ผู้ที่กู้ซื้อบ้านกับสถาบันทางการเงิน มักได้รับการชักชวนจากสถาบันทางการเงินให้ซื้อประกันหนึ่งตัว นอกเหนือจากการประกันอัคคีภัย และประกันภัยพิบัติ ที่ผู้กู้ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว โดยประกันที่เรากำลังพูดถึงนั่นคือ ประกันคุ้มครองเงินกู้ ซึ่งเป็นประกันเพื่อซื้อความเสี่ยงในอนาคตหากเกิดกรณีผู้กู้เสียชีวิตก่อนชำระหนี้หมด ทีนี้หลายคนอาจเกิดความลังเลว่าควรซื้อไว้หรือไม่? วันนี้ มาทำความเข้าใจกับประกันตัวนี้กัน
ประกันคุ้มครองเงินกู้คืออะไร?

ประกันคุ้มครองเงินกู้คือประกันชีวิตที่จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองบ้านและผู้ขอสินเชื่อบ้าน ในกรณีที่เจ้าของบ้านอาจเกิดการเสียชีวิตหรือสูญเสียความสามารถในการใช้หนี้ก่อนครบสัญญา หากทำประกันคุ้มครองเงินกู้ไว้ ทางบริษัทประกันจะตรวจสอบการเสียชีวิตหรือหากเป็นกรณีอื่น ๆ ก็จะดำเนินการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้กู้จนไม่สามารถชำระหนี้ได้
จากนั้นจะชดใช้หนี้สินส่วนที่เหลือให้กับสถาบันทางการเงินแทนผู้กู้ที่เสียชีวิตหรือสิ้นสุดสภาพในการชำระหนี้ โดยปิดยอดหนี้ที่เหลือทันที ทรัพย์สินนั้นก็จะถูกโอนกรรมสิทธิ์ไปยังครอบครัวผู้กู้หรือผู้รับมอบที่มีชื่ออยู่ในกรมธรรม์ด้วยทันที หากปิดยอดกู้แล้วยังมีเงินเหลือ (ทุนประกันชีวิตสูงกว่าจำนวนหนี้ที่เหลืออยู่กับธนาคาร อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขึ้น – ลด) ก็จะมอบให้กับครอบครัวผู้กู้ด้วย
รวมถึงผู้กู้ที่ทำประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองวงเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 172 ที่ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2551 อนุญาตให้นำเบี้ยประกันภัยของความคุ้มครองชีวิตไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
การประกันคุ้มครองวงเงินกู้จะมีเบี้ยประกันไม่เท่ากัน แต่โดยปกติแล้ว เบี้ยสำหรับผู้ประกันเพศชายจะสูงกว่าเพศหญิง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับอายุผู้กู้ ราคาประเมินหลักทรัพย์ที่ผู้กู้ขอสินเชื่อ โดยส่วนใหญ่จะไม่เกิน 5.5% สามารถจ่ายเป็นครั้งทุกๆ 3 ปี (ทุกครั้งที่มีการรีไฟแนนซ์) หรือตลอดอายุการกู้สินเชื่อก็ได้ ซึ่งจำนวนเงินประกันจะลดลงเรื่อยๆ ตามหนี้ที่ลดลงทุกปี
ทำไมต้องมีประกันคุ้มครองเงินกู้?
ประโยชน์ของประกันคุ้มครองเงินกู้ นอกจากในกรณีที่ผู้ก็เสียชีวิตหรือทุพลภาพไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้แล้ว ยังมีเรื่องข้อควรซื้อการคุ้มครองหรือระยะเวลาการผ่อนชำระมาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้หากผู้กู้สินเชื่อกับสถาบันทางการเงิน 30 ปี ก็ควรซื้อประกัน 30 ปี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงเมื่ออายุสัญญาของการทำประกันหมดลงก่อนการชำระหนี้สิน
ตัวอย่างเช่น ผู้กู้มีระยะเวลาผ่อน 30 ปี แต่ทำประกันคุ้มครองไว้เพียง 10 ปี ในกรณีที่มีปัญหากับตัวผู้กู้ในปีที่ 6-7 ประกันก็ไม่สามารถชดเชยหนี้ที่เหลือให้ได้ เนื่องจากวงเงินประกันที่จ่ายไปยังไม่คุ้มครองจำนวนหนี้ที่เหลืออยู่กับธนาคาร ซึ่งจะทำให้เป็นภาระในภายหลังแก่ครอบครัวได้ ถึงแม้เบี้ยประกันคุ้มครองเงินกู้จะอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อผ่อนบ้านหมดก็จะได้เงินคืนจากกรมธรรม์อีกด้วย
ดังนั้นในแง่ของตัวประกันเองจะเห็นว่าประกันตัวนี้เป็นประกันที่ทำขึ้นมาเพื่อซื้อความเสี่ยงและความสบายใจของครอบครัวในอนาคต จึงทำให้เห็นว่าสถาบันทางการเงินส่วนใหญ่มักมีหนี้เสียจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับกรณีของผู้กู้เกิดเสียชีวิตและครอบครัวไม่สามารถชำระหนี้แทนได้ ถึงแม้ธนาคารจะได้บ้านของผู้กู้มาก็ต้องนำไปขายทอดตลาด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และค่าเสียเวลาอีกมากมาย ดังนั้นประกันตัวนี้จึงจัดทำขึ้นมาเพื่อลดหนี้เสียจากกรณีดังกล่าว และช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องลำบากเมื่อขาดเสาหลักหรือผู้ที่กู้ซื้อบ้านไป และนี่คืออานิสงส์โดยรวมของประกันตัวนี้ ในแง่ที่ไม่ได้พูดถึงการขายหรือรายได้เพิ่มที่สถาบันการเงินจะได้รับ
กู้ซื้อบ้านจำเป็นต้องทำประกันคุ้มครองเงินกู้ด้วยหรือไม่?
ประกันชนิดนี้เป็นประกันที่ทางกฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้กู้ทำ ดังนั้นการทำประกันจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้กู้เอง ด้วยตัวเลขของเบี้ยประกันที่อยู่ในอัตราที่สูง และจำเป็นต้องจ่ายเป็นก้อนในตอนทำสัญญา ผู้กู้ส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจทำจึงมักจะทำกันในระยะสั้นหรือประมาณ 3 ปี เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่สามารถนำสินเชื่อบ้านไปรีไฟแนนซ์ เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ย และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในระยะยาว
สถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ยื่นข้อเสนอสำหรับประกันตัวนี้ให้จึงมีเงื่อนไขต่าง ๆ ตามมา อาทิ การยื่นข้อเสนอลดดอกเบี้ยหรือให้ผู้กู้ผ่อนชำระเบี้ยประกันได้โดยเปิดยอดกู้ใหม่ ซึ่งไม่มีผลอะไรกับเบี้ยการจ่ายค่าประกัน แต่เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อให้ผู้กู้ตัดสินใจทำประกันคุ้มครองวงเงิน เพราะเป็นประกันที่รัฐบาลไม่ได้บังคับตามที่ได้กล่าวไว้
แต่หากผู้กู้รู้ศักยภาพตนเองและมีกำลังในการจ่ายหนี้ไหว โดยไม่กังวลถึงความเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต ประกันตัวนี้ก็อาจไม่มีความจำเป็นต่อผู้กู้นั้นๆ หรือไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ การทำประกันคุ้มครองเงินกู้นี้ ไม่จำเป็นต้องทำกับสถาบันการเงินที่ยื่นขอสินเชื่อเท่านั้น หากผู้ก็ได้รับข้อเสนอแนะจากบริษัทประกันชีวิตหรือประกันภัยที่มีเงื่อนไขดีกว่า ก็สามารถทำกับที่นั่นได้ โดยธนาคารไม่มีสิทธิ์มาบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น
หากผู้กู้ปิดบัญชีก่อนกำหนด สามารถขอค่าเบี้ยที่เหลือคืนได้ไหม?
เมื่อผู้กู้ผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน แน่นอนว่าผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้มากกว่าจำนวนเงินที่กำหนด (โปะ) ต่องวด ซึ่งหากผู้กู้สามารถโปะค่างวดได้หมดก่อนกำหนดสัญญา และยังคงเหลือช่วงเวลาคุ้มครองเงินกู้ ในกรณีนี้ผู้กู้สามารถขอค่าเบี้ยประกันที่เหลือคืนได้ เพราะผู้กู้ไม่มียอดชำระหนี้ค้างหรือวงเงินกู้ที่จำเป็นต้องให้ประกันคุ้มครองแล้ว
ซึ่งในแง่ของการรีไฟแนนซ์เองก็สามารถขอคืนค่าเบี้ยได้ แต่เบี้ยที่ได้คืนอาจจะน้อยจะมากก็อยู่ในระยะเวลา 3 ปีที่ผู้ก็ทำการผ่อนชำระต่องวด และที่สำคัญเราจะต้องเก็บตัวกรรมธรรม์ฉบับจริงไว้อยู่จนกว่ากรมธรรม์จะหมดอายุสัญญา เพราะในการเวนคืนเงินกรมธรรม์นั้นเราจะต้องส่งกรมธรรม์ตัวจริงให้กับบริษัทประกันเพื่อเป็นหลักฐานในการขอเงินคืนอีกด้วย
หากผู้กู้ไม่สามารถดำเนินการขอเบี้ยประกันคืนในระยะเวลาของการคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์ หรือได้เสียชีวิตไปแล้ว เบี้ยในส่วนนี้ก็สามารถยกให้กับครอบครัวหรือให้ผู้เอาประกันตามรายชื่อที่ระบุในกรมธรรม์เพื่อยื่นเรื่องขอเบี้ยประกันที่ยังเหลืออยู่ในส่วนนี้ได้เช่นกัน
แม้จะไม่ใช่ประกันที่กฎหมายบังคับทำ แต่ทางสถาบันทางการเงินส่วนใหญ่มักจะมีการยื่นข้อเสนอต่างๆ รวมถึงการพูดหว่านล้อมทำให้ดูเหมือนเป็นประกันเชิงบังคับ ซึ่งไม่จริง ผู้กู้สามารถเลือกได้ว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำประกันคุ้มครองเงินกู้ได้ด้วยตัวเอง
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า