5 เรื่องควรรู้เมื่อคิดจะซื้อคอนโดมิเนียม

DDproperty Editorial Team
5 เรื่องควรรู้เมื่อคิดจะซื้อคอนโดมิเนียม

“คอนโดมิเนียมจะน่าอยู่ ถ้าผู้พักอาศัยเข้าใจกฏ ระเบียบ และมารยาทของการอยู่ร่วมกันในสังคม”

คอนโดมิเนียม จัดได้ว่าเป็นที่พักอาศัยลำดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ไม่ว่าจะใช้เพื่อการพักอาศัย หรือใช้เพื่อการลงทุน เช่น ให้เช่า เป็นต้น คอนโดมิเนียมแต่ละแห่งมีผู้พักอาศัยจำนวนมากทั้งอยู่อาศัยในฐานะเจ้าของห้องหรือในฐานะผู้เช่า โดยมี “นิติบุคคลอาคารชุด” ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พรบ.อาคารชุด เป็นผู้ออกกฏระเบียบต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลผู้พักอาศัยทุกคน ดังนั้น ถ้าคิดจะซื้อคอนโดมิเนียม มีอะไรบ้างเป็นสิ่งที่ควรรู้ วันนี้ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มีข้อแนะนำมาฝาก

แต่ก่อนอื่น นิติบุคคลคือใคร? ทำหน้าที่อะไร? และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง?

ทีนี้มาถึงในเรื่องของการพักอาศัยในคอนโดมิเนียม มีสิ่งที่ผู้ที่คิดจะซื้อควรรู้แบ่งออกเป็น 5 เรื่อง แต่ในที่นี้ขอแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ กฏและระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด และมารยาทของการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
ส่วนแรก กฏ ระเบียบของนิติบุคคล ส่วนใหญ่คอนโดมิเนียมแต่และแห่งจะมีกฏ ระเบียบ ไม่ได้แตกต่างกันมาก สิ่งที่ผู้พักอาศัยต้องรู้ ประกอบด้วย

1. ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง

เรื่องนี้ถูกกำหนดในข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ให้เป็นหน้าที่ของผู้พักอาศัยหรือเจ้าของห้องชุด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแล บำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลางให้อยู่ในสภาพพร้อมให้บริการแก่ผู้พักอาศัยทุกราย กรณีเจ้าของห้องชุดหรือผู้พักอาศัยไม่ชำระค่าใช้จ่ายตามที่ถูกเรียเก็บจากนิติบุคคลอาคารชุด อาจทำให้ถูกคิดเงินเพิ่มตามข้อบังคับ (ถ้ามี)
หากค้างชำระเป็นเวลา 6 เดือน อาจถูกงดการให้บริการส่วนกลางต่างๆ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย เป็นต้น แล้วจะส่งผลไป ณ วันที่โอนขาย ณ กรมที่ดิน ถ้าไม่มีหนังสือปลอดหนี้จากนิติบุคคลจะไม่สามารถโอนขายได้จนกว่าจะชำระหนี้ส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว
ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจะเรียกเก็บเป็นรายปี หรือรายหกเดือน เงินจำนวนนี้บางคนมองว่าเป็นภาระที่มากเวลาถูกเรียกเก็บในแต่ละงวด แนะนำว่าควรเปิดบัญชีเงินฝากไว้ แล้วนำเงินฝากเข้าบัญชีเป็นรายเดือน เมื่อถึงกำหนดจ่ายก็ถอนเงินก้อนนี้ออกมา จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมากนัก เพราะได้เตรียมเงินก้อนนี้ไว้แล้ว แถมได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินด้วย
bank-statement-for-passbook

2. การใช้บริการส่วนกลางต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ห้องออกกำลังกาย ห้องอบซาวน่า สระว่ายน้ำ เป็นต้น เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ไม่สามารถรองรับกับผู้พักอาศัยได้ทั้งหมด เรื่องนี้แบ่งได้ 2 กรณี คือ กรณีแรกไม่นำบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการ และกรณีที่สองใช้บริการด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 30 นาทีต่ออุปกรณ์ เพื่อแบ่งปันให้ผู้พักอาศัยรายอื่นได้ใช้บริการด้วย แสดงถึงความมีน้ำใจให้แก่กัน
การใช้พื้นที่จอดรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ได้มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับใช้เป็นที่จอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ประมาณ 20%-30% ของจำนวนห้องพักอาศัย เช่น มีห้องชุด 100 ห้อง มักจะมีพื้นที่จอดรถยนต์ได้เพียง 20-30 คัน ทำให้ไม่สามารถรองรับกับผู้พักอาศัยทั้งหมดได้ แล้วควรปฏิบัติตนอย่างไร เช่น จอดรถยนต์ตรงช่องจอด (ไม่จอดเอียงทำให้เสียพื้นที่), ไม่จอดรถยนต์ขวางทั้งที่ช่องจอดยังว่าง, ไม่จอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ โดยไม่เคลื่อนย้ายรถยนต์, ไม่จอดรถยนต์ขวางรถยนต์คันอื่นแล้วใส่เกียร์หรือใส่เบรคมือไว้, หรือไม่นำรถจักรยานยนต์มาจอดในช่องจอดรถยนต์ จอดตามพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้
การเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แมว หรือสัตว์เลื้อยคลานประเภทอื่นๆ เช่น งู กิ้งก่า เป็นต้น ส่วนเรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามไม่ได้ถูกกล่าวถึง เรื่องการเลี้ยงสัตว์นี้มักมีการเขียนในข้อบังคับนิติบุคคลอย่างชัดเจน สาเหตุหลักที่คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ห้ามเลี้ยงสัตว์ในห้องพักอาศัย มีเหตุผลมาจากเรื่องสุขอนามัย เชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นพาหะนำโรค ความสะอาด ความปลอดภัย มลภาวะทางเสียงและกลิ่น เป็นสิ่งสร้างความกังวลใจให้กับผู้พักอาศัยรายอื่นๆ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เข้าพักอาศัยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแม้ว่าจะเลือกอยู่อาศัยในคอนโดฯ ที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ก็ตาม
ส่วนที่สอง มารยาทของการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากแต่ส่วนใหญ่มักจะถูกมองข้าม เห็นว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หรือเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนเขาก็ทำกัน หากผู้พักอาศัยทุกคนคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพื่อทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นสังคมที่น่าอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้พักอาศัยไม่ควรปฏิบัติมีอะไรบ้าง

3. เสียงดังรบกวนผู้พักอาศัยรายอื่น

ไม่เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเสียงดังเกินไป หรือจัดปาร์ตี้ภายในห้องพักอาศัย เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้มักสร้างความเดือดร้อนหรือรำคาญใจให้กับผู้พักอาศัยรายอื่นๆ ยิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนด้วยแล้ว

4. การสูบบุหรี่ และการทำอาหาร

ทั้งสองเรื่องนี้มีทั้งความเหมือนและความต่าง เหมือนตรงมีกลิ่นเหมือนกัน แต่ต่างตรงบุหรี่ให้ควันพิษ ผู้พักอาศัยไม่ควรใช้พื้นที่ตรงระเบียงในการสูบบุหรี่เป็นอย่างยิ่ง ส่วนกลิ่นจากอาหาร มักจะสร้างความรำคาญ สำหรับเรื่องการทำอาหารคงต้องพิจารณาว่าเป็นอาหารที่ไม่ได้มีกลิ่นฉุนที่รุนแรงรบกวนผู้อื่น พวกที่มีกลิ่นรุนแรง เช่น ผัดกระเพรา หรือผัดพริก เป็นต้น
ในขณะเดียวกันในเรื่องของการทิ้งขยะหน้าห้องพักอาศัย ไม่ควรกวาดเศษผงหรือเศษผมทิ้งออกหน้าประตูห้องพัก บางครั้งเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าทุกห้องทำแบบนี้เช่นเดียวกันก็จะรวมกันเป็นเศษฝุ่นกองใหญ่
การวางรองเท้าไว้หน้าห้องพัก เพราะมีทั้งเรื่องของความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงาม และยังมีเรื่องของกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ หากสูญหายขึ้นมาจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

5. การแต่งกายที่เหมาะสม

ปกติการพักอาศัยในคอนโดมิเนียมไม่ควรเปิดประตูทิ้งไว้ ยิ่งถ้ามีการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมทั้งบุรุษและสตรี เช่น นุ่งผ้าขนหนู เป็นต้น เป็นภาพที่ไม่สวยงามสำหรับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา
ผู้ที่จะซื้อคอนโดมิเนียมต้องศึกษากฏ ระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อจะได้ไม่ทำผิดกฏ ระเบียบที่วางไว้ และลิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องรู้จักมารยาทของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือรำคาญใจให้กับเพื่อนบ้านหรือชุมชน เพื่อจะได้เป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ชุมชนหรือสังคมให้มีความน่าพักอาศัย
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน คู่มือซื้อขาย สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้าน และอย่าลืมอ่านรีวิวโครงการบ้านและคอนโดฯ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย พฤทธิ์ จำรัสพันธุ์ AFPTTM K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com