เมื่อมีการต่อเติมบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮมเรามักจะเจอปัญหาที่ตามมาบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านจนกลายเป็นข่าวดังสนั่นโลกโซเชียลให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ ดังนั้นก่อนที่จะลงมือต่อเติมที่อยู่อาศัยจะต้องคิดคำนวณให้ถี่ถ้วนว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้บ้าง เพราะหากเกิดปัญหาหลังจากการต่อเติมไปแล้ว คงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ บางครั้งอาจมีการถกเถียงจนถึงขั้นฟ้องร้องจนกลายเป็นคดีความ และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายบานปลายได้ ทีนี้กฎหมายอะไรที่ควรทราบ ปัญหาอะไรที่มักพบได้บ่อยครั้ง ทั้งบ้านใหม่และบ้านเก่า วันนี้ DDproperty ขอยก 3 กรณีตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
ต่อเติมบ้านชิดรั้ว มีผลกระทบต่อเพื่อนบ้านรั้วเดียวกัน
กฎหมายได้กำหนดรายละเอียดเรื่องการปลูกสร้างบ้านหรือการต่อเติมไว้ว่า หากเป็นบ้านเดี่ยวตัวบ้านต้องห่างจากเขตที่ดินทุกด้านไม่ต่ำกว่า 2.00 ม. เช่นเดียวกับบ้านแฝด หรืออาคารพาณิชย์ หากเป็นตัวบ้านหรืออาคารที่ไม่ใช่ฝั่งที่ติดกัน อาทิ อาคารตึกแถวแปลงมุม ก็ต้องทิ้งระยะห่างของรั้วกับตัวอาคารที่ 2.00 ม. ขึ้นไปเช่นกัน หรือ ในแง่ของบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป และหากมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ต้องเว้นให้มีที่ว่างโดยรอบตัวบ้านไม่น้อยกว่า 1 เมตร ดั้งนั้นปัญหาที่พบบ่อยๆ จากการไม่ทราบข้อกำหนดกฎหมายก็คือ คนที่อยากเพิ่มพื้นที่บ้าน ก็มักจะสร้างบ้านติดรั้ว ซึ่งความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และยังส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลังคา หรือกันสาดที่พาน้ำไหลไปสู่เพื่อนบ้าน หรือร่องรอยการก่อสร้าง รอยร้าวต่างๆ ที่จะตามมาส่งผลกระทบต่อรั้วบ้านที่ใช้ร่วมกัน ดังนั้นหนึ่งวิธีที่จะสามารถต่อเติมบ้านในรูปแบบนี้ได้ก็คือการขออนุญาตให้เพื่อนข้างบ้านเซ็นยินยอมเท่านั้นถึงจะทำได้ หากไม่ศึกษาให้ดีก็จะเป็นเหมือนกรณีที่พบเห็นในข่าวเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นจนเกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน
ปลูกต้นไม้ใหญ่จนกิ่ง ก้าน ใบ เลยออกไปสู่เนื้อที่ของเพื่อนบ้าน
การที่สิ่งปลูกสร้างในบ้านหรือต้นไม้ยื่นล้ำไปยังพื้นที่ของคนอื่น เท่ากับว่าเป็นการรุกล้ำเขตแดนกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น เจ้าของบ้านที่เป็นเจ้าของต้นไม้นั้นๆ ที่รุกล้ำไป จะต้องหมั่นดูแล ไม่ให้ กิ่ง ก้านของต้นไม้ล่วงเลยไปยังข้างบ้าน มิเช่นนั้นอาจเกิดข้อพิพาทได้ ทั้งนี้หากเจ้าของปล่อยปะละเลย ไม่ดูแล จะถือว่าดอกและผลที่ยื่นออกไปในพื้นที่บ้านของผู้อื่น ทั้งที่ร่วงหล่นลงมาหรือยังไม่ร่วงหล่น จะถือว่าสิ่งๆ นั้นที่รุกล้ำเข้าไป ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบ้านหลังนั้น รวมไปถึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ หากกิ่ง ก้าน ใบนั้นทำให้เกิดปัญหาด้านโครงสร้าง หรือทำลายตัวบ้าน ผู้เสียหายสามารถตัดทิ้งโดยไม่ต้องขออนุญาตหรือเก็บดอกเก็บผลไปใช้ประโยชน์ได้เลย แต่เพื่อความสมานฉันท์หากต้องการตัดทิ้งก็ควรพูดคุยกับเจ้าของต้นไม้ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อนบ้านของคุณเสียก่อน
จอดรถขวางหน้าบ้านจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถเข้าออกบ้านได้
อย่าคิดว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กๆ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาการจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย และสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น อีกทั้งยังมีความผิดทางอาญา เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ถือว่าเจ้าของรถใช้สิทธิและตั้งใจก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจตามมาตรา 397 หมวดลหุโทษ ซึ่งตามข้อกฎหมาย หากมีการแจ้งความเกิดขึ้น และเหมือนว่าเหตุการณ์จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ตำรวจไม่สามารถปฏิเสธการรับแจ้งความได้ ถึงแม้การจอดรถขวางทางเข้า – ออก จะไม่เกิดความเสียหายใดๆ กับตัวบ้าน แต่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจก็ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ทั้งนี้ในแง่ของผู้เสียหายในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ของบ้านและพื้นที่ดังกล่าวทำป้ายสงวนสิทธิ์ไว้ได้โดยไม่มีหลักกฎหมายใดๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน ทางที่ดี หากต้องการนำรถไปจอดหน้าบ้านของผู้อื่น ควรขออนุญาตหรือพูดคุยกับเจ้าของบ้านหลังดังกล่วเสียก่อน แม้ว่าพื้นที่บริเวณนั้นจะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเจ้าของบ้านหลังนั้นก็ตาม
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายทั้งนั้น ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ ไม่ได้มีแค่ในบ้านจัดสรร เท่านั้น แต่ยังควบรวมไปถึงอาคารพาณิชย์ และคอนโดมิเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต่อเติม การใช้สิทธิจอดรถเกินโควต้า จอดรถผิดระเบียบ ดังนั้นการเลือกโครงการบ้านจัดสรรสักแห่ง ก็ควรดูสิ่งแวดล้อม และตัดสินใจให้ดีก่อนซื้อ โดยสามารถดูได้จาก รีวิวโครงการบ้านเดี่ยวใหม่ได้ที่ http://www.ddproperty.com/รวมโครงการใหม่/รีวิวโครงการใหม่/บ้านเดี่ยว/3