ยามที่คุณอายุก้าวเข้าสู่วัย 30 มักพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกาย รวมทั้งเรื่องของการเงินก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากในวัยนี้ หลายคนเริ่มมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ การวางแผนการเงินจึงมีความสำคัญมากขึ้น จะใช้เงินแบบเดือนชนเดือนเหมือนช่วงวัยก่อนหน้านั้นคงจะไม่เหมาะแน่ ๆ ลองมาดูคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีออมเงิน และวางแผนทางการเงินสำหรับหนุ่ม-สาววัย 30 มาฝากกัน
ออมเงินก่อนใช้อย่างน้อย 20% ของรายได้
สำหรับผู้ที่อายุก้าวเข้าสู่เลข 3 การออมเงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเป้าหมายแรกในการออมเงินคือ การออมเงินสำรองไว้ใช้เผื่อฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ ทั้งของตนเองและครอบครัว เนื่องจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว จึงควรออมเงินให้ได้เท่ากับค่าใช้จ่าย 6 เดือน เช่น หากมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเท่ากับ 120,000 บาท
เมื่อออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินจนครบแล้ว ค่อยนำเงินออมส่วนที่เหลือไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อเป้าหมายทางการเงินอื่น ๆ เช่น ดาวน์บ้าน ผ่อนรถ เที่ยวต่างประเทศ หรือวางแผนเก็บเงินใช้ยามเกษียณอายุ เป็นต้น
สำหรับการออมเงินนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มเพียงเดือนละ 20% ของรายได้ โดยหักเงินไว้ออมก่อนใช้ ไม่ใช่เหลือแล้วค่อยออม และควรออมแยกจากบัญชีที่ใช้จ่ายรายเดือน เพื่อกันเงินออมส่วนนี้ออกไปจากเงินใช้จ่ายรายเดือนอย่างชัดเจน โดยสามารถออมเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
วางแผนภาษี
หลาย ๆ คน เมื่อเข้าสู่วัย 30 เริ่มมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งภาระภาษีที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งการวางแผนภาษีเป็นวิธีที่ช่วยให้เราจ่ายภาษีน้อยลง โดยเครื่องมือในการ
ลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจมีดังนี้
กองทุนประเภทนี้มีหลายนโยบายการลงทุนให้เลือก ตั้งแต่พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น หรือทองคำ เป้าหมายของกองทุน RMF คือเป็นแหล่งเงินออมเพื่อใช้ยามเกษียณ ดังนั้น หากซื้อกองทุนประเภทนี้แล้ว ต้องซื้อทุกปีอย่างน้อย 5 ปีเต็ม ต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี จึงจะขายกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข สำหรับคนวัย 30 นับว่าอายุยังน้อย สามารถรับความเสี่ยงได้สูง ขอแนะนำให้ลงทุนในกองทุน RMF ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ
ประกันชีวิตไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ความคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเก็บเงิน อีกทั้ง เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย โดยสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปมาลดหย่อนภาษีได้ปีละไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้ ประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการลดหย่อนภาษี นอกจากจะให้ความคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังช่วยให้มีเงินไว้ใช้จ่ายในช่วงเกษียณอายุอีกด้วย โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ปีละไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ออมเงินเพื่อยามเกษียณ
เมื่อพูดถึงคำว่า “เกษียณอายุ” สำหรับคนอายุ 30 ปี หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะหวังว่าเมื่อตนเองแก่ตัวลง สามีและลูกจะเป็นผู้เลี้ยงดู และกว่าจะเกษียณอายุก็ใช้เวลานานถึง 20-30 ปี จึงคิดว่ายังไม่ต้องรีบเตรียมตัว แต่คำว่า “ออมก่อน รวยกว่า” ใช้ได้ในทุกสถานการณ์
ส่วนเครื่องมือในการออมเงินเพื่อเกษียณมีหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนด้วยตนเองในพันธบัตร หุ้น ทองคำ หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนหุ้น กองทุนผสม รวมทั้งประกันชีวิต โดยควรเลือกลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ หากใครโชคดีมีสามีและลูกคอยดูแลช่วงที่คุณเกษียณอายุ คุณก็สามารถนำเงินก้อนที่เก็บออมได้ ไปใช้ท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมที่ชอบได้อย่างสบายๆ ในช่วงเกษียณอายุ
แม้ว่าเมื่อก้าวเข้าสู่วัย 30 จะพบการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมทั้งด้านการเงิน แต่หากรู้จักวิธีการบริหารอย่างชาญฉลาดและเป็นระบบก็สามารถรับมือกับเรื่องการเงินได้ง่าย ๆ
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะออมหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใด อย่าลืมศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่สนใจ รวมทั้งติดตามว่ากองทุนที่คุณลงทุนมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน และรับผลตอบแทนที่ดีได้
บทความนี้เขียนครั้งแรกโดย K-Expert และเรียบเรียงโดย DDproperty
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ