หลายคนอาจมองว่า “บันไดบ้าน” เป็นเพียงส่วนประกอบที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่งของบ้านเท่านั้น แต่ความจริงแล้วบันไดบ้านที่ออกแบบอย่างดี กลับช่วยเพิ่มมูลค่าให้บ้านสวยงามและน่าอยู่อาศัยขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ของ Hogbens Property Services จากประเทศอังกฤษเผยว่า บันไดบ้านที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงามจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้บ้านมีราคาที่น่าสนใจขึ้น เพราะแทบจะเป็นสิ่งแรกที่พบเห็นเมื่อเปิดประตูบ้านเข้ามา ซึ่งบันไดบ้านที่ได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ก็เปรียบเสมือนผลงานศิลปะชิ้นเอกของบ้าน นอกจากทำให้บรรยากาศโดยรวมของบ้านน่าอยู่มากขึ้น แล้วยังสะท้อนรสนิยมของผู้อาศัยอีกด้วย
บันไดบ้านมีกี่แบบ
บันไดบ้านมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก แต่สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงเป็นอันดับแรกคือขนาดของพื้นที่บ้านที่เรามี จากนั้นค่อยมาเลือกรูปแบบของบันไดบ้านที่เหมาะสม ซึ่งมีให้เลือกดังนี้
1. บันไดบ้านทางตรง

เป็นบันไดที่ไม่มีการเลี้ยวหรือโค้ง เหมาะกับบ้านที่มีหน้าแคบแต่ทรงยาว และสามารถใช้โครงสร้างให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น ทำเป็นตู้วางหนังสือ เป็นต้น ถ้าหากบ้านมีความสูงระหว่างพื้นสองชั้นเยอะ ควรมีชานพักตรงกลางเพื่อความปลอดภัย ข้อดีของบันไดบ้านทางตรงคือสามารถออกแบบลูกเล่นได้เยอะ ทั้งในเรื่องโครงสร้าง วัสดุ ราวบันไดเพราะค่อนข้างเป็นบันไดบ้านที่ปลอดภัยและเรียบง่ายที่สุด
2. บันไดบ้านแบบหักฉากหรือแบบบันไดรูปตัว L

ลักษณะบันไดบ้านเลี้ยวเป็นมุมฉาก 90 องศา แบ่งเป็นบันไดสองช่วง โดยมีชานพักคั่นกลาง จำนวนขั้นของบันไดช่วงแรกกับช่วงที่สองไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ แล้วแต่พื้นที่ที่เอื้ออำนวย ซึ่งถ้าต้องการประหยัดพื้นที่อีก บางบ้านจะเลือกใช้บันไดที่คล้ายบันไดบ้านแบบหักฉาก แต่บริเวณชานพักจะใช้ขั้นบันไดรูปลิ่มแทน เหมาะกับบ้านที่ต้องการความต่อเนื่องของพื้นที่ในการใช้บันได หรือพื้นที่ไม่พอต่อการใช้บันไดตัว L
3. บันไดบ้านแบบหักกลับ

เป็นบันไดบ้านแบบหักกลับ 180 องศา ที่พบเห็นได้ในบ้านส่วนใหญ่ เหมาะกับบ้านที่มีลักษณะแปลนแต่ละชั้นเหมือนๆกัน บางคนคิดว่าบันไดบ้านแบบนี้ไม่สวยเพราะเหมือนบันไดหนีไฟ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถออกแบบให้บันไดบ้านแบบนี้ดูมีระดับได้ด้วยการใช้วัสดุที่ดูเฉียบ ทันสมัย และการให้แสงธรรมชาติเข้ามาในช่องบันไดนี้เยอะหน่อย ก็จะทำให้สวยงามน่าใช้งานมากขึ้น
4. บันไดบ้านแบบเกลียวหรือแบบบันไดบ้านเวียน

เหมาะกับบ้านที่ต้องการประหยัดพื้นที่ใช้สอย ที่ผ่านมาบันไดบ้านรูปแบบนี้ไม่นิยมใช้เป็นบันไดหลักของบ้าน แต่จะใช้เฉพาะจุดที่พื้นที่ไม่พอต่อการทำบันไดแบบอื่น ๆ แต่ปัจจุบันก็การออกแบบให้สวยงามจนเป็นบันไดบ้านหลักได้ แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่สะดวกเรื่องการใช้งานเท่าบันไดบ้านรูปแบบอื่น ๆ
5. บันไดบ้านแบบโค้งวงกลม

เป็นบันไดบ้านแบบโค้งวงกลมเมื่อมองจากด้านบน เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบันไดที่มีการเปิดมุมมองให้ผู้เดินเห็นพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้านได้มากที่สุด เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ห้องโถงหน้าบ้านขนาดใหญ่เพิ่มความหรูหราและเป็นทางการให้กับตัวบ้าน
ขณะเดียวกันเรายังสามารถดีไซน์พื้นที่ใต้บันไดบ้านให้มีลูกเล่นในการจัดเก็บสิ่งของเพื่อประหยัดพื้นที่ได้ด้วย เช่น ชั้นวางหนังสือเก๋ ๆ หรือตู้โชว์ของตกแต่ง นอกจากจะประหยัดเนื้อที่แล้ว ยังทำให้เป็นไฮไลท์ของบ้านได้ด้วย

กฎหมายเกี่ยวกับบันไดบ้าน
การออกแบบช่องว่างระหว่างบันไดให้ดูโปร่ง โล่ง ก็เป็นกิมมิคที่ทำให้บ้านของคุณดูเก๋และทันสมัยขึ้นได้เช่นกัน แต่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิกหรือวิศวกรให้ดีในเรื่องของโครงสร้างบันไดบ้านและการใช้งาน
หรือจะสร้างความแปลกใหม่ด้วยวัสดุที่แตกต่าง ด้วยการเปลี่ยนจากบันไดที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือไม้มาแทนที่ด้วยเหล็ก สเตนเลส อลูมิเนียม ทองแดง กระจกนิรภัย หรือจะเลือกใช้ผสมกัน เช่น ขั้นบันไดเป็นเหล็ก ราวเป็นกระจก เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความชอบของเจ้าของบ้านได้เลย แต่ต้องปรึกษาวิศวกรให้แน่ใจว่าวัสดุพวกนี้ต้องมีขนาดเท่าไหร่จึงจะรับน้ำหนักได้
แม้ว่าคุณจะสามารถออกแบบบันไดบ้านได้หลากหลายดีไซน์เลยทีเดียว ซึ่งนอกจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องคำนึงถุงความปลอดภัยในการใช้งานของผู้อาศัยด้วย จึงทำให้มีกฎหมายเป็นมาตรฐานในการออกแบบบันไดบ้านด้วยเช่นกัน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 23 ซึ่งกำหนดบันไดสำหรับอาคารอยู่อาศัยไว้ดังนี้
"บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่ น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได
บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่ น้อยกว่า 1.90 เมตร"
โดยแบ่งรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
1. บันไดในบ้านพักอาศัยแต่ละแบบ จะต้องมีระยะตามที่กฎหมายกำหนด หากอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตก่อสร้าง แล้วพบว่าระยะต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามกำหนดจะไม่ได้รับอนุญาตจนกว่าจะแก้ไขแบบให้ถูกต้อง
2. บันไดบ้านต้องกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร หมายถึงความกว้างที่วัดจากจุดที่กว้างน้อยที่สุด และต้องมีระยะไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ซึ่งในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 38 ก็มีการกำหนดเรื่องมาตรฐานการสร้างบันไดไว้เช่นกัน เนื้อหาคล้ายกับกฎกระทรวงทั้งหมด
แต่จะแตกต่างกันตรงที่ กำหนดให้ระยะความกว้างของบันไดไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร โดยในที่นี้จะใช้คำว่า “ความกว้าง” หมายถึง ระยะที่วัดตามความยาวลูกนอนบันได ด้วยเหตุนี้บ้านในเขตกรุงเทพฯ จึงจะต้องวัดความกว้างบันไดจากทั้งหมด 2 จุด ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 นั่นเอง
3. บันไดช่วงหนึ่งต้องสูงไม่เกิน 3 เมตร หากสูงเกินต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร โดยช่วงบันได หมายถึง ช่วงที่ขั้นบันไดเป็นขั้นต่อเนื่องกัน ในกรณีที่ความสูงระหว่างชั้นของตัวบ้านมากกว่า 3 เมตร บันไดระหว่างชั้นนั้นจะทำเป็นขั้นต่อเนื่องได้สูงสุดไม่เกิน 3 เมตร และจะต้องมีชานพักคั่น จากนั้นจึงค่อยทำเป็นขั้นต่อเนื่องไปถึงระดับที่ต้องการ
4. ความกว้างและยาวของพื้นหน้าบันได รวมถึงชานพักบันได มีกำหนดดังนี้ สำหรับพื้นหน้าบันได คือบริเวณพื้นก่อนเดินขึ้น-ลงบันไดขั้นแรก และขั้นสุดท้ายนั่นเอง ส่วนชานพัก คือพื้นที่คั่นระหว่างช่วงบันได ซึ่งจะต้องมีความกว้างและยาว อย่างน้อยเท่ากับความกว้างบันได
5. ในส่วนของความสูงเหนือขั้นบันไดทุกขั้น หรือเหนือชานพักทั้งหมด จะต้องมีความสูงวัดตามแนวดิ่งจนถึงสิ่งกีดขวางเหนือหัวไม่น้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งก็คือ ไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เดินขึ้นลงแล้วหัวชนนั่นเอง
6. สำหรับส่วนประกอบอื่น ๆ ของบันไดบ้าน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ลูกตั้ง และ ลูกนอน คือส่วนใดของบันได “ลูกตั้ง” ก็คือ ความสูงของขั้นบันไดหรือระยะที่เรายกเท้า ส่วน “ลูกนอน” คือ ความกว้างของขั้นบันไดหรือขั้นที่เท้าเหยียบ
โดยลูกตั้งต้องสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ส่วนลูกนอน หรือขั้นบันได เมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วต้องเหลือระยะไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
สรุปรูปแบบบันไดบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนต่าง ๆ ของบันได
|
ขนาดที่ถูกต้อง
|
ความกว้างของบันได
|
กว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร
|
ความสูงของบันได (แต่ละชั้น)
|
ไม่เกิน 3 เมตร (หากเกินต้องมีชานพัก)
|
ลูกตั้ง
|
สูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร
|
ลูกนอน
|
กว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
|
พื้นที่เหนือบันได
|
ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
|
สำหรับผู้ที่มีแผนจะสร้างบ้านหรือรีโนเวทบ้านเพื่อขาย สามารถนำแนวคิดการออกแบบบันไดบ้านมาใช้สร้างมูลค่าของบ้านให้เป็นที่สนใจขึ้นได้ แต่อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องข้อกฎหมายและความปลอดภัยในการใช้งานของผู้อาศัยด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ