10 ขั้นตอน “เอาตัวรอด” เมื่อเกิดไฟไหม้บนอาคารสูง

DDproperty Editorial Team
รู้หรือไม่ว่าในกรุงเทพฯ มีอาคารสูงกว่า 3,000 อาคาร แบ่งเป็น อาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมีไม่ถึง 1,000 อาคาร หรือประมาณ 33% ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ไม่มากนัก เนื่องจากมีกฎหมายบังคับให้ออกแบบและวางระบบป้องกันและแจ้งเตือนหากเกิดไฟไหม้บนอาคาร
ที่น่าเป็นห่วงคืออาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุราว 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่าที่อาจมีความเสี่ยงในด้านไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดเหตุไฟไหม้ เนื่องจากระบบต่าง ๆ ถูกใช้งานมานาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตรวจสอบและทดสอบการทำงานของระบบแจ้งเตือนเหตุไฟไหม้ (Fire Alarm) และระบบระงับเหตุไฟไหม้ (Sprinkler) อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความบกพร่องไม่ว่าจะเป็นระบบการแจ้งเตือน หรือระบบท่อน้ำดับเพลิง
Building Emergency Exit with Exit Sign and Fire Extinguisher.
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อยู่ในอาคาร หรือผู้ที่กำลังคิดจะอยู่อาศัยบนคอนโดมิเนียมจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้น โดยทางกองปราบปรามได้แนะนำ “10 ขั้นตอนเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่พักอาศัย หรือทำงานอยู่บนอาคารสูง ดังนี้
  1. หากเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นภายในห้อง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก
  2. ดึงหรือกดสัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ที่กล่องแดงข้างผนังทางเดินทันทีที่พบเหตุไฟไหม้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
  3. หากเหตุการณ์ไฟไหม้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น พยายามดับเพลิงโดยการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารให้ได้ภายใน 2 นาที อย่ามัวแต่รอความช่วยเหลือจากพนักงานดับเพลิง
  4. หากไม่สามารถดับเพลิงได้ ให้ออกจากห้อง และปิดประตูให้สนิทเพื่อชะลอการลุกลามของไฟไหม้ จากนั้นรีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด
  5. แต่หากต้นเพลิงเกิดจากส่วนอื่นของอาคาร เมื่อทราบว่ามีเหตุไฟไหม้ ให้ตั้งสติ มองหาอุปกรณ์ส่องสว่าง ที่จะช่วยให้สามารถออกจากอาคารในความมืดได้ เช่น ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือ
  6. หาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และเพื่อป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ
  7. ก่อนเปิดประตูให้แตะ หรือคลำลูกบิด หากร้อนจัดแสดงว่ามีเปลวเพลิงอยู่ด้านนอก อย่าตื่นตระหนกเปิดประตูทันทีเพราะจะถูกเปลวไฟพุ่งเข้าหาตัวได้
  8. ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด เพราะหากติดอยู่ในลิฟต์ มีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตจากควันไฟ ให้ใช้บันไดหนีไฟ
  9. หากติดอยู่ในกลุ่มควันไฟ ให้ก้มตัวลงต่ำ และคลานไปกับพื้น เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ ควันไฟเป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเปลวไฟถึง 3 เท่าตัว
  10. กรณีที่ไม่สามารถออกจากห้องได้ เนื่องจากมีเปลวไฟอยู่บริเวณภายนอกห้อง ให้อยู่ภายในห้องพัก และปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู และให้ขอความช่วยเหลือที่หน้าต่างหรือระเบียง
10734009 - fire fighter attacking a fully involved shop fire.
ทั้งนี้ ข้อสำคัญหากสามารถออกมาจากอาคารได้แล้ว แต่พบว่ามีคนยังติดอยู่ในอาคาร ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการช่วยเหลือ
ไฟไหม้ในอาคารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น ขอแนะนำให้ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำงานบนอาคารสูงจะต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีสติ ทันท่วงที และปลอดภัย
สามารถติดตามข่าวอสังหาริมทรัพย์น่าสนใจและรีวิวโครงการบ้านและคอนโดใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์หรือเลือกที่อยู่อาศัยได้ที่นี่
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ