กว่าจะได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินสักแห่ง เชื่อว่าหลายคนต้องเก็บหอมรอบริบเงินนานนับปีเพื่อสร้างบ้านในฝัน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่อยากมีบ้านหลังแรก แต่ก่อนจะหอบหิ้วเงินจำนวนหลักหมื่นหลักแสนของเราไปให้คนอื่น ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบรอบด้านโดยเฉพาะ 6 สิ่งเหล่านี้ ก่อนเซ็นสัญญาและจ่ายเงิน ถ้าไม่อยากพลาดท่าเสียทีถูกหลอกขายบ้านและที่ดินปลอม ตกเป็นเหยื่อต้องสูญเสียเงินไปแบบฟรีๆ หรือขึ้นโรงขึ้นศาล เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาแถมยังไม่ได้อะไรกลับมา
ตรวจสอบแปลงที่ดิน
อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา คนรู้จัก หรือนายหน้าที่พยายามชักจูงบรรยายสรรพคุณของบ้านและที่ดินผืนงาม แต่ควรตรวจที่ตั้งของที่ดินด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อม ทำเลใกล้หรือไกลถนน สภาพที่ดินก่อนซื้อ และสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น ถนน สโมสร สนามเด็กเล่น สวนหย่อม โรงเรียนอนุบาล ฯลฯ ว่าตรงกับคำโฆษณาหรือไม่
รวมถึงการวัดขนาดของที่ดินและตรวจสอบแปลงที่ดินจริงให้ตรงกับแผนผังโครงการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปลูกสร้างบ้านผิดแปลง หรือปลูกบนที่ดินของบุคคลอื่นหลังจากโอนที่ดินเสร็จสิ้นแล้ว
ตรวจสอบสิ่งนี้ด้วยก็ดี รู้ก่อนโอน! เช็กปลวกก่อนย้ายเข้า เพราะปลวกนั้นไม่ได้เป็นปัญหาปลวกๆ อย่างที่คิด อันตรายร้ายแรงมีผลถึงโครงสร้างของบ้านเลยทีเดียว
ตรวจสอบเจ้าของที่ดิน
หลังจากตรวจสอบแปลงที่ดินจนพอใจแล้ว ผู้ซื้อควรลองสอบถามผู้ขายว่าเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริงหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ติดต่อด้วยเป็นเจ้าของที่ดินจริงหรือเจ้าของที่ดินยินยอมพร้อมใจขาย โดยรายละเอียดที่ควรทราบ เช่น ชื่อ หน้าตา รูปพรรณสัณฐาน อายุ ที่อยู่ และชื่อบิดามารดา เป็นต้น
เนื่องจากเคยเกิดกรณีที่ผู้ขายนำบ้านและที่ดินของผู้อื่นมาขาย แต่เจ้าของตัวจริงกลับไม่รับรู้นิติกรรมสัญญาดังกล่าว ทำให้ผู้ซื้อที่จ่ายเงินครบแล้วไม่ได้รับโอนที่ดินตามสัญญาและต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกลายเป็นคดีความที่เสียทั้งเงินและเวลา
ตรวจสอบกับหน่วยงาน
ผู้ซื้อสามารถขอข้อมูลโฉนดเพื่อตรวจสอบกับสำนักงานที่ดิน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลขนาดของที่ดิน ตำแหน่งถูกต้องตรงกับที่คนขายพาไปดู ชื่อเจ้าของที่ดิน โฉนดไม่ติดอายัดหรือถูกปลอมแปลง โดยควรตรวจสอบหลังโฉนดที่ดินด้วยว่า เจ้าของไม่ติดจำนอง พร้อมทั้งการนำตัวเลขกำกับระวาง น.ส. 3 ก. หรือ โฉนดที่ดินตรวจสอบกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน
หน่วยงาน | รายละเอียดการตรวจสอบ |
กรมป่าไม้ | ตรวจสอบที่ดินไม่อยู่ในเขตสถานที่ของกรมป่าไม้ |
กรมเจ้าท่า | ตรวจสอบในกรณีที่ดินใกล้ทะเล |
สำนักงานปกครองท้องถิ่น | ตรวจสอบการขยายขอบเขตของถนนหน้าแปลงที่ดินในอนาคต |
การทางพิเศษ | ตรวจสอบแนวเวนคืน |
กรมการบินพาณิชย์ | ตรวจสอบที่ดินไม่อยู่ในเขตวิทยุสื่อสารการบิน |
การไฟฟ้า | ตรวจสอบที่ดินไม่อยู่บริเวณที่มีการเดินสายไฟแรงสูง |
กรมทางหลวง | ตรวจสอบที่ดินไม่อยู่ในบริเวณโครงการตัดถนน |
ผังเมืองหรือกรมโยธา | ตรวจสอบการอนุญาตก่อสร้างประเภทบ้านและอาคาร |
ตรวจสอบการขออนุญาตจัดสรรที่ดิน
ไม่เพียงการตรวจสอบแปลงที่ดินและหน่วยงานต่างๆ ผู้ซื้อควรตรวจสอบด้วยว่า ผู้ขายได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่สำนักงานที่ดินจังหวัดท้องที่ หรือสำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ โดยผู้ซื้อสามารถของดูหนังสืออนุญาตให้ทำการจัดสรรและแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนด้วยการสอบถามทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เพื่อป้องกันผู้ขายหลอกลวง
เนื่องจากเคยมีกรณีผู้ซื้อซื้อบ้านและที่ดินจากผู้ขายที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ซื้อไม่ได้รับสิทธิต่างๆ จากโครงการหรือได้รับน้อยกว่ารายที่ขออนุญาตจัดสรรอย่างถูกต้อง
ตรวจสอบสัญญา
ก่อนจรดปากกาเซ็น ผู้ซื้อยังต้องตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะโฉนดที่ดิน แปลงที่ตั้ง และขนาดของที่ดินจริง หากพบกรณีที่ไม่แน่ใจ ผู้ซื้อควรระบุลงในสัญญา เช่น ราคาที่ดินแบบเหมาแปลงหรือต่อตารางวา การแก้ปัญหาที่ดินขาดหรือเกิน เนื่องจากการรังวัดอาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้
ขณะเดียวกันผู้ซื้อควรพิจารณาสัญญาให้ดีว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะผลของสองสัญญามีความแตกต่างกันหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ถ้าเห็นว่าสัญญาที่ทำกันเป็นสัญญาเช่าซื้อก็ไม่ควรจะซื้อที่ดินแปลงนั้น
นอกจากนั้น กรณีการซื้อที่ดินพร้อมบ้าน ผู้ขายควรระบุการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพราะผู้ขายบางรายอาจจะหลบเลี่ยง ค่าธรรมเนียม ภาษีอากรโดยโอนขายให้เฉพาะที่ดินไม่ขายบ้าน ส่งผลให้ผู้ซื้อได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง
ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
แม้จะตกลงปลงใจเซ็นสัญญาซื้อหรือเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว อย่าเพิ่งไว้วางใจว่าจะรอดปลอดภัยจากกลโกง โดยผู้ซื้อควรหมั่นติดต่อสอบถามและตรวจสอบที่ดินกับเจ้าหน้าที่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงตรวจสอบโฉนดหรือหนังสือสำคัญไม่ให้สูญหาย และไม่มอบโฉนดไว้เป็นประกันสัญญากู้เงินหรือหลงเชื่อมอบให้ผู้อื่น เนื่องจากโฉนดอาจจะได้รับการปลอมแปลงสับเปลี่ยนได้
ข้อควรระวัง
1. การทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำเป็นต้องมาจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินจึงจะชอบด้วยกฎหมาย
2. อย่าเซ็นชื่อลงในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่กรอกข้อความเป็นอันขาด และผู้รับมอบอำนาจจะต้องเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า