ไม่ต้องไปสำนักงานที่ดิน
รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีผู้ติดต่อและทำธุรกิจกับสำนักงานที่ดินปีละ 13 ล้านครั้ง ขอคำปรึกษาเดือนละประมาณ 30,000 ครั้งต่อปี แต่ในปัจจุบันอาจไม่ได้เห็นภาพเหล่านั้นอีกแล้วเนื่องจากกรมที่ดินได้ยกระดับการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้มาติดต่อสำนักงานที่ดิน โดยได้รวบรวมการให้บริการด้านที่ดินต่าง ๆ ไว้ในแอปพลิเคชัน
รวมประกาศขายโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

จดทะเบียนที่ดินออนไลน์ ต่างสำนักงานที่ดิน

กรมที่ดินจัดทำสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ "จดทะเบียนที่ดินออนไลน์" ต่างสำนักงานที่ดิน ใน 15 จังหวัด 102 สำนักงาน ได้แก่
  • ภาคกลาง: กรุงเทพฯ, นครปฐม, ปทุมธานี, นครนายก, นนทบุรี, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
  • ภาคเหนือ: เชียงใหม่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: หนองคาย, บึงกาฬ, ขอนแก่น และอุบลราชธานี
  • ภาคตะวันตก: เพชรบุรี
  • ภาคใต้: สงขลา
อยู่ใกล้ที่ไหนไปใช้บริการที่นั่น ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เนื่องจากเจ้าของที่ดินไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้บ้าน
ยกตัวอย่างเช่น หากจะซื้อที่ดินที่ตั้งอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ผู้ซื้อ-ผู้ขายสามารถยื่นคำขอซื้อขายที่ดินที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งใน 15 จังหวัดก็ได้ เจ้าพนักงานที่ดินสามารถจดทะเบียนแบบออนไลน์ แล้วเสร็จภายใน 1 วันทำการ

ขั้นตอนการจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ ต่างสำนักงานที่ดิน

ผู้ที่ต้องการจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ ต่างสำนักงานที่ดิน จะต้องจองคิวล่วงหน้า 1 วันทำการ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน e-QLands ซึ่งมีทั้งระบบ ios และแอนดรอยด์
2. กดเลือกจองคิวจดทะเบียนต่างสำนักงานแบบออนไลน์ (เฉพาะโฉนดที่ดินและเป็นสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์)
3. เลือกสำนักงานที่ใกล้บ้านหรือที่สะดวก
4. รอการยืนยัน
5. เดินทางไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่จองไว้ ตามวันและเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าการให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต้องเป็นโฉนดที่ดินเท่านั้น ไม่ใช้หลักเกณฑ์การประกาศหรือรังวัดมีเอกสารหลักฐานอื่น และเจ้าของที่ดินต้องดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร. 02-141-5555
รู้จักเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

รู้จักเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

บริการ e-LandsPublic ระบบค้นที่ดินของรัฐ

จากข้อมูลของกรมที่ดิน พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ แบ่งที่ดินออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ที่ดินเอกชน
2. ที่ดินของรัฐ มีหลายประเภท เช่น ป่าถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ
e-LandsPublic ระบบค้นที่ดินของรัฐ
สำหรับที่ดินของรัฐที่อยู่ในการบริหารจัดการของกรมที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือ ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามสภาพธรรมชาติ มีการสงวนหวงห้ามตามกฎหมายการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร หรือโดยการอุทิศให้เป็นที่มาของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.)
ทั้งนี้ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นเอกสารที่ราชการจัดทำขึ้นเพื่อบอกแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน ทำให้ประชาชนที่มีที่ดินติดกับเขตที่ดินของรัฐรู้ว่าเขตที่ดินของตนอยู่ที่ใด เป็นการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ และเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ กรมที่ดินใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จึงได้พัฒนาระบบ "e-LandsPublic" ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถสืบค้น เรียกดูตำแหน่งของรูปแปลงที่ดินของรัฐ
หน่วยงานของรัฐและประชาชนสามารถใช้งานระบบ "e-LandsPublic" ได้ที่นี่ หรือคลิกฟังก์ชัน "ค้นหา น.ส.ล." บนแอปพลิเคชัน SmartLands ได้ทันที โดย สามารถดาวน์โหลดคู่มือการใช้ได้ที่นี่

15 บริการที่ทำเองได้ผ่านแอป SmartLands

นอกจากการแจ้งขอโฉนดที่ดินออนไลน์แล้ว ปัจจุบันแอปพลิเคชัน "SmartLands" ยังให้บริการอีก 15 ด้าน ดังนี้
1. สารานุกรมที่ดิน ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านที่ดินที่สำคัญและจำเป็นสำหรับประชาชน
2. การนัดจดทะเบียนล่วงหน้า ในการทำธุรกรรมด้านที่ดินกับสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ
3. LandsMaps การค้นหารูปแปลงที่ดิน โดยสามารถเข้าถึงการค้นหาที่ดิน โฉนดที่ดิน และเลขระวางได้ทันที อ่านวิธีใช้ LandsMaps เพิ่มเติมได้ที่นี่
4. การตรวจสอบราคาประเมินที่ดินประจำปีของกรมธนารักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นราคาประเมินที่ดินรอบปี 2566-2569 โดยภาพรวมทั้งประเทศราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ส่วนกรุงเทพฯ ปรับขึ้นประมาณ 3% สูงสุดยังเป็นพื้นที่ทำเลกลางเมืองแนวรถไฟฟ้า
โดยทำเลที่มีราคาประเมินที่ดินแพงที่สุดเป็นเพลินจิต, วิทยุ, สีลม และพระราม 1 ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 1,000,000 บาท/ตารางวา เช็กราคาประเมินที่ดินกรุงเทพฯ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ค้นหารูปแปลงที่ดิน ตรวจสอบราคาประเมินที่ดินได้ด้วยตัวเอง
5. การค้นหาที่ตั้งสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ
6. การคำนวณภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่ดินประเภทต่าง ๆ เพื่อเตรียมการ
7. ขั้นตอนการทำธุรกรรมที่ดิน
8. การค้นหาข้อมูลนิติบุคคลจัดสรรที่ดินอาคารชุด
9. การค้นหาประกาศที่ดิน (e-LandsAnnouncement) เพื่อรักษาสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยประชาชนสามารถตรวจสอบประกาศการทำนิติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของตนเอง เช่น มรดกเกี่ยวกับที่ดิน การรังวัดข้างเคียง หากจำเป็นต้องคัดค้านก็สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาเพื่อรักษาสิทธิในที่ดินของตนเอง
10. การเข้าถึงเว็บไซต์กรมที่ดิน
11. การร้องทุกข์-ร้องเรียน ผ่านระบบ e-Contact DC
12. การติดต่อกรมที่ดินผ่าน LINE: @teedin ของแต่ละสำนักงานที่ดินเพื่อปรึกษาหารือ ติดตามงานที่ยังไม่แล้วเสร็จในวันเดียว
13. ข่าวการจัดซื้อ-จัดจ้าง ของกรมที่ดิน
14. ระบบถาม-ตอบ ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดิน
15. การตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการรังวัดทั่วประเทศที่มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำถามยอดนิยม

ใช้แอปพลิเคชัน SmartLands โดยใช้ตัวเลือก LandsMaps เพื่อค้นหารูปแปลงที่ดิน โดยสามารถเข้าถึงการค้นหาที่ดิน โฉนดที่ดิน และเลขระวางได้ทันที