3 สายการเงิน เพื่อเผชิญ กฎอนิจจัง

DDproperty Editorial Team
3 สายการเงิน เพื่อเผชิญ กฎอนิจจัง
แรงบันดาลใจในการเขียนบทความในครั้งนี้เนื่องจากปีที่แล้วเราอาจไปเข้าวัดทำบุญ หรือเวียนเทียนกัน แต่ในปีนี้ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจะเห็นได้ว่ามีการเวียนเทียนออนไลน์ผ่านเว็บกันมากขึ้น แต่ความสำคัญของวันนี้คือ เพื่อให้เราระลึกคุณพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ทั้ง 3 เหตุการณ์ (เกิด สำเร็จ และดับ) ในวันเดียวกัน
จริง ๆ แล้วหากลองสังเกตดูในพระพุทธศาสนาจะมีความข้องเกี่ยวกับเลข 3 ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นวันพระใหญ่ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 วันนั้นคือแล้ววันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันมาฆบูชา นอกจากนี้ ยังมี พระรัตนตรัย หรือ แก้ว 3 ประการ (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) รวมถึงการศึกษาเพื่อให้พ้นทุกข์ 3 ประการ หรือ ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา) และที่มาของชื่อบทความในครั้งนี้คือ หลักไตรลักษณ์ หรือ ความจริงของสิ่งทั้งปวงมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่
อนิจจัง หมายถึง ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงเสมอ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน เช่น วิกฤต โควิด-19 ที่เกิดขึ้นก็สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เศรษฐกิจโลกถึงขั้นหยุดชะงัก สายการบินต้องหยุดบิน บางบริษัทใหญ่ ๆ ถึงขั้นปิดตัวลงก็มี นี้แหละความเป็นอนิจจัง
ทุกขัง หมายถึง ทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์ เนื่องจากธรรมชาติของคน มีสัญชาตญาณของการยึดครองในสิ่งของหรือแม้กระทั่งตัวเรา ที่คำพระใช้ว่า “ตัวกูของกู” พอเราไปยึดในสื่งใด เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เราเลยเป็นทุกข์เพราะรับการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้
อนัตตา หมายถึง ทุกสิ่งล้วนไม่มีตัวตน หรือไม่ยึดในทุกสิ่ง ถ้าเราสามารถตัดแรงยึดทางสัญชาตญาณการยึดครองนี้ได้ ไม่ยึดใน “ตัวกูของกู” เมื่อนั้นเราจะไม่มีความทุกข์นั้นเอง อยากให้ลองจินตนาการ ถ้าเรามีเพื่อนคนหนึ่งเกิดต้องตกงานด้วยวิกฤตโควิด-19 เราคงแนะนำให้เพื่อนลองหางานใหม่ หรือหาอาชีพเสริมที่พอทำได้
แต่ในสถานการณ์เดียวกัน เกิดเราต้องตกงานเอง กว่าเราจะคิดได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี เราคงทุกข์ทรมาน กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
ดังนั้นแก่นของการดับทุกข์ในพระพุทธศาสนา คือการปล่อยวาง สิ่งที่ควรทำคือ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและเลิกยึดในของทุกสิ่งนั้นเอง ถ้ากรณีเราต้องตกงาน เราควรรีบหางานใหม่หรือหารายได้ทางอื่นที่เราสามารถทำได้ ระวังเรื่องการใช้จ่ายให้รอบคอบมากขึ้น ไม่มัวจมอยู่กับความทุกข์ คิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าทำได้แบบนี้รับรองไม่มีความทุกข์แน่นอน
ในโลกของการเงินและการลงทุน เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดแล้วอย่าไปยึดมั่นถือมั่นในผลลัพธ์นั้น การทำหน้าที่ของผู้ลงทุนให้ดีที่สุดคือ ศึกษาให้ดีก่อนลงทุน เลือกการลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ไม่ว่าผลที่ออกจะดีตามคาด หรือไม่เป็นไปตามคาด ผลจะออกมาเป็นแบบไหน ถ้าตอนที่เราเลือกลงทุนเราศึกษาอย่างดีแล้วก็ทำใจให้สบาย และยอมรับกับผลที่ได้ โดยไม่ต้องมีความทุกข์ วันนี้ ทาง K-Expert มีวิธีการจัดการเรื่องการเงิน เพื่อช่วยให้เราทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเรื่องการเงินให้ดีที่สุดนั้นคือ 3 สายการเงิน เพื่อเผชิญ กฎอนิจจัง ดังนี้

1. สายเงินออมเผื่อฉุกเฉิน

Money Saving
อันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ว่าที่ไหนก็บอกกัน โดยควรมีเงินสำรองเผื่อในกรณีฉุกเฉิน 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ยิ่งในช่วงวิกฤต เงินออมฉุกเฉินนี้ ดูจะมีความสำคัญขึ้นมาทันที ผมเห็นคนหลายคนโพสต์ ข้อความเชิงว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะตั้งใจเก็บเงินมากกว่านี้”
จากกฎอนิจจัง ทำให้ทุกคนตระหนักว่า เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมีความสำคัญแค่ไหน หลายอาชีพ เช่น นักบิน ที่รายได้เดือนละ 6 หลัก อยู่ดี ๆ โดนหยุดบิน หรือ บางสายการบินถึงกับเลิกจ้างก็มี ดังนั้นใครยังไม่มีเงินส่วนนี้ก็รีบเก็บกันนะ แต่จะเก็บอย่างไร ทาง K-Expert แนะนำ 2 ทางเลือกดังนี้
ทางเลือกแรก e-Savings ซึ่งเหมือนบัญชีออมทรัพย์แต่ทำธุรกรรมผ่าน Online เท่านั้น โดยสามารถเปิดบัญชีได้ทันที เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน K+ โดยจะมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยแล้วหรือไม่ก็ได้ โดยดอกเบี้ยสำหรับบัญชีนี้ คือ 1.5 %ต่อปีเลยทีเดียว (ตามเงื่อนไขธนาคาร) จะเก็บทั้งทีก็เก็บในที่ดอกเบี้ยดี ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ
ทางเลือกที่สอง เก็บในรูปแบบกองทุน K-CASH (กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของรัฐในประเทศ) โดยถ้าจะใช้เงิน ขายคืนวันนี้ ได้เงินอีกทีพรุ่งนี้ครับ ถ้าขายคืนวันหยุดทำการ เปรียบเสมือนว่าขายคืนวันถัดไป เช่น ถ้าขายคืนวันเสาร์ อาทิตย์ เปรียบเสมือนว่าขายคืนวันจันทร์ ได้เงินวันอังคาร ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนนี้ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยที่ผ่านมา ชนะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปครับ
ดังนั้นเงินออมเผื่อฉุกเฉิน แสนแรกใส่ e-Savings ส่วนที่เกินแสนจัดเข้า กองทุน K-CASH เลยครับ

2. สายป้องกันไว้ก่อน

โดยมุ่งเน้นไปที่ 2 รูปแบบการป้องกันที่รับมือกับกฎอนิจจังโดยเฉพาะ นั่นคือ ประกันสุขภาพ และ ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองเงินกู้

ประกันสุขภาพ

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันสูงมาก จนบางทีรู้สึกว่าเงินที่หามาทั้งชีวิตนั้น หากเป็นโรคร้ายแรงอะไรขึ้นมาทีเงินที่หามาได้แทบหมดเลยทีเดียว ถ้าบางคนมีสวัสดิการประกันสุขภาพอยู่หรือพอใจกับการรักษาที่ตนมี อาจใช้สวัสดิการที่ตนมีก็ได้ครับ แต่ถ้าคนไหนอยากได้การรักษาที่สะดวกสบายขึ้นมาหน่อย แนะนำเลยว่าควรมีประกันสุขภาพด้วย
Money Saving
และถ้ามีกำลังทรัพย์พอ ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายน่าจะตอบโจทย์ อย่างตัวผมอายุ 39 ปี ทำแผนที่จ่ายตามจริง 20 ล้านบาทต่อปี สำหรับกรณีนอกรักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศไทย ค่าเบี้ยประมาณปีละ 3 หมื่นบาท ป่วยเป็นอะไรทียิ่งกว่าคุ้ม คิดว่ามีไว้อุ่นใจเพื่อรับมือกฎอนิจจัง แต่มีแล้วไม่ต้องใช้ดีกว่าครับ

ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองเงินกู้

เพราะชีวิตก็อนิจจังเช่นกัน เกิดมีอะไรไม่คาดคิด เราเองก็คงไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นหรือคนที่เรารักนะครับ โดยเฉพาะเรื่องที่เราสร้างขึ้นอย่างเช่นหนี้ ผมเลยคิดว่าการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองเงินกู้ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ อย่างน้อยหนี้ที่เราสร้างไว้จะได้ไม่ต้องตกเป็นภาระเดือดร้อนให้ผู้อื่น หรือบางคนที่เป็นผู้นำครอบครัวถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเราแล้วครอบครัวจะเดือดร้อน

3. สายกระจายความเสี่ยง

อีกหนึ่งวิธีจัดการการเงินที่เหมาะกับรับมือกับ กฎอนิจจัง มีคนหลายคนมักถามว่า ลงทุนแบบไหนดีที่สุด ก็คงต้องตอบว่าลงทุนโดยการกระจายความเสี่ยง และเหมาะกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้น่าจะดีที่สุด อย่างสถานการณ์โควิด-19 ตัวอย่างตลาดหุ้นไทย ในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ดัชนี SET ขึ้นไปสูงสุดที่ 1,600.48 จุด (เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563) และลงมา ‘ต่ำสุด’ อยู่ที่ 1,024.46 จุด (เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563)
ลองเทียบเล่น ๆ เป็น % ลดลงมาประมาณ 36% ถ้าเปรียบเป็นเงิน 1 ล้านบาท ก็ลดลงเหลือ 640,000 บาท นี้แหละอนิจจังของแท้ ถ้าเราเก็บเงินหรือลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว วันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมาคงเอาเราอยู่ไม่เป็นสุขกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเรารู้จักกระจายความเสี่ยง เช่น เก็บทองไว้บางส่วน ล่าสุดราคาทองช่วงปลายเดือน เม.ย ที่ผ่านมา ทองแตะบาทละ 26,000 กว่าบาท ก็คงใจชื้นขึ้นมาหน่อย แต่จะกระจายความเสี่ยงด้วยสัดส่วนที่เท่าไหร่ ทาง K-Expert เลยมีพอร์ตการลงทุนมาแนะนำตามระดับความเสี่ยงดังรูปครับ โดย
Info
ทั้ง 3 สายการเงินข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้น บางคนอาจใช้การป้องกันกฎอนิจจังในรูปแบบอื่นก็แล้วแต่สะดวกครับ แต่ผมเองได้ใช้ทั้ง 3 วิธี เมื่อเจอวิกฤตเข้ามาจริง ๆ ผมเองอาจไม่ได้กระทบเรื่องงาน แต่แฟนผมที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เงินออมฉุกเฉินของผมก็เอามาช่วยแฟนได้ ส่วนประกันสุขภาพที่ทำไว้เกิดติดเชื้อโควิด-19 มาจริง ๆ ก็มั่นใจได้เลยว่ามีค่ารักษาแน่นอน และถึงแม้หุ้นที่ลงทุนไว้อาจพังพินาศไปบ้าง แต่ทองแท่งที่เก็บไว้ก็ช่วยให้สบายใจขึ้นมาทีเดียว
กฎอนิจจัง เป็นการเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่เรื่องการเงิน มันเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่อง ดังนั้นการใช้ชีวิตให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา คือการรู้ทันและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง โดยทำหน้าที่ของเราเองให้ดีที่สุดและไม่ยึดมั่นในของทุกสิ่ง (ตัด ตัวกู ของกู) ถ้าเราทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้วไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น ผลจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องไปทุกข์ เพราะถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้วนั่นเอง นี่แหละแก่นพระพุทธศาสนา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ค้นหาคำตอบว่า ซื้อ-ขาย-เช่า บ้านหรือคอนโดฯ ในช่วงนี้ดีไหม? หรือเลือกรับบทความดีดี และอัปเดต ข่าวอสังหาฯ รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง หรือติดตามอีกหนึ่งช่องทางได้ที่ www.facebook.com/DDproperty
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย พิชาญเดช เข็มเพ็ชร AFPTM ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน