ขึ้นชื่อว่า ‘บ้านมือสอง‘ หลายคนอาจเจอปัญหาด้านความชำรุดทรุดโทรมทั้งสภาพภายนอกและสภาพภายใน แต่หากคิดจะซื้อแล้ว ก่อนจะย้ายเข้าไปอยู่อาศัยควรตรวจตราสภาพโดยรอบให้ถี่ถ้วนเพื่อป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่าละเลยจุดเสี่ยงที่อาจสร้างความเสียหาย! บทความนี้จะมาแนะนำ 13 จุดที่ห้ามพลาด เช็คให้ดีว่าควรจัดการกับจุดไหนบ้าง
1. ระบบไฟ
บ้านมือสองส่วนใหญ่จะเป็นบ้านที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน กรณีที่บ้านหลังนั้นถูกตัดไฟ หลังจากที่ติดต่อการไฟฟ้าส่วนท้องถิ่นให้เปิดใช้บริการไฟฟ้ารอบใหม่แล้ว ควรให้ช่างไฟตรวจสอบระบบไฟภายในบ้านทั้งหมด ตั้งแต่แผงควบคุมไฟภายในบ้าน เตาเสียบทุกอัน และหลอดไฟทุกดวง หากมีจุดไหนที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ให้จัดการแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติอย่างปลอดภัย
เรื่องระบบไฟ ถือว่ามีความสำคัญมาก หากไม่ตรวจสอบให้ดี โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดไฟลัดวงจรจนเกิดไฟไหม้ในอนาคตได้ โดยในส่วนของเตาเสียบนั้น หากตรวจสอบในทุกจุดแล้ว จุดไหนที่คิดว่าจะไม่ใช้งาน แนะนำให้รื้อทิ้ง หรือตัดกระแสไฟจุดนั้นแบบปิดการใช้งานอย่างถาวร เพื่อลดความเสี่ยงที่ระบบไฟในเตาเสียบนั้น ๆ จะช็อตจนเป็นจุดเหตุของประกายไฟและเพลิงไหม้ในที่สุด ยิ่งไม่ได้ใช้งาน ผู้อยู่อาศัยจะยิ่งไม่ทราบเลยว่า เตาเสียบนั้น ๆ เกิดอาการช็อต ทำให้เจ้าของบ้านละเลย และคิดไม่ถึงว่าจะเกิดปัญหา ซึ่งจุดเล็ก ๆ เช่นนี้เป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้มาแล้วหลายกรณี
กรณีการย้ายเข้าอยู่คอนโดมิเนียมมือสองก็เช่นเดียวกันต้องตรวจเช็คเรื่องระบบไฟฟ้าและอื่นๆ : 7 สิ่งที่ต้องทำ เพื่อเปลี่ยนคอนโดมิเนียมมือสองให้เหมือนใหม่
หมายเหตุ : บ้านมือสองเก่า ๆ ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เตาเสียบส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 2 ขา แต่เครื่องใช้ไฟฟ้ายุคใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นแบบ 3 ขา หรือแบบขาปลั๊กใหญ่ จึงควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับอุปกรณ์เครื่องใช้ในปัจจุบัน
2. ระบบน้ำ
เช่นเดียวกับระบบไฟ บ้านมือสองที่ไม่ได้อยู่อาศัยมานานจะถูกตัดน้ำ ต้องติดต่อการประปาส่วนท้องถิ่นให้กลับมาเปิดใช้งานได้ตามปกติ (อันนี้มีค่าใช้จ่ายเรื่องการขอมิเตอร์ใหม่) หลังจากนั้นควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญควรตรวจสอบระบบน้ำภายในบ้านว่ามีรั่วหรือไม่ เมื่อตรวจพบว่ามี ก็ดำเนินการแก้ไขดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งแม้ว่าประเด็นนี้จะไม่อันตรายเท่ากับเรื่องระบบไฟ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นปัญหาเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังควรตรวจสอบก๊อกน้ำในแต่ละจุด มีชำรุดหรือไม่ ถ้าพบว่าอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งานหรือไม่ ก็ปรับเปลี่ยนใหม่ ส่วนห้องน้ำชั้นสอง กรณีที่ไม่มีปั๊มน้ำ น้ำสามารถขึ้นไปถึงชั้นสองได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ผู้อยู่อาศัยต้องประเมินว่าจะติดตั้งปั๊มน้ำหรือไม่ หรือจะใช้ตามสภาพก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ
3. การทาสีบ้าน
สีของตัวบ้าน เป็นสิ่งที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านหลังนั้นๆ โดยในหลายครั้งที่บ้านมือสองไม่ได้ปรับปรุงด้านในมากนัก แต่เพียงทาสีใหม่ให้กับบ้าน ก็เหมือนกับเปลี่ยนโฉมใหม่ให้กับบ้านหลังนั้นๆ แล้ว โดยการทาสีบ้าน เจ้าของบ้านจะเลือกทาเฉพาะหน้ากากของตัวบ้าน หรือจะทาด้านในด้วยก็ได้เช่นกัน ซึ่งต้นทุนในการทาสีขึ้นอยู่กับพื้นที่ของตัวบ้าน และแน่นอนว่าบ้านเดี่ยวย่อมมีต้นทุนในการทาสีสูงกว่าทาวน์เฮาส์ และหากทาสีบ้านในช่วงหน้าฝน ก็ต้องระวังเรื่องความชื้นด้วย หากตัวบ้านมีความชื้นสูง อาจเกิดปัญหาขึ้นราหลังการทาสีได้
4. รั้วหน้าบ้าน / ประตูชั้นนอก
บ้านมือสองที่มีรั้วหน้าบ้าน จะรั้วไม้ หรือรั้วเหล็ก หากชำรุด ควรปรับปรุงให้ใช้การได้เช่นเดิม เช่น รั้วเหล็กจะมีปัญหาเรื่องสนิทขึ้น มีอาการฝืด เปิดปิดยากกว่าปกติ ส่วนรั้วไม้ อาจมีปัญหาเรื่องผุพัง หรือปลวกขึ้น ควรรื้อและทำใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นรั้วเหล็ก หรือรั้วที่ทำจากวัสดุทดแทนไม้ก็ได้ ต้นทุนไม่สูงมาก ส่วนบ้านที่ไม่มีรั้ว แต่มีประตูชั้นนอกเข้าสู่ตัวบ้านก็เช่นกัน ถ้าชำรุดควรเปลี่ยนใหม่ หรือหากมีปัญหาสนิทขึ้นเล็กน้อย หรือมีอาการฝืด เปิดปิดยากกว่าปกติ ควรหยอดน้ำมันหล่อลื่น เพื่อให้เปิดปิดได้ง่ายขึ้น
5. สนามหญ้าหน้าบ้าน และรอบบ้าน
สำหรับรายการนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเดี่ยวที่มีสนามหญ้าหน้าบ้าน หรือสวนเล็ก ๆ หน้าบ้าน และหญ้ารอบบ้าน ซึ่งถ้าทิ้งร้างไว้นาน หญ้ารอบบ้านก็จะขึ้นรก จนอาจมีสัตว์ร้าย จึงควรตัดให้เรียบร้อย น่าอยู่อาศัย หรือบ้านเดี่ยวบ้างหลัง สวนเหล่านั้นอาจจะตายหมดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้อยู่อาศัยคนใหม่ว่าจะต้องการจัดสวนขึ้นมาใหม่ หรือปูซิเมนต์หมดเพื่อลดปัญหาเรื่องการดูแลในอนาคต
6. สระว่ายน้ำ
รายการนี้ส่วนใหญ่จะมีในบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นบ้านเดี่ยวมือสองที่ถูกทิ้งร้างมานาน คงต้องยกเครื่องขนานใหญ่ จะซ่อมแซมเพื่อใช้งานได้ใหม่ หรือจะซื้อสระว่ายน้ำสำเร็จรูปที่มีอยู่ในปัจจุบันไปใช้ หรือจะนำพื้นที่นั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพื่อลดปัญหาการดูแลสระว่ายน้ำในอนาคต
7. โรงจอดรถ
รายการนี้ก็จะมีเฉพาะบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่เช่นกัน ที่มีพื้นที่โรงจอดรถแยกส่วนไปอยู่บริเวณด้านข้างของตัวบ้าน เจ้าของบ้านควรดูเรื่องความแข็งแรงของซุ้มโรงจอดรถ หลังคาโรงจอดรถ และควรซ่อมแซมให้มีความแข็งแรงขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย เพราะมีหลายครั้งที่หลังคาโรงจอดรถพังลงมาทับรถก็ดี หรือจะอย่างร้ายมีคนอยู่ในพื้นที่นั้นก็จะอันตรายมาก ส่วนทาวน์เฮ้าส์ จะมีเพียงที่จอดรถหน้าบ้านด้านในเท่านั้น ก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหามาก อาจจะดูความแข็งแรงเรื่องหลังคาให้ดี
8. ประตู หน้าต่าง กลอน
รายการนี้เป็นส่วนที่สร้างความปลอดภัยให้กับที่อยู่อาศัย ดังนั้น ควรซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ หากมีจุดที่เสียหาย อาจะเป็นความเสี่ยงที่จะมีมิจฉาชีพบุกรุกเข้ามาได้
9. ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว
ห้องนั่งเล่น ห้องนอน และห้องครัว เป็นจุดที่แก้ไขตามการใช้งาน ซึ่งหากต้องการให้ดูใหม่ ก็ควรทาสี หรือติดวอลล์เปเปอร์ ติดม่าน ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี เช่นเดียวกับการปรับปรุงห้องครัว ก็เลือกตามแบบที่ต้องการ จะเป็นครัวปิดแบบฝรั่ง หรือจะเป็นครัวไทย ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านคนใหม่ว่านิยมแบบใด ซึ่งหากเป็นผู้ที่ต้องการทำอาหาร และไม่ต้องการให้ห้องนี้อึดอัดเกินไป ควรติดตั้งเครื่องระบายอากาศด้วย
10. ห้องน้ำ
ห้องน้ำ จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันดับต้นๆ ของบ้าน ซึ่งผู้ซื้อบ้านมือสองควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะหากห้องน้ำมีปัญหา อาจส่งผลกระทบทางด้านกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่อการอยู่อาศัยได้ และห้องน้ำในบ้านมือสองที่มีอายุนานๆ จะเป็นห้องน้ำแบบเก่าที่เป็นคอห่าน ซึ่งสามารถที่จะให้ช่างมาปรับเปลี่ยนเป็นแบบโถสุขภัณฑ์ได้
11. บันได
บันไดส่วนใหญ่เป็นบันไดไม้ ทั้งไม้จริง หรือไม้ทดแทน จึงควรตรวจสอบสภาพการใช้งาน ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ หรือมีปลวกขึ้นแล้วหรือไม่ หากชำรุดจากสาเหตุใด ก็ซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้ง เพราะหากบันไดชำรุด จะเป็นอันตรายพอสมควร
12. พื้นกระเบื้อง
เจ้าของบ้านควรสำรวจพื้นกระเบื้องตามจุดต่างๆ ยังอยู่ในสภาพที่ดี หรือมีส่วนใดที่ชำรุด แตกหรือไม่ ถ้าเจอจุดที่ชำรุดหรือแตก ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย ซึ่งหากมีงบประมาณน้อย อาจจะเลือกซ่อมแซมในบางจุดที่เสียหายโดยไม่จำเป็นต้องปูใหม่ทั้งหมด และใช้วิธีเลือกสีที่ใกล้เคียงกัน
13. หลังคา
องค์ประกอบนี้ของตัวบ้าน ถือว่ามีความสำคัญมาก ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่อง “หลังคารั่ว” ซึ่งปัญหานี้จะหนักมากในช่วงฤดูฝน ดังนั้น จึงควรซ่อมแซมให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากมีงบประมาณจำกัด อาจไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ก็ปรับเปลี่ยนในบางจุดที่มีปัญหา
ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน บางส่วนที่เป็นทักษะพื้นฐาน เช่น ปูกระเบื้อง หรือทาสี ฯลฯ เจ้าของบ้านอาจจะสามารถทำเองได้ ซึ่งปัจจุบันเราสามารถหาข้อมูลในเชิงเทคนิคได้ในโลกออนไลน์มากขึ้น อาจพอช่วยเจ้าของบ้านที่ต้องการปรับปรุงบ้านมือสองได้ แต่บางจุด เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟ อาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในการปรับปรุงและซ่อมแซมบ้าน
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า