4 เทคนิคขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่าน

DDproperty Editorial Team
4 เทคนิคขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่าน

“การมีหลักฐานทางการเงินที่ตรวจสอบได้ มีรายได้สูงเพียงพอกับเกณฑ์ขั้นต่ำ ทำให้ตัวเองมีเครดิต และมีความสามารถในการชำระหนี้ ถือเป็นวิธีที่จะช่วยให้มีโอกาสขอสินเชื่อผ่านมากขึ้น”

สำหรับใครหลายคน คงไม่คิดว่าการขอสินเชื่อเป็นเรื่องยาก เพราะจะขอที่ไหนก็ได้รับการอนุมัติหมด แต่สำหรับบางคนทำไมถึงรู้สึกว่าการขอสินเชื่อช่างยากลำบากเหลือเกิน ขออย่างไรก็ไม่ผ่าน ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเสียที จนสุดท้ายต้องไปขอหยิบยืมญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แล้วถ้าเป็นของชิ้นใหญ่อย่างบ้าน หรือรถ การหยิบยืม คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ วันนี้ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มีเทคนิคการขอสินเชื่อให้ผ่านมาฝาก

1. มีหลักฐานทางการเงินที่ตรวจสอบได้

สำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนบริษัทจะมีสลิปเงินเดือนออกให้ทุกเดือน จึงไม่ต้องเป็นกังวลสำหรับหลักฐานทางการเงินมากนัก รวมถึงส่วนใหญ่จะมีสมุดบัญชีเงินฝากที่มีเงินเดือนเข้าสม่ำเสมอ ซึ่งสถาบันการเงินมักขอดูหลักฐานทางการเงินย้อนหลังอย่างน้อย 3-6 เดือน ดังนั้น หากในช่วง 3-6 เดือนย้อนหลัง สมุดบัญชีหมดต้องเปลี่ยนเล่มใหม่ แนะนำให้เก็บเล่มเก่าเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางการเงินด้วย
ในส่วนของผู้ที่ไม่มีสลิปเงินเดือน หรือผู้ที่มีรายได้ไม่แน่ไม่นอน เมื่อมีรายได้เข้ามาไม่ว่าจะเป็นเช็กหรือเงินสด แนะนำให้นำเงินที่ได้รับทั้งจำนวนฝากธนาคารก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง เพราะจะช่วยให้ธนาคารรู้ว่าเรามีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ หากนายจ้างสามารถออกหนังสือรับรองการทำงานให้ได้ แนะนำให้นายจ้างระบุระยะเวลาที่จ้างงานตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบัน รวมถึงรายได้ปัจจุบันที่ได้รับด้วย

2. มีรายได้สูงเพียงพอกับเกณฑ์ขั้นต่ำ

รายได้ขั้นต่ำที่กำหนดจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินหรือประเภทสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน กำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ที่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ไว้อย่างน้อย 15,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากรายได้ประจำไม่ถึงเกณฑ์ อาจต้องใช้รายได้เสริม เช่น รายได้จากการทำงานล่วงเวลา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการทำอย่างสม่ำเสมอ หรือรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีเงินได้ในแต่ละเดือนเพียงพอกับเกณฑ์ขั้นต่ำ
13600191 - a bank stuff counting money

3. มีเครดิต

หมายถึง การมีความน่าเชื่อถือ โดยสถาบันการเงินมักเช็กประวัติการใช้บริการสินเชื่อ ประวัติการชำระเงินคืน รวมถึงวินัยในการใช้สินเชื่อกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด รวมถึงความน่าเชื่อถือในด้านการมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีอาชีพ มีบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ และที่สำคัญมีหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐาน (โทรศัพท์บ้าน) เพื่อความสะดวกในการติดต่อ

4. มีความสามารถในการชำระหนี้

สถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ว่ามีความสามารถหรือไม่ โดยพิจารณาจากรายได้ที่ได้รับ ประวัติการชำระเงินที่ผ่านมากับสถาบันการเงินอื่น (ถ้ามี) รวมถึงความสามารถในการผ่อนชำระหนี้อื่นๆ ร่วมด้วย โดยทั่วไปหากมีภาระผ่อนหนี้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด รวมกันสูงกว่า 40% ของรายได้ โอกาสในการขอสินเชื่อก็น้อยลงตามไปด้วย (ยิ่งมีภาระหนี้สูง โอกาสในการขอสินเชื่อผ่านยิ่งน้อยลง) สมมติรายได้เดือนละ 15,000 บาท ไม่ควรมีภาระหนี้สูงเกินกว่า 6,000 บาท (15,000 x 40%) เพื่อให้การใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีประสิทธิภาพ ไม่มีภาระหนี้สูงจนเกินไป
debt
เมื่อขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินผ่านแล้ว ต้องไม่ลืมว่า ค่าผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน ก็คือ รายจ่ายประจำที่เพิ่มเข้ามา ดังนั้น ต้องควบคุมการใช้จ่ายแต่ละเดือนให้ดี เพื่อไม่ให้การเป็นหนี้ หรือการขอสินเชื่อ เข้ามามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่เป็นปัญหาการเงินที่ต้องหาทางแก้ไขในภายหลัง
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน คู่มือซื้อขาย สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้านให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ