แปลนบ้าน วิธีดูแปลนบ้านง่าย ๆ ที่ใช่สำหรับคุณ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะปลูกบ้านเองหรือซื้อบ้านสำเร็จรูป เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า บ้านนั้นน่าอยู่และตอบโจทย์ในการอยู่อาศัยหรือไม่ และหากเลือกแปลนบ้านไม่ดี ก็มักยากที่แก้ไขได้เพราะเป็นเรื่องในระดับโครงสร้างของบ้านที่การรื้อหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก อยากได้บ้านที่อยู่สบาย ลงตัว และไร้ปัญหา? ตามมาดูสิ่งสำคัญในการพิจารณาเลือกแปลนบ้านกันเลย ซึ่งใช้ได้กับแปลนบ้านชั้นเดียว แปลนบ้านสองชั้น หรือจะกี่ชั้นก็ได้
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจได้เร็วขึ้น
- ขนาดที่ดินและขนาดตัวบ้าน
- สภาพแวดล้อมในบ้าน
- ทิศทางแดดและทิศทางลม
- ประตูและหน้าต่าง
- ไลฟ์สไตล์กับประโยชน์ใช้สอยในแปลนบ้าน
1. ขนาดพื้นที่ดินและขนาดตัวบ้าน
ควรเลือกแปลนบ้าน ง่าย ๆ ที่มีขนาดพอเหมาะกับจำนวนคนในครอบครัวและกำลังทรัพย์ ที่สำคัญ กฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมอาคารกำหนดให้ต้องมีระยะห่างระหว่างตัวบ้านกับรั้วอย่างน้อย 2 เมตรสำหรับบ้าน 2 ชั้น และอย่างน้อย 3 เมตรสำหรับบ้าน 3 ชั้น
ดังนั้น ขนาดความกว้างของตัวบ้านจึงต้องน้อยกว่าความกว้างของที่ดินอย่างน้อย 4 เมตร และความยาวของตัวบ้านก็ต้องน้อยกว่าความยาวของที่ดินอย่างน้อย 4 เมตรเช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ แปลนบ้านควรสอดคล้องกับรูปทรงของที่ดิน เช่น ที่ดินเป็นทรงหน้ากว้าง แปลนบ้านก็ควรเป็นแบบหน้ากว้าง และที่ดินเป็นทรงลึก แปลนบ้านก็ควรเป็นแบบทรงลึกเช่นกัน
2. สภาพแวดล้อมในบ้าน
การจัดวางห้องต่าง ๆ ในแปลนบ้าน ง่าย ๆ นั้น ต้องคำนึงถึงการใช้สอยและสภาพแวดล้อม เช่น ห้องนอนและห้องทำงานที่ต้องการความสงบเงียบก็ควรอยู่ในด้านที่ไม่มีเสียงดังอย่างด้านที่ไม่ติดถนนหรือด้านที่ติดกับสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
3. ทิศทางแดดและทิศทางลม
ควรให้ห้องที่มีความชื้นอย่างห้องน้ำและลานซักล้าง ห้องที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยอย่างห้องเก็บของ รวมทั้งบริเวณที่รับแดดแรงได้อย่างลานจอดรถ หันไปทางทิศตะวันตกที่รับแดดบ่าย เพื่อช่วยลดความร้อนของตัวบ้าน ควรปลูกต้นไม้หรือสร้างโครงสร้างยื่นหรือกันสาดบังแดด
ส่วนห้องที่ใช้งานประจำ เช่น ห้องรับแขก ห้องนอน และห้องนั่งเล่น ควรอยู่ในทิศที่รับลม ซึ่งก็คือทิศเหนือ (จากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) และทิศใต้ (จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงมีนาคม-ตุลาคม) เพื่อให้บ้านเย็นสบายขึ้นและช่วยประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และถ้าเหมาะสมกับรูปทรงของที่ดิน
ควรวางตัวบ้านด้านที่แคบกว่าไว้ตามแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพื่อให้รับแดดน้อย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ด้านที่กว้างกว่าจะหันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งไม่รับแดดโดยตรงแต่รับลมโดยตรง แปลนบ้านแบบนี้จึงช่วยให้ได้รับความร้อนอบอ้าวจากแสงแดดน้อยลงและเย็นสบายขึ้นจากการรับลม
4. ประตูและหน้าต่าง
แปลนบ้านที่ดีควรวางประตูและหน้าต่างที่ไม่ตรงกันเพื่อมิให้ลมเข้าแล้วออกไปทันที ซึ่งทำให้บ้านไม่ได้รับความเย็นเท่าที่ควรและไม่เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทอากาศภายในบ้าน
นอกจากนี้ ตำแหน่งของประตูและหน้าต่างยังต้องสอดคล้องกับทิศรับลมและการถ่ายเทอากาศภายในบ้านด้วย เช่น ควรมีประตูในด้านที่รับลมโดยอาจสร้างที่ห้องรับแขกหรือมุมนั่งเล่น และควรมีหน้าต่างในด้านที่รับลมมากกว่าด้านที่ไม่รับลม (ซึ่งมักเป็นด้านที่รับแดด)
รวมทั้งยังควรมีจำนวนหน้าต่างที่พอเหมาะในการรับลมและแสงสว่าง เช่น ห้องนอนไม่ควรมีหน้าต่างจำนวนมากหรือขนาดใหญ่ในทิศตะวันตกและทิศตะวันออก เพราะแสงแดดจากทิศเหล่านี้จะทำให้ห้องร้อน
5. ไลฟ์สไตล์กับประโยชน์ใช้สอยในแปลนบ้าน
ให้คำนึงถึงจำนวนคนและไลฟ์สไตล์ของคนในครอบครัว แล้วตัดสินใจว่า ต้องมีห้องอะไรบ้างโดยเฉพาะห้องนอนและห้องน้ำ ควรมีห้องอะไรเพิ่มเติมจากห้องทั่วไปที่ต้องมี เช่น ห้องทำงาน ห้องพระ ห้องแม่บ้าน ห้องนอนชั้นล่างสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งควรมีห้องแต่ละประเภทจำนวนกี่ห้อง โดยลักษณะแบบแปลนบ้านมีการใช้แปลนห้อง 2 ประเภทดังนี้

– แปลนห้องแบบเปิด
แปลนห้องแบบเปิด คือ การจัดให้พื้นที่หนึ่งมีมุมใช้สอยหลายอย่าง เช่น ห้องโถงที่ประกอบด้วยบริเวณรับแขก บริเวณทานอาหาร และบริเวณเตรียมอาหาร และห้องนอนขนาดใหญ่ที่ผนวกเป็นห้องนั่งเล่นและห้องทำงานในตัว
แปลนห้องแบบนี้มีข้อดีคือ รับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ทั่วถึงกว่าแปลนแบบมีพื้นที่ปิด ทำให้ดูมีพื้นที่กว้างขึ้นและสามารถดัดแปลงการใช้สอยสำหรับคนจำนวนมากขึ้นอย่างการจัดปาร์ตี้ได้ ตลอดจนสามารถออกแบบและตกแต่งให้เป็นธีมเดียวกันได้ ทำให้ง่ายและประหยัดงบกว่าการออกแบบและการตกแต่งทีละห้อง
แต่มีข้อเสียคือ บริเวณต่าง ๆ นี้มีการใช้สอยแตกต่างกันและการเชื่อมต่อบริเวณเหล่านี้อาจส่งผลกระทบในเรื่องความเป็นระเบียบ ความเป็นส่วนตัว และความสะอาด เช่น อาหารในบริเวณเตรียมอาหารอาจส่งกลิ่นรบกวนแขกในบริเวณรับแขก หรือสามียังเปิดไฟทำงานในบริเวณทำงานแต่รบกวนภรรยาที่ต้องการจะนอนหลับในบริเวณที่นอน เป็นต้น
ข้อดีแปลนบ้านแบบเปิด
|
ข้อเสียแปลนบ้านแบบเปิด
|
เปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้มากกว่า
|
หากจัดสรรไม่ดี อาจทำให้บ้านไม้เป็นระเบียบเรียบร้อย
|
พื้นที่ภายในบ้านดูกว้าง ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ
|
อาจมีปัญหากลิ่นรบกวน จากการเชื่อมต่อห้องครัว ห้องนั่งเล่น
|
พื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ง่าย
|
ขาดความเป็นสัดส่วน และความเป็นส่วนตัว
|
ง่ายต่อการการตกแต่ง ช่วยประหยัดงบประมาณ
|
หากอยู่อาศัยหลายคน อาจะเกิดปัญหาจากไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน
|
– แปลนห้องแบบปิด
แปลนห้องแบบปิด คือ การจัดให้ห้องหนึ่งมีพื้นที่ใช้สอยเฉพาะด้าน ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ชอบความเป็นส่วนตัวและความเป็นระเบียบ เนื่องจากช่วยจัดให้บ้านเป็นสัดเป็นส่วน ออกแบบธีมแต่ละห้องให้เหมาะกับการใช้สอยและสไตล์ของผู้ใช้ห้องนั้นได้ง่าย ใช้สอยได้ง่าย รวมทั้งดูแลรักษาง่ายได้เช่นกัน
ดังนั้นหลายคนจึงนิยมให้บริเวณที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน ห้องครัว และห้องพระ เป็นแปลนห้องประเภทนี้
แต่ข้อเสียคือ ต้องใช้งบประมาณมากกว่าแปลนห้องที่เป็นพื้นที่เปิด และอาจไม่ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติมากและทั่วถึงนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดวางหน้าต่างและทิศทางรับแดดด้วย
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนที่มีแสงแดดตลอดปี การรับแสงจึงไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก
ข้อดีแปลนบ้านแบบปิด
|
ข้อเสียแปลนบ้านแบบปิด
|
มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
|
อาจรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ไม่ทั่วถึง
|
แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจน
|
มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและต่อเติมพื้นที่เพิ่มเติม
|
มีความเป็นส่วนตัว เหมาะกับครอบครัวใหญ่
|
ใช้งบประมาณในการตกแต่งมากกว่า
|
ออกแบบตกแต่งห้องแต่ละธีมได้ตามต้องการ
|
พื้นที่ออกแบบและถูกกำหนดไว้ตายตัว ปรับเปลี่ยนยาก
|
การหาแปลนบ้านที่ถูกใจใช่สำหรับไลฟ์สไตล์ของครอบครัวนั้นต้องพิจารณาปัจจัยในข้างต้นประกอบกันโดยคำนึงถึงการใช้สอยจริงของคนในครอบครัวเป็นหลัก ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแปลนบ้านได้ฟรีจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครได้ที่นี่
โดยสำหรับผู้ที่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ให้อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับฮวงจุ้ยบ้านที่ดีสำหรับการเลือกแปลนบ้านประกอบการพิจารณาด้วย และเมื่อรู้ว่าต้องการแปลนบ้านแบบไหนแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเลือกแบบบ้าน ดูรวมแบบแปลนบ้าน ง่าย ๆ สวย ๆ หลากสไตล์และแบบแปลนบ้านฟรีเลย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ