ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ถือเป็นปีที่ตลาดชะลอตัวจากหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ทำให้หลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและไม่ฟื้นตัว ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อบ้านนานขึ้น
สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2564 ระดับราคาอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ในขณะที่อุปทาน (จำนวนที่อยู่อาศัย) ยังคงไม่มีสัญญาณล้นตลาด (Oversupply)
ไฮไลต์
1. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในรอบปี 2564
2. ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565
– แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย (Price Trends)
– แนวโน้มด้านอุปทาน (Supply Trends)
– พฤติกรรมผู้บริโภค
– ภาพรวมเศรษฐกิจ
3. ทำเลน่าจับตา ปี 2565
4. ควรรู้ก่อนซื้อ-ขายในปี 2565
5. บทสรุป
6. ดาวน์โหลดรายงาน
2. ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565
– แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย (Price Trends)
– แนวโน้มด้านอุปทาน (Supply Trends)
– พฤติกรรมผู้บริโภค
– ภาพรวมเศรษฐกิจ
3. ทำเลน่าจับตา ปี 2565
4. ควรรู้ก่อนซื้อ-ขายในปี 2565
5. บทสรุป
6. ดาวน์โหลดรายงาน
อ่านรายงานฉบับออนไลน์ได้ที่นี่:
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในรอบปี 2564
ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ทำให้ผู้บริโภคส่วนหญ่ระมัดระวังในการใช้เงิน และลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ รวมถึงที่อยู่อาศัย
มาตรการภาครัฐที่เอื้อต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์-ค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ให้กู้ซื้อบ้านได้ 100% ยังไม่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์มากนัก
จากการชะลอตัวของภาคอสังหาฯ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม แต่เน้นระบายสต็อกคงค้าง โดยใช้โปรโมชันและแคมเปญต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ซื้อ ทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในภาพรวมยังคงปรับตัวลดลงอย่างมากจากรอบปีก่อน
ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565
แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย (Price Trends)
ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 (Q4 2563) ซึ่งอยู่ที่ 197 จุด ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 190 จุด, 183 จุด และ 178 จุด (Q1 2564, Q2 2564 และ Q3 2564 ตามลำดับ) โดยดัชนีราคาลดลงถึง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
แม้ว่าดัชนีราคาโดยรวมจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หากแยกตามประเภทที่อยู่อาศัยจะพบว่า โครงการแนวราบมีแนวโน้มดัชนีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 13% จากช่วง Q3 2562 (ช่วงก่อนที่จะมีการระบาด) สวนทางกับดัชนีราคาคอนโดที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยลดลง 11% จากปีก่อนหน้า และลดลงถึง 16% จากช่วงก่อนที่จะมีการระบาด
แนวโน้มด้านอุปทาน (Supply Trends)
ดัชนีอุปทานหรือจำนวนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการจะชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ และผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือชะลอการขายออกไป แต่สินค้าคงค้างในตลาดยังเหลืออีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม
โดยตั้งแต่ Q1 2564 เป็นต้นมา ดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 399 จุด มาอยู่ที่ 428 จุด ใน Q2 2564 และ 458 จุด ใน Q3 2564 หรือเพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 25% จากช่วงก่อนที่จะมีการระบาด
สะท้อนให้เห็นถึงอัตราดูดซับในตลาดที่ยังคงมีไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อออกไปก่อน หรือใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ รวมถึงนักลงทุนและผู้ซื้อชาวต่างชาติที่หายไปจากตลาด
หากแยกเป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ทำเลที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี คือ แขวงคลองถนน เขตสายไหม เพิ่มขึ้น 323% บ้านเดี่ยว คือ แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง เพิ่มขึ้น 295% และทาวน์เฮ้าส์ คือ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา เพิ่มขึ้น 162%
หากแบ่งตามระดับราคาที่อยู่อาศัย จะพบว่า ระดับราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี คือ ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 78% รองลงมาคือ ระดับราคา 1-3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% ส่วนระดับราคา 5-10 ล้านบาท และ 10-15 ล้านบาท ลดลง 1%
คนไทยส่วนใหญ่ชะลอการซื้อบ้าน
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย 71% ยังสนใจที่จะซื้อบ้านอยู่ แต่ชะลอการซื้อออกไปก่อน โดย 39% วางแผนจะซื้อบ้านภายใน 1-2 ปี อุปสรรคหลักที่มีผลต่อการซื้อบ้าน โดยส่วนใหญ่ถึง 66% ขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 รองลงมาคือราคาที่อยู่อาศัย (63%) และความไม่แน่นอนทางการเมือง (37%)
โดย 80% ของผู้บริโภค มองว่า รัฐบาลยังไม่ค่อยมีส่วนช่วยที่จะทำให้คนในประเทศสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ โดยมาตรการจากรัฐที่ต้องการมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านทั้งเก่าและใหม่ 57%
ภาพรวมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัว 3.7% จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และตลาดท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว
3 จังหวัดปริมณฑลแนวรถไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้น
ปทุมธานี
ทำเลที่มีราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นในรอบปี อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย คูคต-วงแหวนรอบนอก ได้แก่ ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 50% และตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 19% หากโฟกัสไปที่ประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า บ้านเดี่ยวมีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี (+5%) โดยเฉพาะในตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว (+222%)
นนทบุรี
ทำเลที่มีราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นในรอบปี อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ได้แก่ ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี เพิ่มขึ้น 17% และตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ เพิ่มขึ้น 9% หากโฟกัสไปที่ประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ทาวน์เฮ้าส์มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี (+4%) โดยเฉพาะในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ (+21%)
สมุทรปราการ
ทำเลที่มีราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นในรอบปี อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว สำโรง-เคหะฯ ได้แก่ ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ และตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 12% ซึ่งได้อานิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่จะเปิดในปี 2565 หากโฟกัสไปที่ประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ทาวน์เฮ้าส์มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี (+7%) โดยเฉพาะในตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ (+36%)
ควรรู้ก่อนซื้อ-ขายในปี 2565
บทสรุป
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 คาดว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกในช่วงท้ายปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น และสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องเผชิญ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ภาวะหนี้ครัวเรือน ความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง
THAILAND PROPERTY MARKET OUTLOOK 2565
สำหรับข้อมูลเชิงลึกและการวิเคราะห์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ