3 สิ่งควรรู้ก่อนหาผู้กู้ร่วม

DDproperty Editorial Team
3 สิ่งควรรู้ก่อนหาผู้กู้ร่วม
“ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ และมีภาระหนี้ผ่อนทั้งหมดรวมกันแล้ว ต่อเดือนต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ ” – K-Expert
การกู้ร่วมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติวงเงินกู้บ้าน เพราะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือเป็นการเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้นั่นเอง ผู้ที่จะกู้ร่วมกับเราเป็นใครได้บ้าง และเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร K-Expert มีคำแนะนำมาฝากค่ะ

เป็นเครือญาติกับเรา

คุณสมบัติแรกสำหรับผู้กู้ร่วมที่ธนาคารมักกำหนดเอาไว้ ก็คือ ต้องมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับผู้กู้หลัก เช่น
– คู่สมรส อาจเป็นคู่สมรสจดทะเบียน หรือไม่จดทะเบียนก็ได้ หากเป็นคู่สมรสไม่จดทะเบียน จะต้องมีเอกสารที่แสดงถึงความเป็นคู่สมรสกัน เช่น เอกสารของบุตรอย่างทะเบียนบ้านบุตร หรือสูติบัตรของบุตร
– บิดา/มารดา ซึ่งหลายคนอาจกังวลว่า การกู้ร่วมกับบิดา/มารดาที่มีอายุมากจะทำให้ได้ระยะเวลาในการกู้สั้นลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารพิจารณาระยะเวลาในการกู้จากอายุของผู้กู้ที่น้อยกว่าเป็นหลัก ดังนั้นการกู้ร่วมกับบิดา/มารดาจะไม่ทำให้ระยะเวลาการกู้ลดลง
– พี่น้อง ที่มีบิดา/มารดาเดียวกัน บางครั้งพี่น้องอาจจะใช้คนละนามสกุล เช่น ไปแต่งงานและจดทะเบียนกับคู่สมรสจึงทำให้มีนามสกุลแตกต่างกับตัวเรา เราสามารถใช้ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตร เพื่อให้ธนาคารทราบว่าเราเป็นพี่น้องบิดา/มารดาเดียวกันได้

ภาระหนี้มีไม่มาก

ผู้กู้ร่วมจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ให้กับผู้กู้หลักได้ ก็ต่อเมื่อรายได้รวมของผู้กู้ร่วมและผู้กู้หลักเมื่อหักภาระหนี้ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เหลือเพียงพอสำหรับค่าผ่อนบ้านตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร ซึ่งปกติภาระผ่อนทั้งหมดรวมค่าผ่อนบ้านครั้งนี้ด้วย จะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ โดยธนาคารจะดูภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนจากเครดิตบูโร หากปัจจุบันผู้กู้ร่วมมีภาระหนี้ผ่อนต่อเดือนสูงอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้ช่วยให้ผู้กู้หลักมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และหากจะหาผู้กู้ร่วมมาเพิ่มอีกหลายๆ คน ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ของธนาคารด้วย เพราะส่วนใหญ่ธนาคารมีข้อกำหนดสำหรับจำนวนผู้กู้ร่วม เช่น กู้ร่วมได้ไม่เกิน 2 คน

มั่นใจว่าผ่อนหนี้บ้านไหว

แม้ว่าเราจะกู้ร่วมผ่านแต่หากต้องรับภาระผ่อนเพียงคนเดียวก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเรามีรายได้ประจำเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายเกินความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้บ้านได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามหากในความเป็นจริงเรามีรายได้อื่นๆ ซึ่งเพียงพอต่อการผ่อนบ้าน แต่ธนาคารไม่ได้นำมาใช้ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ เช่น รายได้จากการทำอาชีพเสริมค้าขายที่อาจจะไม่มีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน หากเป็นเช่นนี้รายได้จากอาชีพเสริมอาจช่วยให้เราไม่เกิดปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ ดังนั้นก่อนการกู้ร่วมควรคำนวณรายรับรายจ่ายทั้งหมดที่มี เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินเหลือเพียงพอผ่อนชำระหนี้บ้าน
การกู้ร่วมถึงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เรากู้ซื้อบ้านผ่านได้ก็จริง แต่ก็มีหลายๆ เรื่องที่ต้องคำถึงไม่ว่าจะเป็นภาระผ่อนหากต้องเป็นผู้รับภาระคนเดียว หรือความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้าน ซึ่งผู้กู้ร่วมอาจขอเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม เพราะมีส่วนร่วมในภาระหนี้ก้อนนี้ด้วย แต่หากผู้กู้หลักอยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้นั่นเอง ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้านได้ที่ K-Expert
K-Expert Action
  • สอบถามและเปรียบเทียบรายได้กับภาระผ่อนปัจจุบันของผู้กู้ร่วมก่อนตัดสินใจกู้ร่วมด้วยกัน
  • ตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักประกันระหว่างผู้กู้หลักกับผู้กู้ร่วมก่อนตัดสินใจกู้ร่วม
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง, AFPTTM K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์