ธนาคารแห่งประเทศไทย เผย 3 กรณีที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และ 5 ตัวแปรสำคัญ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวช้าหรือเร็วของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย พร้อมถอดบทเรียนความสำเร็จนานาประเทศ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้ครอบคลุม
ย้อนรอยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 จำนวนผู้ติดใหม่รายวัน และยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูง รวมถึงพบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่เกิดการระบาด ได้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับลดลง และต้องใช้เวลากว่าที่สถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ
ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงกว่าระลอกก่อนหน้าอย่างมาก โดยหาย้อนความไปตั้งแต่การระบาดรอบก่อนหน้าจะพบว่า
การระบาดระลอกที่ 1
– สถานการณ์การระบาด ระบาดไม่รุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุดที่ 188 คน
– มาตรการที่ใช้ควบคุม เข้มงวดสูงสุดทั้ง 77 จังหวัด (Full Lockdown) ทั่วประเทศ 1 เดือน และทยอยผ่อนคลาย 2 เดือน
– การผลิตและการส่งออกสินค้า การส่งออกหดตัวรุนแรง ตามการหดตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลายประเทศ
– จำนวนนักท่องเที่ยว ต้องปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมหาศาล
การระบาดระลอกที่ 2
– สถานการณ์การระบาด ระบาดรุนแรงในพื้นที่บางจังหวัด ผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดที่ 1,175 คน (ตรวจเชิงรุก)
– มาตรการที่ใช้ควบคุม มีการกำหนดพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด ส้ม 23 จังหวัด โดยพื้นที่สีแดงไม่เข้มงวดเท่าระลอกแรก ไม่ปิดห้างสรรพสินค้า รับประทานอาหารในร้านได้ เข้มงวด 1.5 เดือน และทยอยผ่อนคลาย 2 เดือน
– การผลิตและการส่งออกสินค้า เศรษฐกิจคู่ค้าและการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง
– จำนวนนักท่องเที่ย่ว ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ระลอกแรก
การระบาดระลอกที่ 3
– สถานการณ์การระบาด ระบาดรุนแรงวงกว้างทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุดที่ 4,887 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2564)
– มาตรการที่ใช้ควบคุม เข้มงวดทั่วประเทศ (เข้มกว่าระลอกที่ 2) โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด แดง 45 จังหวัด และส้ม 29 จังหวัด) พื้นที่แดงเข้มงดรับประทานอาหารที่ร้าน ยังไม่ปิดห้างและตลาด คาดว่าจะคุมเข้มประมาณ 3 เดือน และทยอยผ่อนคลายอีก 2 เดือน
– การผลิตและการส่งออกสินค้า เศรษฐกิจคู่ค้าและการส่งออกสินค้าขยายตัวสูง โดยได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
– จำนวนนักท่องเที่ยว ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ และอาจกระทบแนวโน้มระยะยาวหากการระบาดยืดเยื้อ
5 ตัวแปรสำคัญ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า การระบาดในระลอกที่ 3 จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ 1.4-1.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าการระบาดรอบที่ 2 ที่อยู่ที่ 1.2% ต่อจีดีพี ขณะที่การระบาดรอบแรกที่ส่งผลกระทบสูงสุด อยู่ที่ 2.2% ต่อจีดีพี
เนื่องด้วยสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดในระลอกที่ 3 แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า เป้าหมายที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ในประเทศ อาจต้องเลื่อนออกไปจากไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นไตรมาส 3 ปี 2565 โดยมี 5 ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ช้าหรือเร็ว
- สายพันธุ์ไวรัส
- ประสิทธิภาพวัคซีน
- ปริมาณวัคซีน
- ความสามารถในการกระจายและฉีดวัคซีน
- ความเต็มใจของประชาชนในการรับวัคซีน

3 กรณีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยไทยออกจากวิกฤตด้านสาธารณสุขและการเปิดประเทศ โดยหากฉีดวัคซีนได้เร็วจะช่วยหนุนการเติบโตจีดีพีในปี 2564-2565 ขยายตัว 3.0-5.7% ดังนั้น ความเร็วในการฉีดวัคซีนมีความสำคัญมากกว่าชนิดวัคซีน โดย ธปท. ประเมินการฉีดวัคซีนและการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เป็น 3 กรณี ได้แก่
– กรณีที่ 1 หรือกรณีดีที่สุด หากจัดหาและฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดส (Sinovac/AstraZeneca/Pfizer และ Moderna) ในปี 2564 จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส 1 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 2% และปี 2565 ขยายตัว 4.7%
– กรณีที่ 2 หรือกรณีฐาน หากจัดหาและฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส (Sinovac และ AstraZeneca) ในปี 2564 จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส 3 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 1.5% และปี 2565 ขยายตัว 2.8%
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากฉีดวัคซีนช้า จนภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทันไตรมาส 1 ปี 2565 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท หรือ -3.0% ต่อจีดีพี มีผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.8 ล้านคน
– กรณีที่ 3 หรือกรณีแย่สุด หากจัดหาและฉีดวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดส (Sinovac และ AstraZeneca) ในปี 2564 จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส 4 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 1% และปี 2565 ขยายตัว 1.1%
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากฉีดวัคซีนช้า จนภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทันไตรมาส 1 ปี 2565 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท หรือ -5.7% ต่อจีดีพี มีผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.9 ล้านคน
คืบหน้านานาชาติ เร่งกระจายและฉีดวัคซีนโควิด-19
ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เปิดเผยถึงประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากที่สุด (นับเฉพาะประเทศที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน) ได้แก่
- อิสราเอล 58% (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna)
- มัลดีฟส์ 57.6% (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford และ Sinopharm)
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 51.8% (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
ประเทศที่ฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนมากที่สุด มากกว่า 100 ล้านโดส รวมกันเกือบ 60% ของปริมาณฉีดวัคซีนทั่วโลก ได้แก่
- จีน 308.23 ล้านโดส คิดเป็น 11% (ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm )
- สหรัฐอเมริกา 257.35 ล้านโดส คิดเป็น 40.1% (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech Moderna และ Johnson&Johnson)
- สหภาพยุโรป 170.59 ล้านโดส คิดเป็น 19.2% (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Pfizer/Sanofi/CureVac/Johnson&Johnson และ Moderna)
10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากร รวม 22,984,902 โดส ได้แก่
- สิงคโปร์ 2,213,888 โดส คิดเป็น 19.5% (ฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna)
- กัมพูชา 2,826,589 โดส คิดเป็น 8.2% (ฉีดวัคซีนของ Sinopharm)
- อินโดนีเซีย 21,975,503 โดส คิดเป็น 4% (ฉีดวัคซีนของ Sinovac)
- ลาว 458,488 โดส คิดเป็น 3.1% (ฉีดวัคซีนของ Sinopharm)
- มาเลเซีย 1,727,268 โดส คิดเป็น 2.6% (ฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Sinovac)
- ไทย 1,743,720 โดส คิดเป็น 1.3%(ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca)
- บรูไน 10,715 โดส คิดเป็น 1.2% (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca)
- ฟิลิปปินส์ 2,395,494 โดส คิดเป็น 1.1% (ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca)
- พม่า 1,040,000 โดส คิดเป็น 1% (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca)
- เวียดนาม 801,957 โดส คิดเป็น 0.4% (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca)
ถอดบทเรียนอิสราเอล ฉีดวัคซีนเร็วที่สุดในโลก
อิสราเอลเป็นประเทศแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด โดยปัจจัยของความสำเร็จมาจาก
- การเร่งจัดหาวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ ได้แก่ Pfizer/BioNTech และ Moderna ไม่นานหลังจากที่เกิดการระบาด
- การรณรงค์ขับเคลื่อนการเข้าถึงวัคซีนเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ผ่านโครงการฉีดวัคซีน Give a Shoulder
- มาตรการต่าง ๆ เช่น ล็อกดาวน์ และกรีนพาสต์ (Green Pass) หรือพาสปอร์ตภายในประเทศ ที่รับรองว่าฉีดวัคซีนครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้ยิม สระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์ และทำกิจกรรมกลางแจ้งได้
ปัจจุบันอิสราเอลยกเลิกมาตรการบังคับสวมหน้ากากอนามัยกลางแจ้ง คลายมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนกลับไปทำงานได้ตามปกติ และเปิดโรงเรียนอย่างเต็มรูปแบบในรอบปี
นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เดือนเมษายน 2564 โดยกระทรวงการคลังอิสราเอล ระบุว่า การขาดดุลการคลังของประเทศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน เหลือ 12.1% ของจีดีพีในช่วง 12 เดือนถึงสิ้นเดือนมีนาคม จาก 12.4% ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์
ด้านการท่องเที่ยว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจาก 20 สัญชาติ สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ (เฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือหายป่วยจากโควิด-19 แล้วเท่านั้น) หลังปิดประเทศมากว่า 1 ปี โดยจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศต้องการมาเยือนมากที่สุดคือเยรูซาเล็ม

คนไทยเกินครึ่งชะลอการซื้อ-ขายบ้าน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายทำให้คนไทยบางส่วนรายได้ลดลง ในขณะที่บางส่วนรอดูแนวโน้มของราคาที่ต่ำลงก่อนตัดสินใจซื้อในอนาคต
จากผลสำรวจ Thailand Consumer Sentiment Study พบว่า คนไทย 56% ชะลอการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยออกไปก่อน และความพึงพอใจของคนไทยต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้คนรู้สึกพึงพอใจและขาดความมั่นใจต่อสภาพตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศ โดยลดลงเหลือเพียง 48%
คุณเองมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพตลาดที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันนี้-20 มิถุนายน 2564 ลุ้นรับเงินรางวัลรวม 40,000 บาท
- รางวัลที่ 1: เงินสด 10,000 บาท 1 รางวัล
- รางวัลที่ 2: เงินสด 7,000 บาท 2 รางวัล
- รางวัลที่ 3: เงินสด 5,000 บาท 2 รางวัล
- รางวัลปลอบใจ: เงินสด 2,000 บาท 3 รางวัล
*สงวนสิทธิ์สำหรับผู้ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจนครบถ้วน จึงจะมีสิทธ์ลุ้นรับของรางวัลกับทางบริษัทฯ และขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงของรางวัลโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า