4 ช่องทางค้นหาบ้าน-คอนโดมือสอง เพื่อการลงทุน

DDproperty Editorial Team
4 ช่องทางค้นหาบ้าน-คอนโดมือสอง เพื่อการลงทุน
หลายคนที่เริ่มสนใจลงทุนบ้านหรือคอนโดมือสอง และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนและเริ่มต้นอย่างไร วันนี้เราจะมาแนะนำ 4 ช่องทางที่จะค้นหาบ้านหรือคอนโดมือสองสำหรับลงทุนได้

ช่องทางที่ 1 สำรวจเอง ซื้อโดยตรงกับเจ้าของ

ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มือสอง แนะนำว่าอาจจะใช้วิธีซื้อโดยตรงกับเจ้าของที่ต้องการจะขาย ซึ่งอาจจะหาจากการสำรวจด้วยตัวเองในพื้นที่ใกล้บ้านของเรา หรือพื้นที่ที่เราคุ้นเคย หรืออาจจะใช้วิธีหาจากโฆษณาตามสิ่งพิมพ์ โฆษณาในอินเทอร์เน็ตหรือแม้กระทั่งประกาศขายบ้านตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วค่อยลงสำรวจพื้นที่จริง
การที่เราเลือกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยก่อน นอกจากจะสะดวกในการหาแล้ว ความคุ้นเคยในพื้นที่นั้น ๆ ยังทำให้เข้าใจทำเลนั้น ๆ อย่างแท้จริงด้วยว่ามีโอกาสในการขายต่อ หรือปล่อยเช่าได้จริงหรือไม่ อีกทั้งอาจจะมีโอกาสรู้ประวัติบ้านหรือคอนโด นั้น ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยก็ได้
ข้อดีของช่องทางนี้ คือ ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น เพราะไม่ได้ซื้อผ่านตัวแทนนายหน้า สามารถต่อรองราคา ต่อรองค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ได้เต็มที่ด้วย
ข้อด้อยของช่องทางนี้ คือ ต้องดำเนินการเรื่องเอกสารเองทุกอย่าง ซึ่งจะยุ่งยากมากกรณีที่บ้านนั้นๆ ติดปัญหาคาราคาซังหลายเรื่อง เช่น บ้านเป็นมรดกหลายชื่อเจ้าของ บ้านมีคนเช่าเดิมอยู่ไม่ยอมย้ายออก คนขายไม่ใช่เจ้าของบ้านตัวจริง เรียกว่าคนอยากขายไม่ใช่เจ้าของบ้าน คนเป็นเจ้าของบ้านไม่อยากขาย

ช่องทางที่ 2 หาจากบริษัทตัวแทน นายหน้า

ช่องทางนี้อาจจะเป็นอีกขั้นของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์มือสอง เพราะจะเป็นทางเลือกที่กว้างมากขึ้น มีให้เลือกหลากหลายประเภทอสังหาริมทรัพย์ หลากหลายทำเล ซึ่งถ้าเราเริ่มมีประสบการณ์แล้ว อาจจะเลือกช่องทางนี้ เพื่อให้โอกาสในการลงทุนกว้างขึ้นก็ได้
โดยปัจจุบันมีบริษัทตัวแทนนายหน้าจำนวนมากที่เปิดให้บริการซื้อขาย ให้เช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางที่มีความสะดวกมาก เรียกว่าเป็นแหล่งช้อปปิ้งบ้าน-คอนโดมือสองที่ดีมาก ๆ
ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยที่นำมาขายผ่านตัวแทนนายหน้า ส่วนใหญ่จะถูกคัดกรองมาในระดับหนึ่งแล้ว เจ้าของอยากขายเองจริงๆ ปัญหาเรื่องเจ้าของตัวจริง ตัวปลอมมีน้อยมาก อีกทั้งเมื่อเราสนใจในบ้านหรือห้องชุดไหน ก็สามารถให้ตัวแทนนายหน้าเป็นผู้ประสานงานนัดกับเจ้าของอาจจะสะดวกกว่า
หลายคนที่กังวลว่า การซื้อขายผ่านตัวแทนนายหน้าอาจจะทำให้เสียค่าคอมมิชชั่นถูกไปหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ละแห่งก็มีอัตราค่านายหน้าที่แตกต่างกันไป เราสามารถสอบถามก่อนได้ ถ้าพึงพอใจ ก็ตัดสินใจใช้บริการ แต่ถ้ารู้สึกว่าแพงไป ก็หารายอื่น
อย่าปิดโอกาสการลงทุนในทุกช่องทาง เพราะคิดว่า ต้นทุนในช่องทางนั้น ๆ สูงเกินไป ต้องรู้ข้อมูลให้ชัดก่อน ตัดสินใจทีหลัง ก็ยังไม่สาย
ข้อดีของช่องทางนี้ คือ สะดวกในการหาอสังหาริมทรัพย์มือสองในการลงทุน มีให้เลือกหลากหลาย สะดวกในการดำเนินการ ไม่ยุ่งยากเรื่องสัญญาซื้อขาย และการทำธุรกรรมต่าง ๆ
ข้อด้อยของช่องทางนี้ คือ เรื่องส่วนลดต่างๆ อาจจะไม่ได้มาก และมีค่าคอมมิชชั่นที่เพิ่มขึ้นมา

ช่องทางที่ 3 เอ็นพีเอของสถาบันการเงิน

เอ็นพีเอ (NPA : Non-Performing Assets) หรือทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญสำหรับคนลงทุนอสังหาริมทรัพย์มือสอง เพราะนอกจากจะมีอสังหาริมทรัพย์ให้เลือกหลากหลายแล้ว ยังเป็นช่องทางที่ต้นทุนต่ำรองจากช่องทางกรมบังคับคดี เป็นช่องทางที่มีโอกาสจะได้ “ของดี ราคาถูก”
แต่ก็ต้องใช้เวลาในการเฟ้นหา ซึ่งอาจจะเหมาะกับนักลงทุนที่อยู่ในแวดวงนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว อาจจะไม่เหมาะกับคนที่เพิ่งเริ่มลงทุน เนื่องจากทรัพย์สินเอ็นพีเอมีให้เลือกเยอะมาก หลากหลายประเภท หลากหลายทำเล หลากหลายคุณภาพ คนที่เพิ่งเริ่มต้นหาทรัพย์สินมาลงทุนอาจจะยังมองภาพของทรัพย์สินรูปแบบนี้ไม่ขาด และอาจผิดพลาดในการลงทุนได้
ข้อดีของช่องทางนี้ คือ มีโอกาสได้ของดี ราคาถูก มีทางเลือกหลากหลาย และถ้าเป็นเอ็นพีแอลของธนาคาร ส่วนใหญ่จะมีข้อเสนอพิเศษในส่วนของสินเชื่อด้วย
ข้อด้อยของช่องทางนี้ คือ ทรัพย์สินที่มีให้เลือกอาจจะมีจำนวนมากจนเลือกยาก และสภาพอาจจะทรุดโทรมกว่าบ้าน-คอนโดมือสองที่ขายโดยเจ้าของบ้านโดยตรง หรือบ้าน-คอนโดมือสองของบริษัทนายหน้า แต่ต้องระวังกรณีที่เจ้าของบ้าน-ห้องชุดเดิมยังอยู่อาศัย แม้จะเป็นทรัพย์สินที่ถูกแบงก์ยึดแล้ว ก็ต้องเสียเวลาฟ้องขับไล่

ช่องทางที่ 4 ประมูลบ้าน-คอนโดฯ จากกรมบังคับคดี

เป็นช่องทางทำเงินจากอสังหาริมทรัพย์มือสองที่ถือว่าน่าสนใจพอสมควร เพราะเป็นช่องทางที่มีโอกาสได้ต้นทุนดีกว่าทุกช่องทาง มีโอกาสที่จะได้ราคาเริ่มต้นต่ำกว่าราคาตลาดถึง 30-50%
แต่เหมาะกับนักลงทุนที่อยู่ในแวดวงนี้มานาน เนื่องจากมีขั้นตอนในการได้มาที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งคนที่คุ้นเคยวิธีการเลือกทรัพย์สินมือสอง วิธีการประมูล ราคาที่เหมาะสม ราคาที่ควรหยุด ก็จะเลือกช่องทางนี้เป็นอันดับต้น ๆ ในการลงทุน
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มลงทุน และสนใจช่องทางนี้ แนะนำว่าให้มาศึกษาก่อน ลองไปตามงานประมูลของกรมบังคับคดี แล้วเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ในแต่ละขั้นตอน จนถึงจังหวะที่พร้อม ก็ลุยได้เลย
ข้อดีของช่องทางนี้ คือ มีโอกาสได้ทรัพย์ดี ในราคาถูก
ข้อด้อยของช่องทางนี้ คือ การแข่งขันสูง โดยเฉพาะทรัพย์ที่ดี สภาพทรัพย์สินค่อนข้างทรุดโทรม และหากยังมีผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ๆ จะเสียเวลาในการฟ้องขับไล่
จะเห็นได้ว่าช่องทางในการลงทุนจากอสังหาริมทรัพย์มือสองนั้นมีด้วยกันหลายช่องทางพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและมุมมองของแต่ละท่าน ซึ่งทั้ง 4 ช่องทางนั้นก็มีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกันไป โดยสามารถสรุปเป็นรูปแบบตารางได้ตามรูปภาพด้านล่าง แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนก็ควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจตัวเองให้มากที่สุด

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อยของ 4 ช่องทาง ค้นหาบ้าน-คอนโดมือสอง

ซื้อโดยตรงกับเจ้าของ
ไม่เสียค่าคอมมิชชั่น ต่อรองราคาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ได้เต็มที่
ยุ่งยาก หากเจอปัญหา เช่น คนเช่าบ้านเดิมไม่ย้ายออก, บ้านมีเจ้าของหลายชื่อ เพราะต้องเดินเรื่องเอกสารเองทุกขั้นตอน
ซื้อผ่านบริการนายหน้าและตัวแทน
สะดวกในการหาอสังหาฯ มือสองในการลงทุน มีหลายตัวเลือก ไม่ยุ่งยากเรื่องการดำเนินการทำสัญญาซื้อขายและการทำธุรกรรม
ส่วนลดต่าง ๆ อาจได้ไม่มาก และมีค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้นมาในรายจ่าย
ซื้อทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงิน
มีโอกาสได้ของดี ราคาถูก และทางเลือกหลากหลาย ธนาคารส่วนใหญ่จะมีข้อเสนอพิเศษในส่วนขอสินเชื่อด้วย
มีให้เลือกมากก็เลือกยาก เสี่ยงต่อการเจอบ้าน-คอนโด สภาพทรุดโทรมกว่าซื้อโดยตรงหรือผ่านนายหน้า แม้จะเป็นทรัพย์สินที่ถูกแบงก์ยึดแล้วแต่ถ้าเจ้าบ้านเดิมไม่ยอมออก ก็ต้องเสียเวลาฟ้องขับไล่
ประมูลจากกรมบังคับคดี
มีโอกาสได้ของดี ราคาถูก
การแข่งขันสูง เสี่ยงต่อการเจอสภาพทรัพย์สินที่ทรุดโทรม หากยังมีผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ๆ จะเสียเวลาในการฟ้องขับไล่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า