กาลเวลาที่ผ่านไป ทำให้บ้านแสนรักของเราสีสันไม่สดใสและดูเก่าโทรมลง หนึ่งในวิธีที่ทำให้บ้านของเรากลับมาสวยงามสดใสเหมือนใหม่ได้ แม้ว่าจะมีอายุ 5-10 ปีไปแล้วก็ตาม นั่นคือการ “ทาสีใหม่” นั่นเอง แต่ไม่ว่าจะลงมือทาสีด้วยตนเอง หรือจ้างช่างทาสี เจ้าของบ้านก็ควรรู้ 5 วิธีทาสีบ้านปูนเก่า เพื่อเตรียมตัวก่อนแปลงโฉมบ้านของเราให้สวยงามและคุ้มค่า
1. วางแผนงบประมาณที่ต้องใช้
ก่อนเริ่มต้นทาสีบ้าน ไม่ว่าจะลงมือทำด้วยตนเอง หรือจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดการ สิ่งที่สำคัญและต้องทำอย่างแรกเลยคือวางแผนงบประมาณที่ต้องใช้ เพราะไหนจะต้องเสียเงินค่าสีทาภายใน สีทาภายนอก สีรองพื้นและสีทาทับ หรือค่าจ้างช่างทาสี รู้ตัวอีกทีงบอาจจะบานปลายไปไกลแล้ว อาจจะกลายเป็นว่าเราเลือกสีได้ไม่คุ้มกับค่าเงินที่จ่ายไป ดังนั้นวางแผนการเงินไว้ก่อนจะช่วยให้การทาสีบ้านของเราคุ้มค่ายิ่งขึ้น
2. เตรียมพื้นผิว
สำหรับเรื่องการเตรียมพื้นผิวนั้น ความเก่า-ใหม่ของผนังปูนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีรายละเอียดและขั้นตอนการเตรียมที่ต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะวิธีทาสีบ้านปูนเก่า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
– ผนังปูนเก่า: ขัดล้างสีเดิมที่เสื่อมสภาพออก บริเวณที่มีเชื้อราหรือตะไคร่น้ำ ให้ขัดล้างด้วยน้ำสะอาด ทิ้งให้แห้ง แล้วทาด้วยน้ำยากำจัดและยับยั้งเชื้อราและตะไคร่น้ำ โดยทาทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นขัดล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด และทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
– ผนังปูนใหม่: ทำความสะอาดพื้นผิวให้สะอาด ล้างคราบสกปรกต่าง ๆ ออกให้หมด แล้วทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 30 วัน
– กรณีผนังมีรอยแตกร้าว: หากเป็นบ้านปูนเก่าที่มีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ควรทำการอุดซ่อมให้เรียบร้อยก่อน แต่ถ้าเป็นรอยแตกลายงาเล็กน้อยสามารถทาสีปิดทับรอยได้เลย
3. ทาสีรองพื้น
เป็นหนึ่งในขั้นตอนการเตรียมผนังก่อนลงสีเพื่อปรับสภาพความเป็นด่างของผนังปูน และยังเป็นตัวช่วยให้ฟิล์มสียึดเกาะติดกับผนังบ้านได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสีรองพื้นมีขายทั่วไป โดยแยกกันระหว่างสีรองพื้นปูนเก่า และสีรองพื้นปูนใหม่
– ผนังปูนเก่า: ทาน้ำยารองพื้นปูนเก่าสูตรน้ำมัน เพื่อเสริมการยึดเกาะ จำนวน 1 เที่ยว ทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ก่อนทาสีทับหน้า
– ผนังปูนใหม่: ทาสีรองพื้นปูนใหม่ จำนวน 1 เที่ยว ทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 30 นาที-2 ชั่วโมง ก่อนทาสีทับหน้า

4. เตรียมอุปกรณ์ทาสี มีอะไรบ้าง
หนึ่งในวิธีทาสีบ้านปูนเก่าด้วยตัวเองที่สำคัญไม่แพ้วิธีอื่นก็คือการเตรียมอุปกรณ์ทาสี สิ่งที่ต้องเตรียมนอกจากสี นั่นก็คือบรรดาอุปกรณ์ทาสีต่าง ๆ เช่น แปรงทาสี เกรียงทาสี และลูกกลิ้งทาสี รวมถึงเทปกาวที่ใช้สำหรับกั้นพื้นที่ที่ไม่อยากให้สีไปเลอะโดน อย่างขอบประตู หรือขอบหน้าต่าง
– ลูกกลิ้งทาสี: อุปกรณ์สำหรับการใช้ทาสีในพื้นที่บริเวณกว้าง ส่วนใหญ่ที่ขายตามท้องตลาดมี 3 ขนาด ได้แก่ ลูกกลิ้ง 4 นิ้ว, 7 นิ้ว และ 10 นิ้ว
– แปรงทาสีบ้าน: เหมาะสำหรับกับการทาสีในพื้นที่จำกัด ในซอกมุมที่ลูกกลิ้งไม่สามารถทาได้ หัวแปรงมีหลายขนาดตั้งแต่ 1-5 นิ้ว และขนแปรงมีหลายแบบ เช่น แปรงขนดอกหญ้า แปรงขนพลาสติก และแปรงขนสัตว์ โดยเราจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับงาน เช่น แปรงทาสี 2.5 นิ้ว จะเป็นขนาดยอดนิยม เป็นต้น
– เกรียง: เป็นเครื่องมือสำหรับเกลี่ยพื้นที่ให้เรียบผิวเรียบ แซะปูนเก่า เกลี่ยรอยโป๊ว ขึ้นลายสี โดยเกรียงมีหลายแบบ เช่น เกรียงสามเหลี่ยม เกรียงเกลี่ยโป๊ว และเกรียงเหล็ก BA-43 ทรงเหลี่ยม ที่เหมาะแก่การนำมาขึ้นลายสีพิเศษ เช่น สี Loft ปูนเปลือย
– เทปกาวกั้นพื้นที่: การเลือกเทปกาวเพื่อใช้ในการทาสีจะต้องดูเรื่องคราบกาวและการทนการซึม กล่าวคือเมื่อลอกออกมาจะต้องไม่ทิ้งคราบกาวไว้ และเมื่อทาสีเนื้อสีจะต้องไม่ซึมเข้าไปข้างใน โดยสามารถหาซื้อตามร้านค้าวัสดุเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านทั่วไปได้
5. ทาสีทับหน้า
เรียกว่าเป็นหัวใจหลักของขั้นตอนทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะคือขั้นตอนสุดท้ายของวิธีทาสีบ้านปูนเก่าของเราให้สวยใหม่ สดใส และบ่งบอกสไตล์ของผู้อาศัย ได้เป็นอย่างดี โดยการเลือกสีทับหน้ามีหลักการพิจารณาใน 5 ส่วน ได้แก่
– เฉดสีที่ต้องการ: ซึ่งจะสะท้อนบุคลิกและตัวตนของผู้อยู่อาศัย สามารถเลือกสีที่ต้องการได้จากแคตตาล็อกสี ตามร้านขายสีชั้นนำทั่วไป ซึ่งจะตรงกับความเป็นจริงมากกว่าการดูผ่านจอคอม หรือจอมือถือ
– สูตรสีน้ำหรือสีน้ำมัน: สีทาบ้านสูตรน้ำจะมีกลิ่นอ่อนกว่า สูตรน้ำมัน หากกังวลเรื่องกลิ่นสีแรง ๆ ควรเลือกสูตรน้ำจะเหมาะกว่า
– เนื้อฟิล์มแบบสีด้านหรือสีกึ่งเงา: ปกติเนื้อฟิล์มสีที่นิยมใช้ในตลาดมีสองแบบ ได้แก่ สีแบบด้านเนื้อเนียนเรียบง่ายไม่สะท้อนแสง และสีแบบกึ่งเงา (Semi-Gloss) ที่จะให้สไตล์โกลว์โชว์ความหรู และเช็ดล้างได้ง่ายกว่าแบบด้าน
– คุณสมบัติพิเศษของสี: สีทาบ้านในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ยังเพิ่มคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เหมาะกับการดูแลบ้านและป้องกันมลภาวะกับผู้อาศัยได้ด้วย เช่น สีที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ช่วยลดค่าไฟ หรือสีที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ ฆ่าเชื้อโรคได้ เป็นต้น
– เกรดของสี: วัดจากอายุความทนทาน ซึ่งจะมีหลายเกรด ความทนทานเริ่มต้นตั้งแต่ 3 – 15 ปี ยิ่งเกรดสูงก็จะยิ่งมีราคาสูงกว่า
นอกเหนือจากวิธีทาสีบ้านปูนเก่าให้สวยเหมือนใหม่แล้ว การดูแลรักษาให้สีสวยคงทนยาวนานก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการใส่ใจในการเลือกสีให้เหมาะกับการใช้งาน หากเป็นสีที่ทาภายนอกควรเลือกสีแบบเกรด A หรือ เกรด B ที่แม้จะมีราคาสูง แต่มีคุณภาพสูงทำให้สีติดทนทานยาวนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว
ส่วนสีทาภายในสามารถเลือกคุณภาพที่ลดลงมาได้ เพราะไม่ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ต้องทนแดดทนฝนมากนัก แต่เน้นที่สามารถเช็ดและทำความสะอาดง่ายเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการทาสีก็เป็นหนึ่งในเทคนิคที่ช่วยให้สีทาบ้านติดทนได้ด้วย ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นผิวของผนังปูนเก่าให้สะอาด ไม่มีฝุ่นละออง ไขมัน และความชื้น หากมีรอบแตกก็ควรซ่อมแซมและปิดให้เรียบสนิท นอกจากนี้ควรทาสีทับประมาณ 2-3 ชั้น เพื่อให้สีเนียนเรียบ สวยงาม แต่ไม่ควรทาเกิน 5 ชั้น เพราะจะทำให้ชั้นสีหนาเกินไป ทำให้สีหลุดลอกง่ายและทนทานน้อยกว่าการทาเพียง 2-3 ชั้นด้วย
วิธีเหล่านี้จะทำให้คนที่เลือกลงมือทาสีบ้านเองรู้ขั้นตอนและวิธีทาสีบ้านปูนเก่าได้อย่างประหยัดและคุ้มค่า ส่วนผู้ที่ตัดสินใจจ้างช่างทาสีโดยเฉพาะก็จะรู้รายละเอียดแต่ละขั้นตอน เพื่อให้สามารถดูแลและควบคุมค่าใช้จ่ายให้ไม่บานปลายได้นั่นเอง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ