BTS สยาม : ศูนย์กลางเศรษฐกิจและแหล่งช้อปปิ้งชั้นนำใจกลางเมือง

DDproperty Editorial Team
BTS สยาม : ศูนย์กลางเศรษฐกิจและแหล่งช้อปปิ้งชั้นนำใจกลางเมือง
ย่าน BTS สยาม จัดเป็นโซนของวัยรุ่นและคนทำงานที่มีไลฟ์สไตล์ชิลล์ ๆ ชอบวิถีชีวิตคนเมืองที่หรูหราและสะดวกสบาย เป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีเสน่ห์ของพื้นที่ใจกลางเมือง มีแหล่งจับจ่ายใช้สอยระดับไฮเอนด์หลายแห่ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ล้วนเป็นการให้บริการแบบพรีเมี่ยม ไม่ว่าจะพักผ่อน เจรจราธุรกิจหรือนัดสังสรรค์กับเพื่อนฝูงก็เหมาะเป็นอย่างยิ่ง
Subscription Banner for Article

รู้จักย่าน BTS สยาม ให้มากขึ้น

แต่เดิมย่าน ‘สยาม’ หรือ ‘สยามสแควร์’ นั้น เป็นสวนผัก และชุมชนแออัดมาก่อน จนเมื่อปี พ.ศ. 2505 เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณชุมชนแออัด ก่อนที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอพื้นที่คืนและพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ ตลาด โรงหนัง โบว์ลิ่ง และไอซ์สเกต ในปี พ.ศ. 2507 โดยใช้ชื่อว่า ‘ปทุมวันสแควร์’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สยามสแควร์’
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2516 มีการเปิดห้างสรรพสินค้า ‘สยามเซ็นเตอร์’ ขึ้น ก่อนจะตามมาด้วยศูนย์การค้ามาบุญครอง ในปี พ.ศ. 2528 จุดเปลี่ยนสำคัญของย่านนี้คือการมาถึงของรถไฟฟ้า BTS สยาม ในปี พ.ศ. 2542 ทำให้ย่านนี้กลายเป็นสถานที่นัดพบของเหล่าวัยรุ่น ก่อนจะตอกย้ำความเป็นย่านแห่งการช้อปปิ้งด้วยการเปิด ‘สยามพารากอน’ ในปี พ.ศ. 2548
ข้ามจากฝั่งสยามพารากอนไป บริเวณโรงหนังสยามและพื้นที่โดยรอบเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ เกิดเหตุเพลิงไหม้ จนต้องทุบทิ้ง ก่อนจะกลายมาเป็น สยามสแควร์วัน ในปี พ.ศ. 2557
ปัจจุบันย่าน BTS สยาม กลายเป็นแหล่งนัดพบของวัยรุ่น คนทำงาน และนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมียม

ปรับโฉม ถ.พระราม 1 ย่านสยามสแควร์

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ โดยปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปรับปรุง ถ.พระราม 1 ย่านสยามสแควร์
1. จัดระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง และจัดให้มีพื้นที่สำหรับซ่อมแซมบำรุงระบบสาธารณูปโภคในแนวเดียวกัน โดยกำหนดพื้นที่ติดตั้งให้ชิดอยู่ใกล้ทางเท้า และผสานให้อยู่แนวเดียวกับพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด
2. เมื่อมีแนวพื้นทางเท้าที่ไม่ต้องขุด โครงสร้างพื้นทางเท้าสามารถใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับถนนคนเดินสายหลักให้คงทน และปูกระเบื้องทับให้มีความสวยงาม
3. ขยายทางเท้าให้มีความกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตร ตามมาตรฐานสากล โดยจัดระเบียบป้าย เสาไฟ พื้นที่สีเขียว ให้อยู่ในแนวเดียวกัน ทำฐานป้ายทุกป้าย ฐานเสาทุกอุปกรณ์บนถนนให้เรียบเสมอทางเท้า และปรับขนาดป้อมตำรวจให้มีขนาดเล็กลง
4. ปรับระดับทางเท้าให้สูงจากพื้นถนนไม่เกิน 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ชันเกินไป
5. กำหนดแนวปลูกต้นไม้ให้ชัดเจน เป็นแนวเดียวกับการติดตั้งสาธารณูปโภค เสาไฟ และป้าย นอกจากเพื่อความร่มรื่นแล้ว ยังให้เป็นพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) โดยปรับองศาทางเท้า เพื่อให้น้ำไหลลงพื้นที่ Rain Garden ไม่ท่วมขังบนทางเท้าเมื่อฝนตก
6. ทำทางเท้า สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีแผ่นทางเท้าคนพิการ (Braille Block) และทางลาดเชื่อมต่อทางเดินอย่างปลอดภัย
โดยใช้กลยุทธ์หลัก 8 ข้อ คือ การย้ายสิ่งที่ไม่จำเป็นออก กำหนดระยะทางเท้า/ระยะผ่อนผัน ปรับระดับผิวทาง จัดระเบียบพื้นที่สีเขียว กำหนดจุดติดตั้งสาธารณูปโภค คำนึงถึงความปลอดภัย การเชื่อมต่อ และอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อให้ทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 เป็นต้นแบบทางเท้าที่สมบูรณ์ต่อไป
ปรับปรุง ถ.พระราม 1 ย่านสยามสแควร์
สำหรับโครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่เขตปทุมวัน เริ่มต้น 1 ตุลาคม 2564 สิ้นสุด 29 มีนาคม 2565 ระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน มีความยาว 1,010 เมตร รวมระยะทางไป-กลับ ความยาว 2,020 เมตร เขตทางกว้าง 29-29.50 เมตร ทางเท้ากว้างเฉลี่ย 5 เมตร
ปัจจุบันโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าว มีคืบหน้าร้อยละ 5.36 คาดว่างานทางเท้าบริเวณสยามแสควร์ ซอย 7 ถึงสยามแสควร์ ซอย 3 ระยะทาง 330 เมตร จะแล้วเสร็จก่อนปีใหม่ 2565 ส่วนงานทางเท้าบริเวณสยามแสควร์ ซอย 3 ถึงถนนราชดำริ และงานทางเท้าฝั่งสยามพารากอน ช่วงถนนพญาไทถึงถนนราชดำริ จะแล้วเสร็จช่วงสงกรานต์ 2565
ขอบคุณรูปประกอบจากเพจผู้ว่าฯ อัศวิน, สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

ปิดตำนานกว่า 50 ปี โรงหนังสกาลา

สกาลา ใกล้ BTS สยาม
โรงภาพยนตร์สกาลา ถือเป็นโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ซึ่งโรงภาพยนตร์ในเครือ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย, โรงภาพยนตร์สยาม, โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2511
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ทั้ง 4 แห่งได้ปิดตัวไปทั้งหมดแล้ว โดยโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ถูกทุบทิ้งในปี พ.ศ. 2532, โรงภาพยนตร์สยาม ถูกไฟไหม้จากการชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553 (ก่อนจะกลายเป็นสยามสแควร์วันในปัจจุบัน), โรงภาพยนตร์ลิโด ปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 และโรงภาพยนตร์สกาลา ประกาศปิดตัวลงหลังจากฉายรอบสุดท้ายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563
โดยโรงภาพยนตร์สกาลา เป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนขนาด 1,000 ที่นั่ง ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "สองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated)" ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ผสมผสานระหว่างรูปแบบตะวันตกและตะวันออก โดดเด่นด้วยโคมไฟแชนเดอเลียร์ระย้า 5 ชั้นขนาดใหญ่ที่สั่งตรงจากอิตาลี
ล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการทุบโรงภาพยนต์สกาลาทิ้งแล้ว ถือเป็นการปิดตำนานกว่า 50 ปีของโรงภาพยนตร์สกาลาอย่างถาวร

เซ็นทรัลฯ คว้าที่ดินย่านสกาลา พัฒนาเป็นช้อปปิ้งสตรีท

หลังจากที่สํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เอกชนผู้สนใจเช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ระยะเวลา 30 ปี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ล่าสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ได้ประกาศให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับการพิจารณาคัดเลือก
ภาพ Block A ใกล้ BTS สยาม
ภาพ Block A ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สกาลา via สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ที่ดิน Block A มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ปัจจุบัน คือ โรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 และพื้นที่อาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น จํานวน 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการเป็นคลินิก ร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าแฟชั่น เครื่องสําอาง ธนาคาร โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพญาไทกับ ถนนพระรามที่ 1 ตรงข้ามกับสยามดิสคัฟเวอรี่
โดยเบื้องต้นทางสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งมอบพื้นที่ให้ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ในต้นปี พ.ศ. 2565 โดยจะเป็นการปรับปรุงและรีโนเวทโครงสร้างเก่าให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็ก ๆ คล้ายกับคอมมูนิตี้มอลล์ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีกว่า ๆ และเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2566 เจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน โดยจะเข้าเติมเต็มให้สยามแสควร์เป็นช้อปปิ้งสตรีท
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดการพัฒนาสร้างพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์กในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรมและแนวคิดการออกแบบที่กลมกลืน สอดคล้องกับพื้นที่แนวราบ และอัตลักษณ์ของสยามสแควร์ตามแนวคิดการเป็นช้อปปิ้งสตรีท (Shopping Street) ส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ และพื้นที่โดยรอบ
โตคิว เตรียมโบกมือลาจากย่าน BTS สยาม

โบกมือลาโตคิว ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น

ห้างสรรพสินค้าโตคิว ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (มาบุญครอง) โดยปิดตัวอย่างถาวรในวันที่ 31 มกราคม 2564 ตามห้างสรรพสินค้าอิเซตันจากญี่ปุ่นที่ปิดให้บริการในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563
โตคิว ดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ หรือห้างสรรพสินค้าโตคิว เริ่มดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ.2528 มาพร้อม ๆ กับศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ หรือมาบุญครอง (ชื่อเดิม) ถือเป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่บุกเบิกย่านปทุมวัน
โดยเป็นผู้เช่าพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ มีพื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร (อันดับ 1 คือ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีนีม่า) โดยโตคิว มีพื้นที่รวม 4 ชั้น (ชั้น 1-4) ภายในจำหน่ายสินค้าหลากหลายทั้ง แผนกแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องเขียน และอาหาร ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก
โดยห้างสรรพสินค้าโตคิว สาขาศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์เป็นสาขาเดียวของโตคิวที่เหลืออยู่ในไทย (หลังจากขยายไปเปิดในห้างพาราไดซ์ พาร์ค และปิดตัวไปก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2562)
แม้ว่าห้างสรรพสินค้าโตคิว จะสามารถดำเนินกิจการฝ่าปัญหาต่าง ๆ มาได้อย่างดี ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง แต่ปัจจุบันธุรกิจห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยอยู่ในช่วงการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมาส่งผลให้ลูกค้ามีจำนวนลดลง จนประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ห้างสรรพสินค้าโตคิวต้องปิดตำนานกว่า 35 ปีลง ซึ่งจะทำให้ห้างญี่ปุ่นในไทยเหลือเพียงรายเดียวคือ สยามทาคาชิมายะ (ในศูนย์การค้าไอคอนสยาม) ที่เข้ามาลงทุนในปี พ.ศ.2563
โดยทางศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ได้เตรียมแผนรองรับเพื่อพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าโตคิวไว้เรียบร้อยแล้ว

เก่าไปใหม่มา "ดองกิ" มาแทนที่ "โตคิว"

เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ รีโนเวทครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี จัดโซนนิ่งและพื้นที่ภายในใหม่ หลังจากห้างสรรพสินค้าโตคิวได้ปิดตัวลง แบ่งเป็น
– ชั้นที่ 1 จะจับมือกับไอซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เครือสหพัฒน์ และร้านซูรูฮะ เปิดตัวโมเดลใหม่ ในช่วงกลางปี พ.ศ.2564
– ชั้นที่ 2 จะเป็นการเปิดตัวร้านดองกิ (DON DON DONKI) บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ซึ่งถือเป็นสาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และเน้นบริการสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นหลัก
– ชั้นที่ 3 อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรรายใหญ่ 2 ราย ในการเช่าพื้นที่
– ชั้นที่ 4 เปิดเป็นโซนสินค้าไอที ที่เชื่อมในส่วนของเอ็มบีเค เซ็นเตอร์และโตคิวเดิมไว้ด้วยกัน โดยมีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 3 ของปี พ.ศ. 2564 และเปิดเต็มรูปแบบปลายปี พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ก็มีการปรับรูปแบบเช่นกัน โดยบริเวณชั้นที่ 1 จะเป็นการเปิดพื้นที่ศูนย์อาหาร ยาวตั้งแต่ฝั่งพญาไทไปจนถึงโรงแรมปทุมวัน เอาใจคนกลับบ้านดึกด้วยร้านอาหารที่เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าจนถึงตี 1 และยังมีแบรนด์ชั้นนำอีกมากมาย ส่วนชั้นที่ 4, 5, 6 รีโนเวทเป็น Learning Hub อาณาจักรแห่งการเรียนรู้ใจกลางเมืองรวมทั้งสิ้น 24 สถาบัน โดยจะทยอยเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ปัจจุบันศูนย์การค้าเอ็มบีเค มีผู้มาใช้บริการประมาณ 20,000-30,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลังจากนี้คาดการณ์ว่าหลังจาก ในช่วงไตรมาส 3 ของปี พ.ศ.2564 หลังวัคซีนถูกนำมาใช้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการในศูนย์อีกครั้ง โดยคาดว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติในช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผู้เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าประมาณ 1 แสนคนต่อวัน

สถานที่ตั้งของ BTS สยาม

แผนผังรถไฟฟ้า BTS สยาม
แผนผังรถไฟฟ้า BTS สยาม via: www.bts.co.th
สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม ตั้งอยู่บริเวณถนน พระรามที่ 1 แขวง ปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
– ทางออก 1 สยามเซ็นเตอร์
– ทางออก 2 เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์
– ทางออก 3 สยาม พารากอน
– ทางออก 4 สยามสแควร์วัน
– ทางออก 5 สยาม พารากอน
– ทางออก 6 ธนาคารกรุงเทพ

สถานที่สำคัญใกล้เคียงกับ BTS สยาม

สำหรับสถานที่สำคัญใกล้เคียงกับ BTS สยาม แม้แต่ก่อนจะเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่ไม่ได้เป็นที่สนใจของคนกรุงมากนัก จนกระทั่งการมาของ BTS สยาม ทำให้ย่านนี้กลายเป็นย่านช้อปปิ้งชั้นนำที่ไม่ได้มีเพียงห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆเท่านั้น แต่ยังมีศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และแหล่งจับจ่ายใช้สอยอีกมากมาย
สยามพารากอน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ติดกับ BTS สยาม
1. MBK Center หรือมาบุญครอง ศูนย์การค้าครบวงจรขนาดใหญ่ที่พรั่งพร้อมไปด้วยแหล่งจับจ่าย แหล่งบันเทิง มีร้านค้ากว่า 2,000 ร้าน และสินค้ามากมายให้ได้เลือกซื้อ ห่างจาก BTS สยาม ประมาณ 600 เมตร
2. สยาม พารากอน ศูนย์การค้าระดับโลกแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยจนได้กลายเป็นตำนานและเป็นสถานที่ที่ต้องมาเยี่ยมเยือนสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ อยู่ติด BTS สยาม
4. สยามดิสคัฟเวอรี่ ไฮบริดรีเทลสโตร์แห่งแรกของประเทศไทย รวบรวมสินค้าด้านไลฟ์สไตล์มากถึง 10,000 แบรนด์ โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางแทนการยึดแบรนด์เป็นหลัก อยู่ติด BTS สยาม
5. สยามเซ็นเตอร์ เมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ เป็นสถานที่นำเสนอไอเดียยอดเยี่ยมใหม่ ๆ ที่ทั้งศิลปะ แฟชั่น เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ และความบันเทิง อยู่ติด BTS สยาม
6. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นหอศิลปะร่วมสมัยที่จัดเเสดงงานศิลปะใจกลางเมืองในย่านสยาม ห่างจาก BTS สยาม ประมาณ 400 เมตร

เตรียมพบกับแลนด์มาร์คใหม่ ‘สยามสเคป’

สยามสเคป แลนด์มาร์คใหม่ย่านสยาม
อาคาร สยามสเคป "SIAMSCAPE" เป็นโครงการพัฒนาที่ดินบนพื้นที่สยามสแควร์ ให้เป็นอาคารรูปแบบ Mixed-use ที่ประกอบไปด้วย
กิจกรรมมากมายในสยามสเคป
– พื้นที่เพื่อการเรียนรู้
– อาคารสำนักงานสมัยใหม่
– พื้นที่ร้านค้าที่โดดเด่น
แตกต่างด้วยแนวคิดการจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ Lifelong Learning”
ตัวอย่างรูปแบบอาคารสยามสเคป
นอกจากนั้น โครงการนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นหนึ่งใน Parking Node ของสยามสแควร์ ด้วยอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 700 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาสยามสแควร์ ให้เป็น Walking & Shopping Street อย่างเต็มรูปแบบ
สยามสเคป ตั้งอยู่บริเวณ ถ.พญาไท ซ.จุฬา 7
โครงการตั้งอยู่ริมถนนพญาไท ใกล้ซอยจุฬาฯ 7 ห่างจากรถไฟฟ้า BTS สยาม ประมาณ 350 เมตร โดยอาคารสยามสเคปมีแผนที่จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2563

การเดินทางในย่าน BTS สยาม

การเดินทางย่าน BTS สยาม นอกจากจะเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS แล้ว ยังมีตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลาย ที่ง่าย และสะดวกสบาย ดังนี้

รถเมล์

– รถเมล์สาย 17 ราษฎร์บูรณะ-อนุสาวรีย์ชัย
– รถเมล์สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาด
– รถเมล์สาย 25 ปากน้ำ-ท่าเตียน
– รถเมล์สาย 40 สายใต้-ตลาดลำสาลี
– รถเมล์สาย 48 ราม 2-วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์)
– รถเมล์สาย 501 มีนบุรี-หัวลำโพง
– รถเมล์สาย 508 ปากน้ำ-ท่าราชวรดิษฐ์
– รถเมล์สาย 511 ปากน้ำ-สายใต้ใหม่
– รถเมล์สาย 513 สำโรง-รังสิต

รถไฟฟ้า

รถไฟฟ้า BTS สยาม เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้าจุดหลัก ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางระหว่างสายสุขุมวิทและสายสีลม ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม
BTS สยาม จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท และสายสีลม

ถนนเส้นหลักและทางพิเศษย่าน BTS สยาม

ย่าน BTS สยาม มีถนนสายสำคัญพาดผ่านหลายสาย ดังนี้
1. ถนนเพลินจิต-ถนนพระรามที่ 1 ถนนเส้นนี้จะเชื่อมย่านเพลินจิตเข้ากับฝั่งชิดลมและฝั่งนานา
2. ถนนเพชรบุรี มุ่งหน้าไปยังประตูน้ำ สามารถเชื่อมต่อเส้นสุขุมวิท และสาทร-สีลมได้
3. ทางพิเศษ ในย่าน BTS สยาม มีทางพิเศษเฉลิมหานครตัดผ่าน โดยวิ่งมาจากทางดินแดง ตัดผ่านพื้นที่ย่านบริเวณรถไฟฟ้า BTS สถานีเพลินจิต แล้วเชื่อมต่อไปยังย่านคลองเตย

ย่าน BTS สยาม ย่านเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล

พื้นที่รอบ ๆ สถานี BTS สยาม เริ่มมีความคึกคักมากขึ้นในช่วงประมาณปี 2557 เป็นต้นมา หลังจากที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย สายสีลม สร้างต่อเนื่องยาวไปถึง BTS บางหว้า ทำให้ผู้คนจากฝั่งธนบุรีสามารถเข้ามาเชื่อมต่อกับใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น
เนื่องจากในย่านนี้มีราคาที่ดินสูงอย่างมาก แม้ว่าราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ รอบปี 2559-2564 บริเวณถนนพระรามที่ 1 จะอยู่ที่ 750,000 บาท/ตารางวา แต่ราคาขายที่ดินจริงในย่านนี้สูงกว่าราคาประเมินหลายเท่าตัว
จากราคาที่ดินที่สูงอย่างมากทำให้ราคาขายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ใกล้ BTS สยาม ราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับหาที่ดินมาพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ได้ยาก โครงการส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบบ้านมือสอง
ส่วนคอนโดใกล้ BTS สยาม ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาเป็นโครงการคอนโดหรูระดับลักซ์ชัวรี และซูเปอร์ลักซ์ชัวรี ที่มีราคาค่อนข้างสูง โดยราคาขายคอนโดใกล้ BTS สยาม เริ่มต้นประมาณ 30 ล้านบาท ไปจนถึงกว่า 100 ล้านบาท แต่คอนโคในทำเลใกล้เคียงอย่างราชเทวี พญาไท พบว่า ยังมีระดับราคาไม่แพงมากนัก เริ่มต้นไม่ถึง 10 ล้านบาท

โครงการที่พักอาศัยใหม่ย่าน BTS สยาม ที่น่าสนใจ

สำหรับย่านของ BTS สยาม ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบคอนโดมิเนียม ดังนี้
คูเปอร์ สยาม (Cooper Siam)

คูเปอร์ สยาม (Cooper Siam)

ทำเลที่ตั้ง: ซอยรองเมือง 5 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ห่างจากรถไฟฟ้า BTS สยาม ประมาณ 1.3 กิโลเมตร
ลักษณะโครงการ: คอนโด High-Rise สูง 24 ชั้น 1 อาคาร จำนวน 188 ยูนิต
สิ่งอำนวยความสะดวก: Co-working space ห้องประชุมส่วนตัว ห้องอเนกประสงค์ ศาลาชมวิว สระว่ายน้ำพร้อมจากุชซี่ ห้องออกกำลังกาย ห้องสำหรับเล่นเกมส์ สวนลอยฟ้า รถรับ-ส่ง ไปสถานที่สำคัญต่าง ๆ
ระบบรักษาความปลอดภัย: Access Card Control CCTV รปภ. 24 ชม.
BTS สยาม จัดเป็นทำเลที่มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด มีผู้ประกอบการเอกชนที่เข้ามาจับจองพื้นที่พัฒนาโครงการหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี โดยสังเกตุได้จากราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งทำเลรอบๆ BTS สยาม ไปจนถึงสถานีข้างเคียงก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน