“เก็บเงินออมเงินให้ได้ทุกเดือน และศึกษาการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินออม”
พูดถึง “การเก็บเงิน” เชื่อว่าหลายคนคงแอบคิดในใจว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สนุกเท่ากับการนำเงินมาใช้จ่าย จึงไม่ค่อยสนใจอยากเก็บสักเท่าไร แต่หากเราทำให้การเก็บเงินมีลูกเล่น กลายเป็นเรื่องสนุกขึ้นมา น่าจะช่วยให้ใครหลายคนหันมาสนใจเก็บเงินกันมากขึ้น เรียกว่าเก็บเพลินๆ เผลอแป๊บเดียวก็มีเงินก้อนได้ K-Expert ธนาคารกสิกรไทยมีเทคนิคเก็บเงินสนุกๆ แบบอยู่หมัดมาฝาก
เก็บเงินทุกวัน(ที่)
วิธีนี้ให้เอาวันที่เป็นตัวตั้ง หมายความว่า วันที่ 1 ให้เก็บเงิน 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท หยอดกระปุกไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 31 เก็บ 31 บาท พอขึ้นเดือนใหม่ ก็เริ่มเก็บ 1 บาทใหม่ตามวันที่นั้นๆ ทำแบบนี้ไปทุกเดือนๆ รวมทั้งปี เราจะมีเงินเก็บทั้งหมด 5,738 บาท หรือถ้าใครจะเก็บเงินวันที่ 1 เป็น 10 บาท วันที่ 31 เป็น 310 บาท ก็ได้ รวมทั้งปีเราจะมีเงินเก็บถึง 57,380 บาท เอาไปซื้อทองได้เลยทันทีถึง 2 บาท
เก็บเงินทุกวันเงินเดือนออก
วิธีนี้ให้เอาวันที่เราได้รับเงินเดือนเป็นตัวตั้ง พอเงินเดือนออกปุ๊บ ก็ให้เก็บก่อนเลย 20% ของเงินเดือน ถือเป็นการเก็บเงินก่อนใช้ สมมติได้เงินเดือน 15,000 บาท ก็เก็บ 3,000 บาท ทำแบบนี้ทุกเดือนๆ ถึงสิ้นปี เราจะมีเงินเก็บ 36,000 บาทเลย
เก็บเศษของเงินเดือน
วิธีนี้ให้เอาเศษของเงินเดือนเป็นตัวตั้ง สำหรับคนที่เงินเดือนมีเศษ เช่น 20,580 บาท ก็ให้เก็บเศษ 580 บาท หากใครมีเศษน้อยหน่อย เช่น 21,100 บาท ก็อาจจะเก็บ 1,100 บาทเลยก็ได้ ลองปรับดูตามความเหมาะสม แล้วเก็บแบบนี้ไปทุกเดือนๆ เศษเงินเดือนที่ว่าเล็กก็สามารถกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ไม่ยาก
ใช้เท่าไร เก็บเท่านั้น
วิธีนี้ให้เอารายจ่ายฟุ่มเฟือยในแต่ละวันเป็นตัวตั้ง เช่น วันนี้ซื้อเสื้อไป 250 บาท ก็ให้เก็บ 250 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ใช้ไป ยิ่งเราใช้เงินฟุ่มเฟือยมาก ก็ยิ่งต้องเก็บมาก ถือเป็นการเก็บเงินหลังใช้ และเป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่ค่อนข้างใช้เงินเก่ง เพราะยิ่งเราใช้เยอะ เราก็ต้องมีวินัยในการเก็บเงินให้เยอะขึ้นด้วยนั่นเอง
เก็บแบงก์ 50
วิธีนี้ให้เรามุ่งความสนใจไปที่แบงก์ 50 เพราะเป็นแบงก์ที่เรามักไม่ค่อยจะได้เจอสักเท่าไรในชีวิตประจำวัน เวลาใช้จ่ายแล้วได้รับเงินทอนมาเป็นแบงก์ 50 เมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นแบงก์เก่าหรือใหม่ก็ตาม ให้เก็บไว้เลยทันที ทำแบบนี้ทุกครั้งที่ได้รับเงินทอน สมมติใน 1 สัปดาห์เก็บแบงก์ 50 ได้เฉลี่ย 2 ใบ โดย 1 ปีมี 52 สัปดาห์ เท่ากับว่าปีนี้เราเก็บแบงก์ 50 ได้ทั้งหมด 104 ใบ ก็จะมีเงินเก็บ 5,200 บาท
ใครสนใจวิธีไหนก็ลองนำไปปรับใช้กันดู เลือกอย่างน้อย 1 วิธี หรือจะใช้หลายๆ วิธีร่วมกันก็ได้ นอกจากนี้ หากใครมีไอเดียในการเก็บเงินแปลกๆ ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม เช่น เก็บเงินตามวันที่เกิด สมมติเกิดวันที่ 5 ก็ให้เก็บเงินทุกวันที่ 5 ของเดือน หรือหากเกิดวันจันทร์ จะเก็บเงินทุกวันจันทร์ก็ได้ หากช่วยให้เราจำง่ายและเก็บเงินได้ก็ลงมือทำเลย เมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ทำจนเกิดเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัย แล้วเราจะรู้สึกว่าการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดอีกต่อไป
ส่วนใครที่มีวินัยในการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว แนะนำให้เก็บเท่าๆ กันทุกเดือน ที่สำคัญคือ เมื่อเก็บเงินได้แล้ว อย่าลืมนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้วย อาจเริ่มจากการลงทุนในกองทุนรวมก่อนก็ได้ โดยเลือกกองทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ และให้ธนาคารหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อนำไปลงทุนทุกเดือน (Saving Plan) เริ่มต้นเพียง 500 บาท เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เงินของเรางอกเงยมากขึ้น
การเก็บเงินจะไม่ใช่เรื่องยากและน่าเบื่ออีกต่อไป แถมยังช่วยให้เราเก็บเงินได้อย่างที่ตั้งใจสักที แนะนำให้ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะการเริ่มก่อนจะช่วยให้เรามีเงินเก็บในจำนวนที่มากกว่า และไม่เหนื่อยกับการเก็บเงินก้อนใหญ่ หรือต้องเร่งเก็บเงินเมื่ออายุมากแล้ว เมื่อถึงตอนนั้นอาจเก็บเงินไม่ทันแล้วก็ได้
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้านคอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ